ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)

วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ เกิดมีเหตุการณ์การแย่งชิงอุปกรณ์ทางการแพทย์ระหว่างประเทศมหาอำนาจเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจะด้วยเหตุผลทางความมั่นคงหรือสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ เชื่อว่ามีเหตุผลรองรับแน่นอน มนุษย์เราเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการให้เหตุผลประกอบมาช้านานแล้ว ซึ่งทำให้ย้อนนึกถึงหนังสือชื่อล่มสลาย ไขปริศนาความล่มจมของสังคมและอารยธรรม ( Collapse) ของ Jared Diamond ที่อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมอาณาจักรที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตจึงเกิดการล้มสลาย โดยปัญหาเริ่มต้นจากการที่กลุ่มคนไม่สามารถคาดการณ์ปัญหาได้ล่วงหน้าได้ และ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ คนกลุ่มนั้นก็ไม่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาเหล่านั้นแล้ว พวกเขาก็อาจจะไม่พยายามแก้ไขปัญหาร่วมกัน สุดท้ายเมื่อปัญหารุกรามและพวกเขาก็พยายามแก้ไขร่วมกันแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ น่าจะให้มุมมองที่ดีเพราะยานโลกที่มีชีวิตใบนี้ไม่เคยแบ่งแยกอย่างที่พวกเราทำกัน

เราใช้องค์วิชาความรู้มาเป็นเหตุผลประกอบในการไม่พยายามร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในภาพรวมกันมาช้านานแล้ว ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้แหละ ที่เราเรียกว่าสติปัญญาของมนุษย์ เป็นระดับของสติปัญญาที่มีการแบ่งแยกระหว่างคนโง่กับคนฉลาด คนจนกับคนรวยหรือแบ่งประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยหารู้ไม่ว่า สิ่งที่เป็นเหตุผลประกอบจากการกระทำตามองค์ความรู้ที่สั่งสอนกันมานั้น จะกลายเป็นสิ่งที่กลับมาทำร้ายพวกเราอย่างไม่รู้ตัว จึงเกิดเป็นคำถามว่า องค์วิชาความรู้ที่มนุษย์สะสมและสั่งสอนกันมานั้น ถูกต้องทั้งหมดแล้วหรือไม่ ที่จะทำให้เผ่าพันธ์ของเราดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

นิยามของคำว่าสิ่งมีชีวิต ทำให้ประชากรของพืชตกสำรวจ

เมื่อประมาณ 13,000 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เริ่มมีการทำเกษตรกรรม โดยวิถีชีวิตของมนุษย์ในช่วงนั้นยังเน้นการอยู่อาศัยที่สมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อมีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ประมาณ 500 ปีที่ผ่านมา โดยโลกของวิทยาศาสตร์จะเน้นและให้ความสำคัญในสิ่งที่มองเห็นและพิสูจน์ได้เท่านั้นว่ามีอยู่จริง ส่วนสิ่งที่มองไม่เห็นหรืออยู่เกินขอบเขตที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์จะรับรู้ได้จะถูกมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญ ตัวอย่างที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการนิยามคำว่า สิ่งมีชีวิต (Organism) หมายถึง สิ่งที่มีตัวตน สามารถเคลื่อนที่ได้ ต้องการอาหาร ต้องการที่อยู่ และสามารถที่จะสืบพันธุ์ได้ ต้องใช้พลังงานในการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิต ซึ่งสิ่งที่ตามมาจากนิยามนี้ก็คือพืชกลายเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในนิยามของคำว่าสิ่งมีชีวิต เนื่องจากเคลื่อนไหวไม่ได้ ดังที่พวกเราจึงถูกสอนมากันตลอดว่าปลาวาฬคือสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งๆที่พืชมีขนาดที่ใหญ่กว่าอย่างชัดเจน

ประเด็นสำคัญไม่ใช้เรื่องของการนิยามที่ถูกหรือผิด แต่เรื่องที่ตามมาก็คือการให้ความสำคัญในความเป็นอยู่ของพืชน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเราเข้าใจเกี่ยวกับพืชน้อยมาก จะมีเพียงการเอาพืชมาใช้ประโยชน์เท่านั้นที่มีการศึกษาอย่างจริงจัง การใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีที่มนุษย์ผลิตขึ้นก็เป็นการพัฒนาในมุมมองของมนุษย์เพียงอย่างเดียว พวกเราไม่เคยให้ความสำคัญถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับพืชอย่างจริงจังเลย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วพืชสามารถเคลื่อนไหวได้ แต่เคลื่อนไหวในมิติความเร็วที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับพืช ดังตัวอย่างเช่น ต้น Brambles ซึ่งเป็นต้นไม้เลื้อยที่มีหนามอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ โดยในช่วงแรกของการเคลื่อนไหวต้น Brambles จะมีการแกว่งยอดของตัวเองเพื่อประเมินก่อนว่าแหล่งของอาหารอยู่ทางไหน เมื่อตัดสินใจได้แล้วก็จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางนั้น โดยมีอัตราเร็ว 3 นิ้วต่อวัน ซึ่งเพียงพอสำหรับพืช เนื่องจากจากแสงแดดและสารอาหารอยู่ไม่ไกลจากตัวเอง

(https://www.youtube.com/watch?v=aNjR4rVA8to)

ความรู้ความเข้าใจของมนุษย์กับความสามารถที่แท้จริงของพืช ปัจจุบันถือว่าน้อยมาก พืชถูกมองว่าเป็นสิ่งมีที่ชีวิตที่มีพัฒนาการต่ำ ซึ่งต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ของพวกเราชาวโลกเลยที่เดียว

ทฤษฏีวิวัฒนาการบนพื้นฐานของข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์

การศึกษาทฤษฏีวิวัฒนาการในช่วงแรกเริ่ม จะเน้นการศึกษาและทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงและการกลายพันธ์ของลักษณะทางกายภาพเป็นส่วนใหญ่และเมื่อความเข้าใจเกี่ยวกับยีนส์และพันธุกรรมมากขึ้น ก็มีการเอามาร่วมกันกลายเป็นทฤษฎีสังเคราะห์ในปัจจุบัน (Modern evolution synthesis) โดยปัจจุบันมีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและการกลายพันธ์ที่ก้าวหน้ามาก ถึงขั้นที่สามารถอธิบายถึงอนาคตของการเปลี่ยนแปลงได้เลยที่เดียว ที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงในระดับของยีนส์และเหนือกว่ายีนส์ (Gene and Epigenetics) เกิดขึ้นตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม มลพิษทางอากาศ การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลหรือสารเคมี รวมถึงภาวะทางอารมณ์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับยีนส์โดยตรง สิ่งต่างๆเหล่านี้พวกเรามีความเข้าใจกันมากขึ้นจริงๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นมีการยืนยันและมีการตรวจวัดด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างครบถ้วน ด้วยความชาญฉลาดทางด้านนี้ พวกเราจึงเพิกเฉยกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ โดยมองว่าเป็นสิ่งที่เหลวไหล ไม่มีอยู่จริงเพราะพิสูจน์ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีนักมนุษย์วิทยา ชื่อ Jeremy Narby ,Ph.D. ซึ่งจบปริญญาเอกทางด้านนี้โดยตรงได้สนใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการด้านความเร้นลับของธรรมชาติว่ามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง โดยได้เขียนออกมาเป็นหนังสือสองเล่มด้วยกันคือ The Cosmic Serpent : DNA and the origins of knowledge กับ Intelligence in nature : an inquiry into knowledge ดร.นาสบี ใช้เวลาศึกษากับชาวเผ่าและหมอผีของกลุ่มอะเมซอนมากกว่า 10 ปี ซึ่งข้อมูลที่ได้ทำให้เห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาของการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองที่มนุษย์ทำกันอยู่นั้น เรามองข้ามความลับของธรรมชาติที่เรามองไม่เห็นกันอย่างจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องสติปัญญาและความสามารถของพืช เพียงเพราะว่าพืชไม่ระบบประสาทและสมองอย่างที่พวกเราคาดหวัง ทั้งๆที่สิ่งนั้นเป็นองค์ความรู้ที่มีถ่ายทอดกันมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีเผ่าพันธ์ของมนุษย์ซะด้วยซ้ำไป

การแก้ไขปัญหาของราเมือก

สมมุติฐานของมนุษย์เราในเรื่องของสติปัญญานั้น เริ่มต้นจากการที่ต้องมีระบบประสาทส่วนกลางหรือมีสมองเป็นองค์ประกอบหลักถึงจะถือว่ามีสติปัญญา แต่ปัจจุบันมีการค้นพบที่อาจจะต้องทำให้พวกเรากลับมาทบทวนกันใหม่ โดย Nakagaki และทีมงานได้ศึกษาความสามารถของ ราเมือก (Slime mold) โดยเริ่มต้นจากการปล่อยให้ราเมือกเจริญเติบโตในเขาวงกฏ ซึ่งช่วงแรกยังไม่มีอาหาร ราเมือกก็มีการเติบโตแบบกระจายตัวเต็มที่ แล้วเมื่อก็มีการวางอาหารเข้าไป ปรากฏว่าราเมือกจะย้ายการเจริญเติบโตไปที่เส้นทางที่สั้นที่สุดระหว่างอาหารทั้งสองตำแหน่งเท่านั้น การทดลองนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่าใช้สติปัญญาที่ไม่ผ่านกลไกของระบบประสาทและสมองนั้นมีอยู่จริง

สติปัญญาและปัญญาญาณของพืช

ตามคำสอนของ OSHO ได้แบ่งระดับของญาณหรือการรับรู้ของมนุษย์ไว้ 3 ระดับคือสัญชาติญาณ ปรีชาญาณและปัญญาญาณ ( Intuition) การรับรู้ในระดับที่ไม่ผ่านการระบบประสาทหรือสมองคือการรับรู้ระดับปัญญาญาณ หรืออาจารย์ทางเซ็นจะใช้คำว่าเมื่อหยุดคิดแล้วจึงได้คิด เรื่องนี้ถ่ายทอดไม่ได้เป็นประสบการณ์ล้วนๆ พืชอยู่ในระดับไหนอันนี้ต้องศึกษากันต่อไป โดยการศึกษาเรื่องนี้ในพืชมีมานานมากแล้ว โดยเริ่มต้นจาก The power of movement in plant ของชาร์ล ดาร์วิน ออกตีพิมพ์เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นรุ่นบุกเบิกที่มีหลักการชัดเจน และฉบับล่าสุดที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดย Anthony Trewavas Ph.D. ได้มีการตีพิมพ์ The foundations of plant intelligence ในปี ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นการรวบรวมระดับสติปัญญาและความสามารถของพืชไว้มากมายหลายด้านทั้งในเรื่องการตอบสนองกับภาวะแวดล้อมทั้งเชิงรุกและรับ การสื่อสารระหว่างเซลในต้นเดียวกันหรือระหว่างกลุ่ม การแสดงความเจ็บปวด โดยมีการใช้แคลเซียมเป็นสารสื่อประสาทภายใน ส่วนในเรื่องการสื่อสารนั้น Richard Karban Ph.D. ได้เสนอไว้ว่าพืชใช้สารอินทรีย์ระเหยง่าย(Volatile organic chemicals)เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารซึ่งกันและกัน โดยมีการสื่อสารทั้งบนบกและใต้ดิน และยังพบว่าพืชต่างชนิดกันจะมีประเภทของสารเคมีที่ต่างกัน และในสถานะการณ์ที่ต่างกันก็จะปล่อยสารเคมีออกมาต่างกันด้วย ทั้งในเรื่องของการเตือนภัย การตอบสนองการภาวะสิ่งแวดล้อมหรือแม้กระทั้งต่อสู่กับการจู่โจมของแมลงเป็นต้น

ซึ่งสรุปได้ว่าพืชมีการสื่อสารกันอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ของพืชโดย Monica Gagliano Ph.D. ได้เลียนแบบการกระตุ้นการเรียนรู้ของสุนัขมาเป็นต้นแบบ โดยการทดลองของสุนัขจะเริ่มจากการที่ให้สุนัขเห็นอาหารแล้วน้ำลายไหล โดยจัดลำดับใหม่ให้มีการสั่นกระดิ่งก่อนที่จะให้สุนัขได้กินอาหาร ฝึกจนกระทั้งเมื่อสุนัขได้ยินเสียงกระดิ่งแล้วน้ำลายไหลเพราะสุนัขมีการเรียนรู้ว่าเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งแล้วจะได้กินอาหารน้ำลายจึงไหล สำหรับพืชก็ทำการทดลองในลักษณะเดียวกัน โดยเปลี่ยนจากอาหารเป็นแสง เปลี่ยนจากกระดิ่งเป็นพัดลม การไหลของน้ำลายสุนัขเปรียบเสมือนการเอนของลำต้นเข้าหาแสง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือเมื่อมีลมพัดพืชซึ่งได้เรียนรู้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะได้เจอกับแสง จึงได้ทำการเอนลำต้นไปในทิศทางที่แสงจะเกิดขึ้นทันที

https://www.youtube.com/watch?v=90BUQoLu_Hg

ผลการทดลองสรุปได้ว่าพืชมีระบบการเรียนรู้และมีความทรงจำเหมือนกับสุนัขทั่วๆไป สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ของพืชอันมีอยู่จริงโดยไม่ต้องมีระบบประสาทหรือสมองเป็นตัวควบคุม

บทเรียนที่สองจากพืช การให้ที่ไม่มีเงื่อนไข

จากบทความตอนที่แล้ว ที่แสดงถึงการอยู่อาศัยร่วมกันของพืชที่มีแบ่งปันอย่างเท่าเทียมไม่เลือกเผ่าพันธ์นั้น ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง สำหรับบทเรียนที่สองนี้เริ่มต้นจากการที่ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้นับถือว่าพืชเป็นสิ่งมีชีวิต เราไม่เคยใส่ใจความเป็นอยู่ของพืช ไม่เคยถูกสอนให้ดูแลพืชอย่างที่ควรจะเป็น การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชก็น้อย แต่พืชก็ยังให้สิ่งต่างๆกับพวกเราอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเรื่องนี้พืชอาจจะไม่สนใจก็เป็นไปได้เพราะว่าพืชอาจจะมีวิวัฒนาการที่ต่างจากเรา โดยขณะที่มนุษย์มีวิวัฒนาการทางด้านกายภาพจนถึงจุดสุดยอดของห่วงโซ่อาหาร พืชอาจจะมีวิวัฒนาการทางด้านจิตใจที่ถึงขั้นสูงสุดอย่างที่ Jeremy Narby กำลังค้นหาอยู่ก็เป็นไปได้ เรารู้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่ามนุษย์ประกอบไปด้วยร่างกายและจิตใจ โลกวิทยาศาสตร์ทำให้เราเชื่อในวิวัฒนาการทางด้านร่างกายเป็นหลัก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ก็ได้ว่า เมื่อช่วงที่สายพันธ์ของพืชกับสัตว์แยกออกจากกันนั้นคือเป็นทางแยกของทางเลือกที่จะมีวิวัฒนาการทางด้านร่างกาย (ปรีชาญาณ) หรือจิตใจ (ปัญญาญาณ) ก็เป็นไปได้ เพราะด้วยวิถีและรูปแบบแห่งการดำรงอยู่ของพืชอย่างในปัจจุบันเปรียบเสมือนเป็นผู้สร้างและเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง

บทเรียนที่สองที่มนุษย์เราต้องเรียนรู้ไว้จากพืชก็คือการให้ที่ไม่มีเงื่อนไข ทั้งๆที่พวกเราดูถูกเหยีดหยามพืชขนาดไหน พืชก็ยังทำให้หน้าที่ของตัวเองในการสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกในนี้โดยไม่มีข้อต่อรองใดๆทั้งสิ้น ซึ่งถ้ามนุษย์นำหลักการข้อนี้มาใช้เป็นแนวทาง การแก่งแย่งทรัพยากรหรือแม้กระทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นอยู่คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เจอกันในตอนต่อไปนะครับ