ทุกวันนี้ BIM Technology (Building Information Modeling) เป็นใจกลางของการสร้าง Digital Twin เป็นเครื่องมือที่บัณฑิตสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมนำมาใช้ในงานออกแบบและก่อสร้าง และเร็วๆ นี้ผู้บริหารและเจ้าของสินทรัพย์ประเภทอาคารจะมี “Digital Asset” ที่จะได้รับมอบจากผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นจุดเริ่มต้นของ Digital Twin ที่เจ้าของเอานำต่อยอดได้

เมื่อคุณในฐานะเจ้าของข้อมูลที่มีศักยภาพในการสร้างปรากฎการณ์ Digital Transformation สำหรับองค์กรของท่านมาแล้ว ท่านจะนำไปต่อยอดอย่างไรต่อ? ได้เวลาเดินทางสู่ Digital Twin ของท่านแล้ว…

Digital Asset นั้นก็คือ BIM Model อาจจะขอเบรกเล็กน้อยก่อนว่า เดี๋ยวนะ BIM Model ที่ว่าจะมาจากไหนได้ ? ก็จะขอตอบคำถาม ในบทความนี้

ขั้นที่ 1 : เรียก BIM Model จากคนที่มีพูดถึงการได้มาของ Digital twin ซึ่งไม่ได้ยากเลย สำหรับยุคนี้
อันดับแรกเจ้าของอาคารต้องทราบถึงสิทธิ์ที่ท่านมีในฐานะผู้ว่าจ้างก่อน เพราะในการพัฒนาโครงการหนึ่ง เราต้องว่าจ้างผู้ออกแบบและผู้ก่อสร้าง โดยคนสองกลุ่มนี้ต้องผลิต “แบบ” ให้กับเจ้าของอาคาร แต่ในจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน

คนหนึ่งจะผลิต “แบบ” เพื่อให้นำไปก่อสร้าง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งจะผลิต “แบบ” เพื่อให้เจ้าของอาคารนำไปใช้ในการบริหารอาคารหรือ “สินทรัพย์” (Asset) นั้น

‘แบบ’ โดยเนื้อในก็คือ Information ในอดีตจะมาในรูปแบบของกระดาษ ต่อมาก็เป็น CAD File เขียนเป็นเส้นในคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันคือ Database ที่เรียกว่า Building Information Modeling (BIM) เท่านั้นเอง ในยุคที่การใช้ BIM เริ่มจะเป็นมาตรฐานปกติของวงการออกแบบและการก่อสร้าง แปลว่า มีโอกาสสูงที่เจ้าของอาคารจะมี BIM Model อยู่ที่ไหนสักแห่งใน Supply Chain

ถ้าหากคุณกำหนดไปเลยว่าต้องการเป็นเจ้าของ BIM ก็แค่กำหนดไว้ในสัญญาการจ้างว่าต้องการให้ผู้รับเหมาส่ง As-Built Document มาเป็น BIM Model

นี่คือ จุดเริ่มต้นการเดินทางของ Digital Transformation อย่างแท้จริงของ Property Asset Management ต้องเริ่มจากการมี BIM Model ก่อน แล้วจึงค่อยดำเนินการในขั้นต่อไป

ขั้นที่ 2 : เชื่อม BIM Model เข้ากับ Business System ขององค์กร
ถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่จะมี ERP ในการบริหารทรัพยากรขององค์กร โดยพื้นฐานระบบ Business System เหล่านี้จะถูกพัฒนามาจากระบบบัญชีการเงิน ซึ่งในนั้นย่อมมีเรื่องการบันทึกสินทรัพย์ด้วย

ในโลกยุคก่อนสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยนัก จนเราเรียกเป็น Fixed Asset แต่ในความเป็นจริง นั่นเพราะองค์กรส่วนใหญ่ไม่มีศักยภาพในการไปเปลี่ยนแปลง Fixed Asset นั้นมากกว่า ทั้งๆ ที่อาคารทุกอาคารมีการปรับปรุง แก้ไข ต่อเติม นำมูลค่าต่างๆ เข้าเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ

แต่ ณ วันนี้ โลกมีศักยภาพในการ Track ได้แบบมีประสิทธิภาพ โดยการเอา BIM Model เชื่อมโยงเข้ากับ Business System ขององค์กรอย่าง ERP ได้ แปลว่า ‘แบบอาคาร’ ถ้ามีการปรับปรุงแก้ไขก็จะสะท้อนไปใน ERP ขององค์กรด้วย เป็นการอัปเดตแบบต่อเนื่อง เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน โดยไม่ต้อง Key-in ด้วยวิธี Manual แบบเดิมๆ อีกต่อไป

ขั้นที่ 3 : การจัดตั้งทีม Asset Information Management (AIM)
ทีม Asset Information Management นี้ จะทำหน้าที่บริหารข้อมูลของสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในอาณาจักรสินทรัพย์ของคุณ

ปัจจุบันธุรกิจที่มีข้อมูล (Data) มหาศาล จะมีการจัดทำเรื่อง Business Analytics หรือ Data Analytics ที่ใช้ Data Scientist หรือ Data Engineer ทำ โดยแนวคิดแล้ว ทีม Asset Information Management (AIM) ก็คือทำเรื่องเดียวกัน แต่มองข้อมูล (Data) ของแบบก่อสร้างและรายงาน รวมถึงวิเคราะห์การใช้อาคารเพื่อ นำเสนออินไซต์มาพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ

แน่นอว่าทีม AIM ยังเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่มากในอุตสาหกรรมการบริหารสินทรัพย์ เพราะข้อมูล (Data) ของอุตสาหกรรมนี้ยังมีน้อย และส่วนใหญ่เป็น “Unstructured Data” ที่ยังใช้คนมาวิเคราะห์เป็นหลัก แต่ในอนาคตจะพัฒนาไปสู่ Machine Learning หรือ ใช้ Artificial Intelligence (AI) แต่วันนี้ ‘มนุษย์’ คือ ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปนิและวิศวกรเป็นหลัก

งานเบื้องต้นของทีม Asset Information Management คือ ทำให้แบบก่อสร้าง (ในที่นี้คือ BIM Model) อัปเดตให้ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับอาคารจริง และทำให้ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับอาคาร เช่น รายงานการซ่อมอาคาร, รายงานการใช้พลังงาน หรือสภาวะของผู้ใช้อาคาร เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง-เข้าถึงได้ รวมถึงวิเคราะห์ หาประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งข้อมูลลักษณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการ input เข้าไปในระบบอื่นๆ เช่น ระบบ Business System หรือ ระบบบริหารงานซ่อม หรือระบบจัดซื้อต่างๆ รวมถึงระบบติดตาม ค่าพลังงาน หรือ ค่าน้ำ เป็นต้น

โดยทั่วไปองค์กรใดที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ทำได้ถึงขั้นที่ 3 ถือว่ามาไกลมากแล้ว ส่วนใหญ่ขั้นที่ 3 มักเป็นทีมเอาท์ซอร์สเข้ามาดำเนินการ

ขั้นที่ 4 : ติดตั้งระบบ Internet of Things (IoT)
หากเจ้าของอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ต้องการวางรากฐานของ “Automation” เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนด้านแรงงานของการบริหารจัดการสินทรัพย์ ควรต้องเริ่มต้นวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยี “Internet of Things”

สาระสำคัญของ Internet of Things (IoT) คือ อุปกรณ์ที่สามารถส่งข้อมูลกลับมาที่องค์กร เพื่อให้องค์กรนำข้อมูลเหล่านั้นไปพัฒนาธุรกิจได้ พูดง่ายๆ วุ้นแปลภาษาสำหรับเครื่องจักรนั่นเอง

จากการที่ข้อมูลในยุคก่อนสร้างขึ้นด้วย “คน” มานั่งจดและรายงาน แต่ปัจจุบันจะสร้างด้วย คอมพิวเตอร์มาเฝ้าดูทุกสิ่งตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลที่ได้มาเพิ่มจำนวนอย่างมาก บางครั้งมากจนมนุษย์ประมวลผลไม่ทัน จนเราเรียกมันว่า “Big Data” นั่นเอง

ปัจจุบันเราพบ Internet of things (IoT) ได้ทุกหนแห่ง อะไรที่ต่อกับอินเทอร์เน็ตและส่งข้อมูลออกมา หรือกดคำสั่งเข้าไปควบคุมมันได้ ถือว่าอุปกรณ์ชิ้นนั้นมี ความเป็น IoT ผสมอยู่ทั้งสิ้น

สำหรับอาคาร หรือ Property Asset นั้น IoT จะเน้นไปที่ศักยภาพการติดตามข้อมูลในอุปกรณ์ที่สำคัญ เช่น เครื่องจักร ลิฟต์ เครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่ระบบความปลอดภัย อันส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจในลักษณะต่างๆ

เมื่ออาคารมี BIM Model แล้ว สามารถเอามาผนวกกับข้อมูลมหาศาลจาก Internet of Things ที่เสมือนเป็นคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่ติดตามความเป็นไปของสินทรัพย์เรา ทำให้สามารถลดแรงงานคน โดยเฉพาะช่างอาคารไปได้บางส่วน

งานกิจวัตรประจำวันของช่างประเภทการเดินไปจดสภาพเครื่องจักร หรือการเปิด-ปิดเครื่องจักรจะไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะทุกอย่างใช้ IoT ดำเนินการได้

ในขั้นที่ 4 นี้นอกจากจะได้ผลประโยชน์ในการลดแรงงานแล้ว เจ้าของโครงการจะได้ทราบความเป็นไปในอาณาจักรอสังหาแบบ Real-Time ผ่าน Dashboard ที่ได้ข้อมูลมาจาก IoT ที่ผนวกกับ BIM Model โดยส่วนใหญ่การใช้ Data Analytics ในระดับนี้ จะนำไปสู่การลดการใช้ทรัพยากรอาคารต่างๆ ในอาคาร เช่น พลังงาน

ขั้นที่ 5 : Cybersecurity
เมื่อมีการติดตั้ง IoT เพื่อดึงข้อมูลมาใช้และเปิดโอกาสให้เข้าควบคุมระบบต่างๆ ของอาคารผ่านทาง อินเทอร์เน็ตได้โดยตรง

สิ่งที่ต้องตระหนักเสมอ คือ สินทรัพย์ของคุณจะไม่ใช่ “อาคาร” อีกต่อไปแล้ว แต่ได้ผ่านกระบวนการ “Digital Transformation” ให้กลายเป็น “Device” ที่มีการต่ออินเทอร์เน็ตในระดับซับซ้อนขึ้น และสั่งการให้ทำงานอย่างที่คุณต้องการได้ ในเวลาที่คุณต้องการ

ประโยชน์ที่ได้ คือ องค์กรของคุณจะก้าวเข้าสู่การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการปฎิบัติการและความเร็วในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอกแบบก้าวกระโดด

ความเสี่ยงแบบใหม่ที่คุณต้องเผชิญ คือ “การถูกโจมตีทางไซเบอร์” เพราะเมื่อทุกอย่างเชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกัน ถ้าถูกเจาะระบบเข้า ณ จุดใดจุดหนึ่ง คุณจะถูก “โจร” หรือที่เรียกแบบเทห์ๆ ว่า “Hacker” เข้ายึดได้ทันที

Cybersecurity คือขั้นตอนสำคัญของ “Digital Transformation” อาจดุเหมือนเป็นลำดับสุดท้าย แต่ความเป็นจริงแล้ว ในกระบวนการทำงานปกติ Cybersecurity คือสิ่งที่ต้องพิจารณาคู่ขนานกับการปรับปรุงระบบตลอดเส้นทาง

หากเปรียบองค์กรของคุณ เป็น ‘วัตถุ’ Digital Transformation ก็คือ ‘แสง’ (ในที่นี้คือเรื่อง Digital Twin) เรื่อง Cybersecurity ก็คือ ‘เงา’ ที่ต้องอยู่คู่กับแสงนั้นไปตลอดกาล

หนทางสู่ Autonomous Environment
ใครที่เคยดูหนังเรื่อง Minority Report นำแสดงโดย ทอม ครูซ ในปี 2002 เรียกว่าเป็นภาพยนตร์ที่ผ่านมาจะร่วม 20 ปีแล้ว แต่หลายๆ สิ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว

สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมาก ในเรื่อง คือ อาคารหรือสภาพแวดล้อมที่มีปฎิสัมพันธ์กับผู้ใช้อาคาร เสมือนอาคารนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตเอง

อาคารสามารถ พูดได้ เข้าใจได้ ว่ามนุษย์ต้องการอะไร โดยการระบุอัตลักษณ์ของบุคคลนั้น แล้วใช้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้น ประมวลผลเพื่อสร้างบทสนทนาที่เหมาะสมกับบุคคลนั้น และรอการตอบสนองตามความต้องการของบุคคลนั้น นั่นคือ Autonomous Environment ที่ในอนาคตมนุษย์เราจะสามารถไปถึงได้
อาคารที่ดูแลตัวเองได้ รู้ว่าจะต้องเรียกช่างมาซ่อมตัวเองเมื่อไหร่? รู้ว่าจะต้องประหยัดพลังงานอย่างไร? รู้ว่าจะทำให้คนที่มาใช้อาคารมีความสุขอย่างไร?

ทั้งหมดนี้มีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีพื้นฐาน คือ Digital Twin ทั้งสิ้นที่จะต้องเริ่มจาก BIM Model ไปสู่ Asset Information Management ไปถึง iOT และประเด็นอื่นๆ ที่ต้องเข้ามาเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับท่านที่ต้องการเดินทางไปสู่โลกเทคโนโลยีดังกล่าว มาร่วมกันเดินทางไปสู่อนาคตได้แล้ว ตั้งแต่ ‘วันนี้’ โดยเริ่มนับหนึ่งได้จาก Digital Twin