โดย ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด

            “ตุลาคม” เดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 หลายคนเริ่มนับถอยหลังเตรียมที่จะพักผ่อนกันในช่วงสุดท้ายของปี ในขณะที่หลายคนกำลังวุ่นวายอยู่กับการวางแผนธุรกิจและการทำงานในปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง

            วันนี้ผมเลยอยากจะเล่าถึง ทิศทางและแนวโน้มการออกแบบที่อยู่อาศัยหลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และผมเชื่อว่าจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไปในปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เราเรียกว่า ชีวิตวิถีปกติใหม่(New Normal) เริ่มตั้งแต่ พฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนจากการทำงานในที่ทำงาน มาสู่การทำงานที่บ้าน(Work from Home) ไปถึงการทำงานที่ไหนก็ได้ในทุกที่ทุกเวลา (Work from Anywhere Anyplace) การซื้อสินค้าที่สามารถซื้อสินค้าได้จากทุกที่ทุกเวลาในแบบ 7 วันตลอด 24 ชั่วโมง การให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยที่คำนึงถึงสุขอนามัยมากยิ่งขึ้น และ ฯลฯ ที่กำลังนำไปสู่ ชีวิตวิถีปกติถัดไป(Next Normal)

            จากการสำรวจพฤติกรรมของประชาชนเกี่ยวกับความต้องการที่อยู่อาศัยของทีมวิจัย “ลุมพินี วิสดอม” พบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่สำหรับการออกกำลังกายในพื้นที่ที่พักอาศัยมากขึ้น จากเดิมที่เคยไปออกกำลังกายที่สถานออกกำลังกาย (Fitness) และสวนสาธารณะ ในขณะเดียวกัน 70% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการพื้นที่สำหรับทำงานหรือทำกิจกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามยังให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยในพื้นที่ของโครงการโดยผู้ตอบแบบสอบถาม 60% ให้ความสำคัญกับระบบการคัดกรองการเข้า-ออกโครงการเพื่อป้องกันทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และป้องกันการเกิดอาชญากรรมภายในพื้นที่โครงการ และ 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการความพลุกพล่าน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เป็นต้น

            นอกจากการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมความต้องการที่อยู่อาศัยแล้ว งานวิจัยของเรา (ลุมพินี วิสดอม) พบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคยังเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี่ดิจิทัลมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการใช้ชีวิตเพื่อตอบโจทย์กับเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม(Social Distancing) ถึงแม้ปัจจุบันการเว้นระยะห่างจะผ่อนคลายไปแล้วก็ตาม แต่เทคโนโลยี่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปแล้วหลังจากที่ผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนกลายเป็นความเคยชิน จากผลการสำรวจพบว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการใช้บริการต่างๆ ผ่านทาง application ทั้งบริการซื้อสินค้าและบริการ  ในขณะเดียวกันการปรับปรุงอุปกรณ์ภายในบ้านก็ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี่เข้ามาใช้เช่นการเปิดปิดประตูแบบเข้ารหัสแทนการใช้กุญแจ(digital door lock) รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี่การควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านเทคโนโลยี่ดิจิทัลและ application ต่างๆ (Internet of Things : IoT)

             รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ผมเลยอยากจะนำประเด็นของการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคหลังยุคโควิดในแบบปกติใหม่ถัดไป (Next Normal) ใน 3 เมกะเทรนด์ (The Next Normal: 3-Megatrends) มาแบ่งปันให้กับผู้อ่านของ TerraBKK กัน

เริ่มต้นกันที่…

การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สร้างสมดุลในการทำงานและการอยู่อาศัย(Work-Life Balance)

          สถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด 19 ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป "บ้าน" จึงไม่ได้เป็นแค่ "ที่อยู่อาศัย" แต่ยังกลายเป็นออฟฟิศ ห้องประชุม ฟิตเนส หรือแม้กระทั่งโรงภาพยนตร์ ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้สามารถใช้งานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย เทรนด์ดังกล่าวก่อให้เกิดรูปแบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า stay-at-home economy เช่น การพบปะสังสรรค์ผ่านแอปพลิเคชัน ธุรกิจ e-commerce บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน และเทคโนโลยีการชอปปิงผ่านประสบการณ์เสมือนจริง (virtual reality)

การออกแบบที่อยู่อาศัยในปัจจุบันและอนาคต จำเป็นต้องออกแบบพื้นที่ที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นอาคารชุดหรือบ้านพักอาศัย ให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตได้ในแบบ 360 องศา คือเป็นได้ทั้งที่พักผ่อน ที่ทำงาน ที่ออกกำลังกาย รวมไปถึงศูนย์รวมแห่งความบันเทิง(Entertainment Center) โดยมีพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่อเนกประสงค์ (Multipurpose Area) เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้อยู่อาศัย

การนำเทคโนโลยี่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตแบบลดการสัมผัส (Virtual Livable Connect following Touchless Society)

          การดำเนินชีวิตในโลกยุค next normal จะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นสำคัญ เทคโนโลยีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อ "ลดการสัมผัส" ตัวอย่างเช่น ระบบการจัดส่งสินค้าแบบ non-contact delivery โดยจะวางพัสดุลงในภาชนะหรือสถานที่ที่ลูกค้ากำหนดไว้ล่วงหน้า ประตูที่มีเซ็นเซอร์เปิด - ปิดอัตโนมัติในพื้นที่สาธารณะ รูปแบบการจ่ายเงินแบบ e-payment หรือแนวคิดการออกแบบพื้นที่ธุรกิจที่สามารถให้บริการลูกค้าแบบปราศจากการสัมผัสใด ๆ แต่จะใช้เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง (voice recognition) หรือจำลองโลกเสมือนจริง (augmented reality) แทน

            การพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันและอนาคตจำเป็นต้องนำเทคโนโลยี่แบบลดการสัมผัส(Touchless Society) มาใช้ในการพัฒนาทั้งอาคารชุดและบ้านพักอาศัย ก่อน COVID-19 อุปกรณ์เหล่านี้อาจจะดูเป็นของฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น แต่ปัจจุบันอุปกรณ์ในกลุ่มนี้กลายเป็นของจำเป็นที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องให้ความสำคัญเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยและสุขอนามัยไปพร้อมๆ กัน

การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงสุขอนามัยและสภาพแวดล้อม (Wellbeing & Green Residence)

          ประเด็นเรื่องสุขอนามัย และสภาพแวดล้อม เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากสารพิษ(Toxic) จากกระบวนการผลิต ต่างๆ มีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างต่างพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงการพัฒนากระบวนการผลิตที่ลด CO2 ในขณะที่กระบวนการก่อสร้างของผู้ประกอบการในปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการการสร้างเพื่อลดขยะภายใต้แนวคิดขยะเป็นศูนย์(Net Zero Waste) ในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยที่สร้างสุขอนามัยที่ดีในการอยู่อาศัยไปพร้อมๆ กับการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

            ทั้ง 3 ประเด็นเป็น “3-Megatrends” ที่เป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันและในอนาคต โดยในปัจจุบันผมเห็นผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายรายได้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยนำแนวคิดของทั้ง 3 มาใช้แล้วอาจจะไม่ครบทุกประเด็น แต่ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่คำนึงถึงการออกแบบ การนำเทคโนโลยี่เข้ามาใช้ในการพัฒนาโครงการ รวมไปถึงการพัฒนาโครงการที่คำนึงถึงสุขอนามัยและสภาพแวดล้อม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น และผมเชื่อว่าทั้ง 3- Megatrends จะเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันและในอนาคต ที่จะทำเป็น Check-List สำหรับการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ถึงแม้ราคาอาจจะสูงขึ้นมาบ้างตามนวัตกรรมและวัสดุที่เลือกใช้ แต่ผมว่าระยะยาวแล้ว เราจะได้ที่อยู่อาศัยที่เราอยู่ได้อย่างมีความสุข มีสุขอนามัยที่ดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน (sustainable residence)

วันนี้ผมพอแค่นี้ก่อน แล้วพบกันเดือนพฤศจิกายน กับเรื่องราวดีๆ ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อตอบโจทย์กับสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนะครับ