ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)

วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเดินทางไปภาคอีสานเพื่อร่วมออกแบบแปลงเกษตรกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งทำให้ได้เห็นความตั้งใจของคนไทยในหลายๆกลุ่มที่พยายามสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารใบแบบฉบับของคนไทย สำหรับประเทศไทยต้องถือว่าเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่พร้อมจะเป็นต้นแบบให้กับต่างชาติในเรื่องนี้อีกหลายๆด้าน โดยมีโครงการหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากคือโครงการพัฒนาระบบปลูกผักผลไม้และข้าวอินทรีย์เพื่อเป็นอาหารกลางวันกับเด็กนักเรียนในพื้นที่อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ นำทีมโดย ทพญ.จินดา พรหมทา ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของโครงการคุณหมอจินดาทำการรณรงค์เกี่ยวกับการลดการกินลูกอมและของหวานในเด็กนักเรียนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องฟันผุในเด็กนักเรียน และเมื่อทำโครงการในเชิงลึกมากยิ่งขึ้นก็พบว่าโครงการที่ทำยังไม่ครอบคลุมประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงได้ขยายโครงการเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหารที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย โดยให้ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนมาร่วมเป็นผู้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานของตนเอง โดยที่เรื่องนี้ให้ประโยชน์และเป็นต้นแบบได้ในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น ซึ่งถ้าขยายโครงการแบบนี้ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดหรือทั้งประเทศ ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบของการทำเกษตรกรรมอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมจากระดับรากหญ้าได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าทำได้ตามนี้เด็กไทยในอนาคตก็จะมีอาหารที่สะอาด ปลอดภัยและถูกสุขอนามัยรับประทานตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนตามระบบอย่างแน่นอน เริ่มต้นง่ายๆเพียงแค่สร้างความมั่นคงทางอาหารจากระดับรากหญ้าที่แท้จริงเท่านั้นเอง

ความมั่นคงทางอาหารคืออะไร

ความมั่นคงทางอาหารหมายถึงสถานะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่สะอาดและปลอดภัยอย่างเพียงพอ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยที่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดเกณฑ์กลางการประเมินของความมั่นคงทางอาหารเพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการกำหนดนโยบายในแต่ละภูมิภาคไว้ดังนี้คือ

  1. ความพอเพียงของอาหารหมายถึงการมีอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม ทั้งจากการผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
  2. การเข้าถึงอาหารหมายถึงการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่นำมาซึ่งอาหารได้ด้วยเช่นป่าชุมชนเป็นต้น
  3. การใช้ประโยชน์จากอาหารหมายถึงการใช้ประโยชน์จากอาหารในการบริโภคอย่างถูกต้อง รวมถึงการใช้องค์ความรู้ต่างๆเพื่อให้เกิดประโยชน์จากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารทั้งหมด เช่นมีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นต้น
  4. ความมีเสถียรภาพด้านอาหารหมายถึง ประชาชนหรือครัวเรือนหรือบุคคลต้องเข้าถึงอาหารอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงอาหารเมื่อเกิดความขาดแคลนขึ้นมาอย่างกระทันหัน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์จากโควิด-19 แล้วยังสามารถมีอาหารได้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลนเป็นต้น

โดยเมื่อมีการนำเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ปรากฏว่าประเทศที่ไม่มีความมั่นคงทางอาหารกลับกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารเป็นส่วนใหญ่ สำหรับประเทศไทยแล้วเราอยู่ในลำดับที่ 52 จากการจัดลำดับทั้งหมด 113 ประเทศ จากผลการประเมินความมั่นคงทางอาหารในปี 2019โดยหัวข้อที่ประเทศไทยเราต่ำกว่าเกณฑ์มีหัวข้อที่น่าสนใจเพื่อนำมาเป็นแนวทางแก้ไขปรับปรุงดังนี้คือ

  1. ค่าใช้จ่ายภาครัฐในการทำวิจัยด้านเกษตรกรรม ได้คะแนน 5.9/100
  2. ผลิตผลมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อรายบุคคล ได้คะแนน 14.6/100
  3. คอรัปชั่นหรือการโกงกินภายในประเทศ ได้คะแนน 25/100
  4. คุณภาพโปรตีนของอาหาร ได้คะแนน 26.6/100
  5. คุณค่าทางโภชนาการของธาตุอาหารรอง ได้คะแนน 38/100

จากทั้ง 5 หัวข้อจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเรายังให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรอย่างไม่เพียงพอ ส่วนเรื่อง GDPกับคอรัปชั่นอาจจะต้องใช้เวลาแก้ไขเชิงระบบอีกนาน แต่ในเรื่องของคุณภาพของอาหารเรื่องนี้เราสามารถทำได้เลยดังเช่นโครงการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนที่กล่าวถึงไว้ก่อนหน้านี้เป็นต้น

นอกจากการประเมินความมั่นคงของอาหารในภาพกว้างๆแล้ว ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบเชิงลึกของ นิสาพร วัฒนศัพท์ และ ดารุณี สมศรีในปี 2017 ในเรื่องการประเมินสถานะความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของชุมชนในพื้นที่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีการประเมินเปรียบเทียบความมั่นคงทางอาหารของ 3 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกัน ดังแสดงข้อมูลตามตารางต่อไปนี้

จากข้อมูลเปรียบเทียบของทั้งสามหมู่บ้าน ซึ่งถ้าประเมินตามหลักการของ FAO ในหัวข้อของความพอเพียง การเข้าถึง การใช้ประโยชน์และด้านเสถียรภาพจะสามารถถอดบทเรียนกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นแนวทางในการออกแบบระบบความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนได้ดังนี้

  1. การครอบครองที่ดินทำมาหากิน โดยขนาดพื้นที่ทำมาหากินมีผลต่อโดยตรงต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพราะนอกจากทำให้จะสามารถใช้สร้างอาหารได้อย่างเพียงพอแล้ว ถ้ามีพื้นที่มากพอก็ยังสามารถสร้างรายได้อีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการบริหาร
  2. ประกอบอาชีพและการใช้แรงงาน สืบเนื่องจากถ้ามีที่ดินน้อยก็ต้องออกไปรับจ้างใช้แรงงาน ซึ่งมีผลทำให้ต้องออกนอกพื้นที่และไม่สามารถพัฒนาที่ดินของตัวเองเพื่อประกอบอาชีพระยะยาวได้
  3. ป่าชุมชนและการเข้าถึงป่าซึ่งถือว่าเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่ต้นทุนต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญของความมั่นคงทางอาหารโดยตรง ซึ่งการมีป่าชุมชนของหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนใช้ประโยชน์ต่างๆมากมายทั้งในเรื่องของแหล่งอาหารและการเอาไม้มาเผาถ่านเพื่อใช้เป็นพลังงานในครัวเรือนเป็นต้น
  4. การสร้างกลุ่มเพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม การรวมกลุ่มปลูกผักของผู้สูงอายุถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมชุมชนเพราะว่านอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตออกมาเป็นผักที่สามารถเอากลับไปเป็นอาหารได้แล้ว การรวมกลุ่มเพื่อสร้างกิจกรรมแบบนี้ยังมีผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุและเชื่อมโยงไปถึงสุขภาพจิตของลูกหลานได้ด้วย ส่วนโครงการน้ำดื่มชุมชนของบ้านห้วยไคร่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีซึ่งทำให้ชาวบ้านสามารถซื้อน้ำดื่มที่ถูกสุขอนามัยในราคาถูก โดยทำให้ไม่ต้องนำเข้าพลาสติกจากภายนอกอีกด้วย
  5. ปราชญ์ชาวบ้านและการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้เกิดระบบการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
  • การรวมกลุ่มของชุมชนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรท้องถิ่นในพื้นที่ของตนเอง
  • การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การมีผู้นำที่เป็นปราชญ์ชุมชน ทำให้สามารถหาวิธีการในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมและถูกต้องให้กับชุมชุนได้ ซึ่งรวมไปถึงการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
  1. เสถียรภาพด้านอาหาร ซึ่งในสถานะการโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานหรือรับจ้างจะไม่มีเสถียรภาพด้านอาหารอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยกลุ่มที่อยู่ต่างจังหวัดและกลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่ดินทำมาหากินของตนเองจะมีความมั่นคงในเรื่องอาหารสูงกว่ากลุ่มอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ

จากตัวอย่างงานวิจัยข้างต้นทำให้สามารถนำมาออกแบบชุมชนที่มีความมั่นคงทางอาหารซึ่งประกอบไปด้วย 4 ด้านดังนี้

รูปแสดงหลักการพื้นฐาน 4 ประการเพื่อสร้างชุมชนต้นแบบที่มีความมั่นคงทางอาหาร

  1. ปัจจัยการผลิต ซึ่งก็คือที่ดิน แรงงานและเงินทุน ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานโดยทั่วๆไป ซึ่งอาจจะขอความร่วมมือจากภาครัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวของก็ได้ นอกจากนี้พื้นที่ดินส่วนกลางของชุมชนถ้าชาวบ้านรวมตัวกันได้ดีก็สามารถนำพื้นที่ส่วนกลางดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนได้อีกมากมาย
  2. นวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทย หลักการนี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางหลักของการนำนวัตกรรมมาบูรณาการให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติที่เกิดความยั่งยืนตามบริบทของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
  3. การมีส่วนร่วมของชุมชน จากกิจกรรมเล็กๆกลุ่มปลูกผักของผู้สูงอายุของบ้านห้วยไคร่หรือโครงการอาหารกลางวันเด็กของโรงพยาบาลจอมทอง จะเห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทำกิจกรรมที่ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดเป็นระบบเครือข่ายที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนและสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆด้วย
  4. การคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือว่าข้อนี้เป็นพื้นฐานของทุกๆด้านที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นของส่วนรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาไว้เพื่อให้ลูกหลานของเราได้ใช้เป็นแหล่งทำมาหากินในระยะยาว

ซึ่งถ้าสามารถสร้างองค์ประกอบให้ครบได้ทั้ง 4 ด้าน ก็จะทำให้เกิดกลไกในการกำกับดูแลและควบคุมการสร้างความมั่นคงทางอาหารได้อย่างยั่งยืน

สัมผัสธรรมชาติต้านโควิคด้วยป่าชุมชน

จากตัวอย่างงานวิจัยจะเห็นได้ว่าทั้งสามหมู่บ้านเข้าใจและให้ความสำคัญเรื่องป่าชุมชนเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยที่ออกมาเผยแพร่มากมายเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้จากป่า ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยของ Morimoto และทีมงานได้มีการศึกษาเรื่อง FOREST BATHING ENHANCES HUMAN NATURAL KILLER ACTIVITY AND EXPRESSION OF ANTI-CANCER PROTEINS โดยการศึกษาได้แบ่งผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นสองกลุ่มโดยที่กลุ่มที่ 1 จะให้ไปพักผ่อนในโรงแรมในเมือง และกลุ่มที่ 2 จะให้ไปพักและอยู่ในป่าเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยมีการตรวจสุขภาพของทั้งสองกลุ่มอย่างละเอียด โดยเฉพาะมีการตรวจวัดจำนวนเซลของ NK (Natural killer) ซึ่งเซล NK คือเซลที่ทำหน้าที่ฆ่าเซลมะเร็งและจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งจากการวิจัยได้ผลสรุปว่ากลุ่มที่ 1 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งก่อนและหลังของจำนวนเซล NK ส่วนในกลุ่มที่ 2 พบว่าจำนวนเซลของ NK เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยทีมงานวิจัยอธิบายการที่คนเข้าไปอาศัยอยู่ในป่านานๆหรือที่เรียกกันว่าการอาบป่า จะทำให้คนๆนั้นได้รับสิ่งที่เป็นผลดีในด้านการเสริมสร้างภูมิต้านทาน 3 อย่างด้วยกันคือ

  1. จุลินทรีย์ที่ดีๆกับร่างกายมนุษย์ ที่สามารถช่วยในเรื่องระบบการหายใจและระบบย่อยอาหาร
  2. สารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและปรับสมดุลของฮอร์โมน
  3. ประจุลบจากธรรมชาติหรือออกซิเจนบริสุทธิ์ซึ่งจะเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าป่าชุมชนหรือป่าธรรมชาติ ถือได้ว่านอกจากจะเป็นแหล่งของการผลิตอาหารและพลังงานแล้ว ยังเป็นพื้นที่ป้องกันโรคและบำบัดโรคส่วนกลางของชุมชนที่สำคัญอย่างมาก จนแทบจะกล่าวได้ว่าการออกแบบความมั่นคงทางอาหารจะเกิดได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ต้องมีการอนุรักษ์และรักษาไว้ซึ่งป่าชุมชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขั้นตอนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

จากข้อมูลพื้นฐานการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นจริง ประกอบกับหลักเกณฑ์ขององค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ พร้อมทั้งงานวิจัยในประเทศไทยทำให้สามารถสรุปเป็นขั้นตอนเพื่อในไปปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนได้ดังนี้

  1. การเตรียมดินและปรับพื้นที่ตามภูมิสถาปัตยกรรม ในขั้นตอนนี้ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของดินตามระดับความลึกที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะคุณสมบัติของดินในระดับของราก และนอกจากนั้นต้องมีการปรับระดับความลาดเอียงของหน้าดินให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิสถาปัตตามความเป็นจริงด้วย
  2. เลือกชนิดของพืชที่เรารับประทาน โดยให้มีความหลากหลาย โดยหลักการโภชนาการที่ถูกต้องในแต่ละคนจะต้องรับประทานผักวันละ 350 กรัมต่อวันต่อคน และต้องมีบริโภคให้มีความหลากหลายที่ 30 ชนิดต่อสัปดาห์ ดังนั้นต้องมีการเลือกชนิดของพืชที่เราต้องการรับประทานให้ครอบคลุม หรืออาจจะมีการวางแผนร่วมกับเพื่อนบ้านก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็แล้วแต่ทุกครั้งที่มีการปลูกควรมีการวางแผนให้ถึงขั้นตอนที่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ใช้ต่อในรอบปลูกต่อๆไปด้วย
  3. ออกแบบระบบการให้น้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่ หลักการออกแบบระบบน้ำคือต้องให้มีการหมุนเวียนให้ครบวงจรทั้งบนดินและใต้ดิน โดยสามารถวางแผนการให้น้ำได้ในหลายรูปแบบทั้งเป็นร่องน้ำ ระบบน้ำหยดหรือละอองฝอยเป็นต้น ตามปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับพืชและดินในแต่ละชนิด
  4. ออกแบบระบบจัดการชีวมวลแบบครบวงจร คือการวางแผนทำปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุชีวมวลทั้งหมด โดยวัสดุที่ย่อยยากก็ควรมีการสับให้เป็นชิ้นและใช้ในการคลุมหน้าดินเพื่อควบคุมอุณหภูมิของดินไม่ให้เกิน 37 oC ซึ่งถ้าอุณหภูมิของดินสูงกว่านั้นจะทำให้จุลินทรีย์ในดินตาย จึงจำเป็นที่จะต้องเอาชีวมวลที่หาได้ทั้งหมดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  5. เน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบ ในท้องถิ่น หลักการข้อนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินการ ซึ่งอาจจะมีการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มก็ได้เพราะสารอินทรีย์หรือชีวมวลมีหลากหลายชนิดจึงต้องปรับสัดส่วนการนำมาใช้งานตามคุณสมบัติของการย่อยง่ายและย่อยยากแตกต่างกันไป

ลองทำและเรียนรู้กันดูนะครับ สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่มีกฏเกณฑ์ที่ตายตัว ต้องเรียนรู้และเมื่อเกิดเป็นประสบการณ์ที่ชำนาญมากยิ่งขึ้น การสร้างภูมิต้านในระดับรากหญ้าที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเพราะการได้ทำกิจกรรมในการสร้างอาหารหรือทำการเกษตรเพื่อตัวเราเองก็คือการที่เราได้อยู่กับธรรมชาติซึ่งก็คือการสร้างภูมิต้านทานให้กับตัวเรานั่นเอง