ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  กล่าวว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนสิงหาคม 2566 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,279.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 824,938 ล้านบาท หดตัว 4.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัว 3.9%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,919.7 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 12.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 822,476 ล้านบาท หดตัว 18.6% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2566 เกินดุลเท่ากับ 359.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 2,462 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – สิงหาคมของปี 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 187,593.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,379,734 ล้านบาท หดตัว 3.9% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - สิงหาคม หดตัว 1.5%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 195,518.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,732,833 ล้านบาท หดตัว 5.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - สิงหาคม 2566 ขาดดุลเท่ากับ 7,925.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 353,009 ล้านบาท

อนึ่ง สรท. คาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 หดตัวที่ -1.5% ถึง -1% (ณ เดือนตุลาคม 2566) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่ 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ตลาดยุโรป และจีน เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า ภาคอสังหาริมทรัพย์และอุปสงค์ในประเทศอ่อนแรง อุปสงค์ของสินค้าและบริการปรับลดลง อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ 2) ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ณ ระดับ 48.9 43.4 และ 48.6 ตามลำดับ 3) ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากอุปทานที่ลดลง 4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก อาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนของปริมาณผลผลิต และอาจส่งผลให้ราคาต้นทุนของสินค้าเกษตรและอาหารทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะมาตรการ 3 เร่ง ผลักดันการส่งออกโค้งสุดท้าย ประกอบด้วย

1. เร่งสร้าง 1.1) เร่งสร้างกิจกรรมส่งเสริมการค้าในตลาดเป้าหมาย (Exhibition / Business matching/ In-coming exhibition) และเพิ่มงบประมาณส่งเสริมกิจกรรม อาทิ SMEs Proactive และกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อาทิ 1) ตลาดตะวันออกกลาง ส่งเสริมการส่งออกข้าว ไก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป เครื่องปรับอากาศ 2) ตลาดจีน ส่งเสริมการส่งออกผลไม้แปรรูป ยางพารา มันสำปะหลัง 3) Unlock quota ทุเรียน ลำไย ที่ประเทศอินโดและ

ฟิลิปปินส์ 4) ส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ในตลาดอินเดีย และ 5) ส่งเสริมการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในตลาดออสเตรเลีย อเมริกา และเร่งแก้ไขปัญหาความแออัดที่ท่าเรือต้นทางปลายทางจากการปนเปื้อนดอกหญ้า (ดอกธูปฤาษีปนเปื้อนไปกับรถยนต์ส่งออก) และ 1.2 เร่งสร้างการส่งออกผ่านช่องทาง e-commerce สนับสนุนให้ผู้ส่งออกขี้น platform ในตลาดเป้าหมายให้มากขึ้น

2. เร่งเสริม 2.1) เร่งเสริมพลัง Soft power ของไทยอย่างเป็นรูปธรรม เหมือนการสร้าง soft power ของผลไม้ในประเทศ New Zealand ที่ผลักดัน “กีวี่” เป็นผลไม้ประจำชาติ และเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญมากที่สุดของ New Zealand 2.2) เร่งส่งเสริมการจดทะเบียน GI (Geographical Indicator) หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี เพื่อสร้างมูลค่าและป้องกันการลอดเลียนแบบสินค้าเอกลักษณ์ของไทย 2.3) เร่งเตรียมการเสริมในเรื่องของจัดตั้ง กรอ.สิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการรองรับมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่เกี่ยวข้องกับผู้ส่งออก และ 2.4) เร่งเสริมเจรจาสายเรือให้เพิ่มตู้และระวางขนส่งเพิ่มเติมจาก service contract เพื่อรองรับ spot shipment ที่จะมีมากขึ้น

3. เร่งสานต่อ 3.1) เร่งเสริมการเจรจาการค้าเสรี และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งพหุภาคี และทวิภาคี เพื่อเข้าถึงตลาดและวัตถุดิบ FTA Thai-EU / Thai-UAE เป็นต้น