Meteverse กลายเป็นหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ในบทความนี้เราจะพยายามตอบคำถามพื้นฐาน เช่น อะไรคือนิยามของ Metaverse? มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร (หรือเกิดขึ้นมาแล้ว)? อะไรคือปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของ Metaverse?


Metaverse คืออะไร

ถ้าได้ดูหนังเรื่อง Ready Player One อาจจะทำให้พอนึกภาพออกว่าหน้าตาของ Metaverse อาจจะออกมาเป็นอย่างไร และทำไมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่างเช่น Facebook หรือบริษัทเกมใหญ่ๆ ถึงได้พยายามที่จะสร้าง Metaverse ในแบบของตัวเองขึ้นมา

ในหนังเรื่องนี้ ตัวเอกของเรื่องพยายามหนีโลกความจริงของตัวเอง เข้าไปอยู่ในโลกของ Virtual Reality (ในหนังเรียกว่า The OASIS) โดยการใส่ VR headset และอุปกรณ์อื่นๆ โดยในโลกเสมือนจริงนี้ผู้ใช้งานสามารถทำกิจกรรมที่หลากหลายได้ เช่นซื้อของ เล่นเกม ดูคอนเสิร์ต และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายเหมือนกับที่เราทำบนโลกจริง หรืออาจจะมีบางกิจกรรมที่เราทำบนโลกจริงยังไม่ได้ (เช่นไปเที่ยวอวกาศ)

รูปที่ 1: หนังเรื่อง Ready Player One ที่กล่าวถึงการเกิดขึ้นของ Metaverse

Source: imdb.com

Metaverse จริงๆแล้ว มันคืออะไร ในความคิดของแต่ละคนคงจะไม่เหมือนกันทั้งหมดซะทีเดียว แต่ในความเห็นของผู้เขียน

Metaverse คือ การทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีในหลายๆ รูปแบบ แต่สุดท้ายแล้วจะต้องสามารถรวมกันเข้าเป็นระบบใหญ่ (นึกภาพถึง internet ที่มีหลายระบบแต่ต้องคุยกันได้) ที่สามารถสื่อสารกันได้ มีฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อกัน (โดย blockchain?) และมีกฎเกณฑ์ที่ทุกๆส่วนของ Metaverse จะต้องปฏิบัติตาม โดยการรวมกันจะทำให้เกิดโลกเสมือน (Virtual World) ที่ผู้ใช้งาน (user) สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) และสามารถปฏิสัมพันธ์กับ ผู้ใช้งานคนอื่น(หรืออาจจะเป็นวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นในโลกเสมือน)

Metaverse จะประกอบด้วยส่วนย่อยๆ หลายส่วน (เช่นอาจจะถูกสร้างจากหลายบริษัทหรือหลายคน) แต่ส่วนประกอบย่อยๆ ต่างๆ เหล่านี้จะต้องสามารถทำงานร่วมกันได้ และรู้ถึงการมีอยู่ซึ่งกันและกัน ภายใต้ “ฐานข้อมูล” ร่วมกันที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานอาจจะเข้าไปใช้งาน Metaverse ของ Facebook เพื่อที่จะพบปะกับเพื่อนฝูง หลังจากนั้นก็ไปเล่นเกมในโลกเสมือนของ Fortnite เสร็จแล้วก็ไปเดินเล่นซื้อของในห้างสรรพสินค้าใน Decentraland และไปซื้อของแต่งบ้านในโลกเสมือนของ Roblox (ชื่อที่ยกมาเป็นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำ content ในโลกเสมือน)

ผู้ใช้งานจะถูกดึงดูดให้เข้าไปใช้งานในโลกเสมือน เพราะว่าสามารถที่จะ “สร้าง” ตัวตน (identity) ของตัวเองที่แตกต่างจากโลกจริงขึ้นมาใหม่ เช่นในโลกความจริงทุกคนอาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่อยากแก้ไข เช่นอยากตัวสูงขึ้น อยากวิ่งเร็ว อยากบินได้ ซึ่งถ้าเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนก็มีโอกาสที่จะเลือกตัวตนในแบบที่ต้องการได้

รูปที่ 2: โลกของ Fortnite

Source: epicgames.com


Metaverse ในมุมมองเชิงเศรษฐกิจและสังคม

ถ้าหากเรามอง Metaverse เป็นประเทศ หรือ รัฐๆหนึ่ง รัฐนี้จะประกอบไปด้วย ประชากร ผู้ปกครอง กฎหมาย ทรัพยากร และการร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐ

รัฐจะต้องพยายามจัดระเบียบของประชากร และทรัพยากรภายใต้การปกครองของตัวเอง (เช่นการทำสำมะโนประชากร การจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท และทำฐานข้อมูลโฉนดที่ดินทั้งประเทศ) เพื่อให้การจัดเก็บภาษีทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำเงินภาษีที่ได้มาไปสร้าง “Public Goods” หรือของใช้ที่เป็นสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ (ยกตัวอย่างเช่นถนนสาธารณะ สวนสาธารณะ หรือกองทัพเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับรัฐเป็นต้น)

การทำบัญชีรายการต่างๆนี้จะต้องทำอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถเก็บภาษีตามมูลค่าได้ด้วย เช่นข้อมูลรายคนจะต้องทราบว่ามีรายได้เท่าไหร่ ที่อยู่ที่ไหน ข้อมูลบริษัทจะต้องมีกำไร ข้อมูลที่ดินจะต้องประเมินมูลค่าได้

การจัดระเบียบแบบนี้ทำให้สังคมของมนุษย์ก้าวหน้าจากการอยู่ในป่า มาสู่การอยู่ร่วมกันเป็นเผ่า และกลายเป็นประเทศและอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด

รัฐสมัยใหม่จึงถูกสร้างขึ้นมาด้วยฐานข้อมูลเกี่ยวกับทุกอย่างที่มีค่าภายใต้การปกครองของรัฐ เพื่อให้รู้ถึงสภาพของทรัพยากร และสามารถจัดเก็บภาษีหารายได้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
 

ระบบจัดการภายในของ Metaverse ต้องการ blockchain โดยเฉพาะ Ethereum

ในเมื่อรัฐมีระบบจัดการภายในเพื่อทำบัญชีรายการ และจัดเก็บภาษี รวมไปถึงสร้าง Public Goods ต่างๆ แล้วใน Metaverse ระบบนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร

ระบบนี้จะต้องสามารถเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมใน Metaverse (ทั้งผู้สร้าง และผู้ใช้งาน) ระบบจะต้องมีความมั่นคงปลอดภัย และมีความสามารถในการทำบัญชี และบริหารจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดภายใน Metaverse (ที่อยู่ การใช้จ่ายเงิน สินทรัพย์ของผู้ใช้งานแต่ละคน รายได้ของระบบ และอื่นๆ) การที่ระบบ blockchain ใดจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ จำเป็นจะต้องมีความกระจายศูนย์ (decentralization) ซึ่งหมายถึงไม่มีคนกลุ่มใดกลุ่มนึงหรือบริษัทเดียว ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของ blockchain นั้นได้ (ซึ่งจะนำมาสู่การที่จะดัดแปลงหรือแก้ไขข้อมูล เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว)

เทคโนโลยีในปัจจุบันที่สามารถรองรับความต้องการเหล่านี้ได้ น่าจะต้องเป็นเทคโนโลยี blockchain และระบบ blockchain ในปัจจุบันที่พร้อมรับธุรกรรมแบบนี้ได้ และได้รับการยอมรับในวงกว้าง มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นระบบของ Ethereum

ในอนาคต อาจจะมีระบบใหม่เข้ามาแทนที่ Ethereum หรือระบบอื่นๆที่ทำงานร่วมกันกับ Ethereum ได้ ซึ่งผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็น Ethereum เท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ แต่จะใช้เพื่อยกตัวอย่างเท่านั้น

Ethereum เป็นระบบที่สามารถจัดระเบียบสิ่งของภายใน Metaverse ได้

ถ้าเราต้องการจะเข้าร่วมภายในระบบของ Metaverse สิ่งที่เราต้องทำคือสร้าง ETH address

ถ้าเราต้องการซื้อวัตถุภายใน Metaverse (ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับ concept ของ NFTs (Non-fungible Tokens) ในปัจจุบัน)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Non-fungible Token (NFT) : https://en.wikipedia.org/wiki/Non-fungible_token

เราสามารถโอนเงินผ่าน contract address เพื่อที่จะชำระเงินและได้รับวัตถุนั้นมาจัดเก็บไว้ภายใน ETH address ของเรา

มูลค่าของวัตถุภายใน Metaverse จะถูกวัดในหน่วย ETH และ เราไม่จำเป็นต้องมีคนประเมินมูลค่า เพราะตลาดจะประเมินมูลค่าได้ด้วยตัวเอง และถ้าเราเปิด ETH wallet ขึ้นมาดูก็จะเห็นวัตถุที่ถูกจัดเก็บอยู่ใน address นี้

รูปที่ 3: ตัวอย่างข้อมูลของ address หนึ่งใน ETH

Source: etherscan.io

ส่วนในแง่การจัดเก็บภาษี ระบบ Ethereum มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม (gas fee) ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณในการใช้ระบบของ Ethereum ในการทำธุรกรรม (ตามขนาดข้อมูลที่ใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของธุรกรรมหรือสัญญา smart contract นั้นๆด้วย) เปรียบเสมือนเราจ่ายภาษีให้กับผู้ดูแลระบบซึ่งก็คือ validator node ของ Ethereum นั่นเอง

Ethereum จึงเปรียบได้กับระบบของรัฐในการบริหารจัดการ Metaverse และ Public Goods ที่ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้โดยเสรี เพื่อทำธุรกรรม ซื้อขายแลกเปลี่ยน สร้าง หรือจัดเก็บทรัพย์สิน ภายใน Metaverse นี่เอง

Tokenization และ Universal Ledger คือกุญแจสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจใน Metaverse

วัตถุทุกชิ้นใน Metaverse จำเป็นจะต้องมีตัวตนในโลกเสมือน ความหมายของการมีตัวตนคือทุกระบบใน Metaverse จะต้องรับรู้ได้ถึงวัตถุชิ้นทุกชิ้น และสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุชิ้นนั้นๆได้ (เช่นซื้อ ขาย สวมใส่ มองเห็น เดินชน เป็นต้น)

การที่วัตถุจะมีตัวตนได้นั้น จะต้อง “กำเนิด” ขึ้นมาก่อน ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า tokenization (ถ้าเป็นวัตถุที่มีเพียงชิ้นเดียวจะเรียกว่า Non-fungible Token (NFT))

หลังจากกำเนิดขึ้นมาแล้ว ข้อมูลของวัตถุชิ้นนี้จะถูกเก็บอยู่ในระบบ blockchain ซึ่งการเป็นการจัดเก็บใน universal ledger หรือฐานข้อมูลที่ทุกระบบสามารถเข้าถึงได้ เพื่อที่จะสามารถทราบถึงสถานะ (state) ของวัตถุชิ้นนี้ได้ (เช่น address ไหนเป็นเจ้าของ มีธุรกรรมอะไรเกิดขึ้นแล้วบ้าง ผ่านการซื้อขายมากี่ครั้ง และมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง)

กระบวนการ tokenization และ การมี universal ledger ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ และเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจใน metaverse

การระบุตัวตนใน Metaverse

ในโลกจริง เราสามารถระบุตัวตน (identity) ของคนๆหนึ่ง ได้ด้วยเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งรัฐให้มาตั้งแต่ตอนที่เกิด และสามารถรู้ถึงลักษณะทางกายภาพได้ เช่นผมสีดำ หน้ารูปไข่ สูง 170  ซม. เป็นต้น

ในโลกของ Metaverse ผู้ใช้งานสามารถเลือก “ตัวตน” ของตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ และไม่จำเป็นต้องมีแค่ 1 บัญชี (บางคนอาจจะมีหลายบัญชีผู้ใช้งานก็ได้) ถ้าไม่อยากใช้งานบัญชีใด ก็แค่ไม่ log in เข้าไปใช้งาน ต่างจากโลกจริงที่เราไม่สามารถ “หยุด” จากการเป็นตัวตนของเราได้ การระบุตัวตนโดยใช้ ETH address จะทำให้ทุกคนสามารถมีบัญชีใน Metaverse ได้

การมีตัวตนในโลกเสมือนนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่สามารถปิดกั้นได้ (ในโลกจริงบางคนอาจจะไม่สามารถเป็นประชากรในบางประเทศได้ โดยถูกจำกัดจากชาติกำเนิด หรือสถานที่เกิด) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ เพื่อสร้างระบบที่เป็นธรรมและเท่าเทียม

Non-fungible Token (NFT) ทำให้เกิดความแตกต่าง (uniqueness) ระหว่างแต่ละ address

เปรียบได้กับการที่บุคคลคนนึงในโลกจริงมีความแตกต่างที่เฉพาะเจาะจง เช่นลายนิ้วมือ รูปร่างหน้าตา สีผม การแต่งกาย

ในโลกของ Metaverse ที่อยู่บน Ethereum มี NFT ที่แต่ละอันมีแค่เพียง 1 ชิ้น เราสามารถเลือกซื้อ NFT มาอยู่ใน address ของเราเพื่อแสดงตัวตนของตัวเองได้ เหมือนกับที่เราเลือกรูป avatar เพื่อเป็น logo ของเราบนบัญชี Facebook หรือ Line โดย NFT นี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นรูปภาพเท่านั้น อาจจะเป็นเพลง  domain name การ์ดของสะสม หรือ แม้แต่ item ในเกม และอนาคตน่าจะมีรูปแบบอื่นๆ ออกมาอีกมากมาย

แต่ละ address จะมีเรื่องราวของตัวเอง ที่ถูกบันทึกไว้อยู่ใน blockchain

รูปที่ 4: Non-fungible Token ที่ถูกวางขายในเวป Opensea

Source: Opensea

การเกิดขึ้นของ Metaverse

การเกิดจะเป็นลักษณะที่แยกกันเป็นส่วนๆก่อน เช่น Fortnite สร้างโลกเสมือนของตัวเองขึ้นมา หรือเกม Axie Infinity ที่สร้างโลกของตัวเองขึ้นมา Social media เช่น Facebook หรือ Snap อาจจะสร้างโลกของตัวเองขึ้น แต่สุดท้ายแล้วโลกเหล่านี้จะถูกเชื่อมเข้าด้วยกันด้วย blockchain เพื่อที่จะสามารถส่งผ่านวัตถุ หรือมูลค่า (value) จากโลกหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่งได้

เดิมทีเวลาเราเล่นเกม (เช่น Warcraft เป็นต้น) เราสามารถสะสมทรัพยากรในเกมได้ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเราเลิกเล่น เราไม่สามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นความมั่งคั่งในโลกจริงได้ หรือย้ายความมั่งคั่งนั้นไปสู่เกมอื่น หรือโลกเสมือนอื่นๆ

การเกิดขึ้นของ blockchain เช่น Ethereum และเกม play-to-earn เช่น Axie Infinity ทำให้เราสามารถที่จะเล่นเกม แล้วได้รับรางวัลจากการเล่น และสามารถนำมาขายเพื่อได้รับเงินจริงๆ หรือขายเป็น ETH แล้ว โอนย้ายไปที่โลกเสมือนอื่นๆได้

การที่สามารถโอนย้ายมูลค่าได้อย่างเสรี และระบบต่างๆสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นสิ่งสำคัญในการก่อกำเนิด Metaverse

สุดท้ายแล้ว โลกเสมือนที่หลากหลายนี้จะถูกเชื่อมต่อกัน โดยมี protocol ร่วมกัน (เช่นเดียวกับที่ internet เชื่อมโลกการสื่อสารข้อมูลเข้าด้วยกัน)

รูปที่ 5: เกม Axie Infinity ซึ่งเป็นเกม play-to-earn ที่ได้รับความนิยมมาก มีผู้เล่นหลายล้านคน โดยผู้เล่นสามารถนำสิ่งที่ได้จากการเล่น มาขายเป็นเงินจริงๆ

ทำไม Ethereum blockchain ถึงมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้เกิด Metaverse ได้
 

การจะเป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ Metaverse ได้นั้นจำเป็นจะต้องมี 3 สิ่งนี้

1. ระบบฐานข้อมูลร่วมกันของวัตถุทุกชิ้น

2. application ต่างๆที่ช่วยในการทำธุรกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนมูลค่ากัน เช่น NFT, ERC20 Token, DeFi และ อื่นๆ

3. Decentralization หรือการกระจายศูนย์ เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ถึงความถูกต้องและยุติธรรม โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของ  (ลองนึกภาพว่าถ้า Facebook เป็นเจ้าของ blockchain แล้ว Microsoft หรือ Google หรือ Amazon คงไม่อยากมาสร้าง platform บนนี้แน่ๆ)

ทั้งหมดนี้ Ethereum เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดในปัจจุบัน แต่ในอนาคต เราอาจจะมี blockchain อื่นที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่ามาทดแทน Ethereum ก็เป็นได้ หรือ Ethereum อาจจะทำงานร่วมกันกับ blockchain ใหม่ๆ และสร้าง network of blockchains เพื่อมาเป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ Metaverse ก็เป็นได้เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าติดตามในการเกิดขึ้นของ Metaverse ในอนาคตอันใกล้นี้