ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.คงคาดการณ์ส่งออกปี 2566 เติบโต 0-1% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า โดยเฉพาะความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล อาจส่งผลต่อแผนผลักดันการส่งออกในครึ่งปีหลัง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมถึงค่าไฟฟ้าสูงที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่อาจส่งผลต่อภาคการเกษตรในประเทศ ด้านเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าก็ยังมีสินค้าคงคลังในปริมาณสูงทำให้ชะลอคำสั่งซื้อออกไป

สำหรับในเดือนเมษายน 2566 การส่งออกมีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 7.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนเมษายนหดตัว 6.8%) ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,195 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 7.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 797,373 ล้านบาท หดตัว 5.4% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนเมษายน 2566 ขาดดุลเท่ากับ 1,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 59,584 ล้านบาท

ทางด้านภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – เมษายนของปี 2566 (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 92,003.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,110,977 ล้านบาท หดตัว 2.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - เมษายน หดตัว 2.3%)

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 96,519.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.2% และมีมูลค่าการนำเข้าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,305,763 ล้านบาท ขยายตัว 0.8% ส่งผลให้การค้าของประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ขาดดุลเท่ากับ 4,516 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 194,786 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ขอเสนอให้ภาครัฐต้องเร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งออกและเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมถึงเร่งช่วยจัดการค่าไฟฟ้าอย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตที่ปรับสูงขึ้น และอาจเสียเปรียบคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยควรพิจารณาการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ SME มากจนเกินไป