นับตั้งแต่การเกิดไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการดูแลความสะอาด และรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันจากเชื้อไวรัส แน่นอนว่าหลังจากนี้ทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับงานออกแบบอาคารใหม่ ๆ ที่จะต้องตอบโจทย์ในยุค New Normal

            TerraBKK ได้พูดคุยกับ ดร. จักรกฤษณ์ เหลืองเจริญรัตน์ Studio Director บริษัท เก็นสเล่อร์ (ประเทศไทย) จำกัด -  Gensler (Thailand) Limited บริษัทออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมตกแต่งภายใน และผังเมือง ถูกจัดให้เป็น อันดับ 1 ของโลกด้านการออกแบบ โดย Architectureal Record ในปี 2020 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซานฟรานซิสโก และมีสำนักงาน 50 แห่งทั่วโลก เปิดมาแล้ว 60 กว่าปี เป็นผู้ออกแบบโรงพยาบาล, โรงเรียน, อาคารสำนักงาน, ห้องสมุด และอื่น ๆ มากมาย ในปี 2020 ที่ผ่านมา เก็นสเล่อร์ ได้ทำงานออกแบบตกแต่งภายในและสถาปัตยกรรมทั่วโลกแล้วกว่า 2,000 ล้านตารางเมตร 

เกี่ยวกับ Gensler
พัฒนาเครื่องมือสำหรับวางแผนและออกแบบสิ่งปลูกสร้างสำหรับโลกที่หลากหลาย

ในช่วงวิกฤตโควิด19 ของปีที่แล้วส่งผลกระทบให้หลายๆ อย่างต้องหยุดลงกลางคัน บริษัทออกแบบหลายแห่งได้ใช้โอกาสนั้นในการปรับปรุงพัฒนาเครื่องมือของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัท Gensler คือหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุด ที่ใช้เวลาในปีที่แล้วพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือของบริษัท ซึ่งช่วยให้นักออกแบบ สามารถใช้ data ขับเคลื่อนการออกแบบ ย่าน อาคาร และ การตกแต่งภายใน ได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยให้สามารถมองเห็นภาพของโครงการที่สมบูรณ์แล้วในระดับ Human scale ทำให่สามารถทำการออกแบบให้เข้าถึงความหลากหลายของกลุ่มคนได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น อ้างอิงจาก www.fastcompany.com

 

 

การออกแบบที่อยู่อาศัยในอนาคตในมุมมอง “Gensler”

            เมื่อก่อนนี้การออกแบบที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดมิเนียม เมื่อก่อนจะเป็นฟังก์ชั่นคอนโดฯล้วน ๆ ไม่มีอะไร แต่พอเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นมา เริ่มมีปัญหา คนอยู่ในตึกจะหาซื้อของกินที่ไหน ไปทำงานไม่ได้จะทำอย่างไร?  โจทย์สำคัญที่เกิดขึ้น ทำให้เรามองว่าโลกอนาคตหลัง โควิด -19 การพัฒนาที่อยู่อาศัย ต้องเป็นแบบผสมผสานกัน โดย 95% อาจจะเป็นที่อยู่อาศัย อีก 5%ก็เป็นเรื่องอื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร, ร้านสะดวกซื้อ, พื้นที่สำนักงาน

            ซึ่งในสมัยหนึ่งเราเคยพูดถึง leave work play เป็นอีกหนึ่งคอนเซปต์ที่ต้องเกิดขึ้น ผมมองว่า Mix User เป็นเทรนที่ต้องเกิดขึ้น จะไม่ใช่ Single User เหมือนที่ผ่านมา  นอกจากนี้ เรายังมองเห็นว่าในช่วงเกิดโรคระบาด และต้องมีการล็อคดาวน์  บ้านหรือที่อยู่อาศัยในอนาคตจะต้องเอื้ออำนวยให้คนต้องทำงานได้  อ้างอิงเมื่อประมาณปี 2008 บริษัทเรารับทำการสำรวจ Work Place Survey 2008 สำหรับคนที่อยู่ในอเมริกา และสหราชอาณาจักร

            ผลจากการสำรวจ พบว่า ถ้าจะทำให้คนที่ทำงานในสำนักงานมีประสิทธิภาพ จะต้องขึ้นอยู่กับ 4 ประเด็น คือ Focus ตอบโจทย์เรื่องของทำให้พื้นที่ตรงนั้น สามารถโฟกัสการทำงานได้ปกติ และเป็นพื้นที่ให้คน, Collaborate คือคุยกันต่อประสานงานกันได้ และต้องเป็นพื้นที่สำหรับ Learn สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สุดท้ายก็คือ Socialize ทั้งหมดนี้ คือ 4 องค์ประกอบ จากการสำรวจเมื่อปีนั้น จึงเห็นว่าอาคารสำนักงานที่ดี จะต้องประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ

            ถ้าเกิดเราจะเปลี่ยนโหมดจาก work in office เป็น Work Form Home พื้นที่ของบ้านก็จะต้องตอบโจทย์ทั้ง 4 องค์ประกอบได้เช่นกัน ว่าผู้ทำงานจะสามารถโฟกัสได้ จะต้องเรียนรู้กันได้ แล้วก็ต้องคุยสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่จะต้องเตรียมการ ซึ่งข้อมูลนี้มาจากความคิดเห็นของคนใน 2 ประเทศใหญ่ คือ อเมริกา และสหราชอาณาจักร

 

 

 ออกแบบพื้นที่ในบ้านให้ยืดหยุ่น รองรับการอยู่อาศัย+ทำงาน 

            ความยืดหยุ่น (flexible) เป็นปัจจัยที่ 2 ที่เราต้องคิดในการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยในยุคนี้  เพราะพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัย ต้องยืดหยุ่นจากเดิมจากที่ผู้คนทำงานในสำนักงาน แล้วใช้บ้านเป็นที่พักอาศัย ต่อจากนี้จะต้องเปลี่ยนไป เพราะพื้นที่เหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ ทุกคนจะต้องขยับขยาย ซื้อโต๊ะทำงาน ต้องมีพื้นที่รองรับการทำงานได้ เราจึงมองว่า พื้นที่ที่พักอาศัยในอนาคตจะต้องยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้

            ซึ่งโครงการแบบนี้ในสิงคโปร์เริ่มจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอาคารที่พักอาศัย ที่เริ่มมีพื้นที่ให้ผู้เช่าซื้อเข้าไปเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยในบ้าน – ในห้อง ได้ตามความต้องการ ซึ่งในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ที่พักอาศัยจะเช่าตรงกับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เห็นว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงไป

            ขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ บ้านเรา ก็คงต้องคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าคิดได้ก็เป็นประโยชน์เพราะมีจุดขาย ซึ่งก็ต้องนำกลับมาคิดว่าจะต้องทำอย่างไรให้ทำสินค้าออกมาตอบโจทย์ ทั้ง 4 องค์ประกอบซึ่งพื้นที่เหล่านี้ก็ต้องมากกว่าที่จะเป็นแค่มุมเล็ก ๆ สำหรับทำงาน โดยจะทำอย่างไร ให้งานออกแบบไว้เพื่อตอบโจทย์การทำงานจากบ้าน ไม่ใช่ใช้พื้นที่ซอกเล็ก ๆ ที่เหลือ ๆ มาทำเป็นพื้นที่ทำงาน  ซึ่งมันไม่ใช่ จำเป็นต้องคิดมากกว่านั้นในฐานะผู้พัฒนาโครงการ

            สังเกตหรือไม่ ว่าที่พักอาศัยในอดีต ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลาง สวนก็ทำเท่าที่กฎหมายกำหนด แต่โครงการในอนาคตเรื่องของสวนสำคัญมาก เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น เพราะถ้าผมต้องอยู่ในห้องเล็ก ๆ ทั้งวันทั้งคืนนี้ ก็น่ากังวลว่าจะมีปัญหาด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต  ต่อไปถ้าโครงการที่จะตอบโจทย์อนาคต จะต้องมีส่วนที่ส่วนกลางให้คนสามารถไปผ่อนคลาย เพราะเมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น ทำงานจากบ้านมากขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกมันต้องตามมาเรื่องอินเตอร์เน็ตต้องรองรับ 5g ผมว่าอนาคตเราก็ต้องคิดตรงนั้นแหละว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องคิดให้ไกลกว่านั้น ว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นคืออะไรและแก้ปัญหา

"ผมรู้ว่าเขารู้ว่า แต่อนาคตจะต้องปรับเปลี่ยน แล้วก็จะทำให้ตัวเองได้เปรียบหากเร่งเมื่อตลาดมันมา ก็พร้อมที่จะเปิดตัวได้ทันที ตอนนี้อาจจะไม่ใช่เวลาที่จะขึ้นโครงการใหม่แต่เราสามารถเตรียมไว้ได้"

เทรนด์การใช้วัสดุนวัตกรรมใหม่ ๆ  ในยุค New Normal

            สำหรับวัสดุนวัตกรรม ที่ปลอดเชื้อหรือวัสดุตกแต่ง เป็นสิ่งที่มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยก่อนที่จะมีโควิด 19 ทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน หรือ sustainability ซึ่งประกอบด้วย 3P คือ People, Planet และ Profit ซึ่งในอดีตคนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจ เราสนใจแต่ Profit ทำให้เกิดการขายอย่างเดียวเพื่อสร้างกำไรพร้อมกับการทำลายโลก ปัจจุบันนี้เรามาสนใจคำว่า People Planet มากขึ้น  ปัจจุบันนี้ตอนนี้คนให้ความใส่ใจกับ Planet เป็นอันดับ 1 เรื่องของโลกร้อน ทำให้คนหันมาใส่ใจกับ วัสดุทางเลือกมากขึ้นหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

           ผู้พัฒนาโครงการคงทราบดีว่า เงินที่ลงทุนไป ผมว่ามากกว่า 50% ก็คือเรื่องวัสดุถ้าเราสามารถคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือการใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่คายสารพิษเอามาใช้เนี่ยผมว่าก็ตอบโจทย์เหมือนกัน

ไอเดียการออกแบบ “สวนส่วนกลาง ให้เหมือน สวนส่วนตัว

            สำหรับงานออกแบบสวนส่วนกลาง หรือสวนส่วนตัว มองว่าถ้าจะให้ไอเดียออกแบบ ก็คงจะมองว่า  ก็คงต้องดีไซน์ทุกอย่างให้เป็นทางเดียว (One Way) เพื่อลดการวิ่งสวนไป-มา ซึ่งสามารถดีไซน์จัดวางต้นไม้ พรรณไม้ ให้ปกป้องผู้ที่ออกกำลังกาย เช่น การใช้พุ่มไม้สูง –เตี้ย บังระหว่างทางวิ่ง ซึ่งก็จะช่วยได้ ทั้งนี้ก็ต้องใช้งานออกแบบผสมผสานบนพื้นที่ให้เหมาะสม ใช้พันธุ์ไม้ให้เข้ามาช่วยทำให้พื้นที่ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งที่เป็นพื้นที่โล่งครับ

 Gensler พัฒนาเครื่องมือ G Blox สำหรับวางแผนและออกแบบสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งช่วยให้นักออกแบบ สามารถใช้ data ขับเคลื่อนการออกแบบ ย่าน อาคาร และ การตกแต่งภายใน ได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยให้สามารถมองเห็นภาพของโครงการที่สมบูรณ์แล้วในระดับ Human scale ทำให้สามารถทำการออกแบบให้เข้าถึงความหลากหลายของกลุ่มคนได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น ข้อมูลจาก archinect.com