นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปี67 สรท.คาดการณ์ส่งออกของไทยเติบโตที่ 1-2% (ณ เดือนมกราคม 2567) โดยปัจจัยที่ต้องจับตามาจากปัญหาความผันผวนค่าเงินบาท สถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯที่ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังคาดการณ์ว่าFED อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 1/2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศยังคงทรงตัวระดับสูง

รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตในทะเลแดง (Red sea) บริเวณช่องแคบบับ อัล-มันเดบ (Bab el-Mandeb Strait) ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรปและตะวันออกกลาง ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นและใช้ระยะเวลาการขนส่งสินค้านานขึ้น ซึ่งในส่วนของเส้นทางยุโรปค่าระวางเรือปรับขึ้น 80-90 หรือประมาณ 1 เท่า เดิมอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อตู้ก็ขยับขึ้นเป็น 5,000 ดอลลาร์ต่อตู้ โดยในวันที่ 11 ม.ค.นี้ ทาง สรท. สายเดินเรือ และกระทรวงพาณิชย์ จะมีการประชุมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

ส่วนดัชนีภาคการผลิต (PMI) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ณ ระดับ 47.9 44.4 และ47.9 ตามลำดับ และความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน เช่น ค่าไฟฟ้า (ธันวาคม 2566 ที่ 3.99 บาท กรอบใหม่ 4.68 บาท) และค่าแรงขั้นต่ำ (ที่ครม. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2-16 บาท) ค่าระวางเรือเส้นทางยุโรปเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ สรท. จึงมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย

1) จากวิกฤตสถานการณ์ทะเลแดง ภาครัฐและเอกชนต้องบริหารจัดการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลร่วมกัน โดยขอให้นำเรือใหญ่เข้ามาขนถ่ายสินค้าในไทยมากขึ้น สนับสนุนกิจกรรม Transshipment และยกระดับท่าเรือสงขลาโดยการขุดลอกร่องน้ำลึก ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนทางอ้อมและเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ

2) เพื่อให้การส่งออกปี 2567 อยู่ในทิศทางที่สามารถเติบโตได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการโดยตรง อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันควรมีมาตรการ Soft Loan เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยเฉพาะกลุ่ม SME จากความผันผวนที่คาดการณ์ได้ยาก และ 3) สนับสนุนงบประมาณในการเปิดตลาดศักยภาพใหม่ ในปี 2567 รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยเพิ่มมากขึ้น