สัมมา คีตสิน

กรรมการอิสระ บมจ. เสนาดีเวลลอปเม้นท์
 

ในบรรดาเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ กำลังก่อสร้าง หรือมีแผนจะก่อสร้าง ในพื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑลนั้น มี 2 เส้นทางที่เรียกได้ว่าเป็นรถไฟฟ้าแบบ  Monorail (รางเดี่ยว) หรือแบบ Light Rail (ขนาดเบาเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT ที่เป็น Heavy Rail) คือรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่จะวิ่งระหว่างศูนย์ราชการนนทบุรีถึงมีนบุรี และสายสีเหลืองที่จะวิ่งระหว่างรัชดา-ลาดพร้าวถึงสำโรง

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีทองนั้นเนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าที่มีตู้โดยสารขนาดเล็กมาก และวิ่งให้บริการอยู่เพียง 2-3 สถานี จึงเป็นเพียงเส้นทางเฉพาะกิจ จนกว่าจะมีการต่อขยายมากขึ้นในอนาคต

ด้วยเหตุที่ทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลือต่างก็เป็น Monorail หรือ Light Rail เหมือนกัน และดำเนินกิจการโดยบริษัทลูกของ BTS เหมือนกัน มิหนำซ้ำยังมีความคืบหน้าของการก่อสร้างในระดับใกล้เคียงกันคือมากกว่าร้อยละ 80 และมีกำหนดเปิดให้บริการบางส่วนหรือทั้งหมดในปีหน้า 2565 เหมือนกัน ดังนั้นรถไฟฟ้าทั้งสองสายจึงเปรียบเสมือนคู่แฝด

และไม่ใช่เป็นเพียงคู่แฝดธรรมดา แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นคู่แฝดที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในด้านการเดินทางของประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านชานเมือง เนื่องจากรถไฟฟ้าทั้งสองสายสามารถใช้เดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆอีกหลายสาย ทั้งสายสีเขียวที่วิ่งระหว่างสมุทรปราการไปคูคต (BTS) สายสีน้ำเงินที่วิ่งเป็นวงแหวน (MRT) รถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกที่กำลังก่อสร้างและวิ่งระหว่างศูนย์วัฒนธรรมถึงมีนบุรี

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้นมีระยะทางตลอดทั้งเส้นประมาณ 34.5 กิโลเมตร ประกอบด้วย 32 สถานี วิ่งจากศูนย์ราชการนนทบุรี (ซึ่งมีสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอยู่ใกล้เคียง) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนติวานนท์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะ จากนั้นข้ามคลองประปาเข้าสู่เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดงบริเวณจุดตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต และข้ามไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ จากนั้นยิงยาวไปตามถนนรามอินทราไปจนสุดเส้นทาง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะให้บริการจากมีนบุรีไปศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในอีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น รถไฟฟ้าสายสีชมพูจึงมีศักยภาพในการใช้เดินทางมากเพราะสามารถเชื่อมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้อีกถึง 4 เส้นทาง

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีระยะทางตลอดทั้งเส้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร สั้นกว่าสายสีชมพู 4 กิโลเมตร ประกอบด้วย 23 สถานี วิ่งจากถนนรัชดาภิเษกช่วงใกล้แยกลาดพร้าว (ซึ่งมีสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอยู่ใกล้เคียง) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนลาดพร้าวไปจนถึงบริเวณแยกลำสาลีจุดตัดของรถไฟฟ้าสายสีส้ม แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนศรีนครินทร์ วิ่งข้ามถนนบางนา-ตราด เลี้ยวขวาเข้าถนนเทพารักษ์ไปถึงสถานีสำโรงซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีชื่อเดียวกันของรถไฟฟ้าสายสีเขียวในจังหวัดสมุทรปราการซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่แล้ว ดังนั้น รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจึงสามารถใช้เชื่อมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้ 3 เส้นทาง

พื้นที่ที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูวิ่งผ่านถือเป็นพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เขตต่อเมืองและเขตชานเมืองเป็นส่วนใหญ่ แม้จะเป็นเขตชานเมืองที่มีความเจริญอยู่บ้างแล้วทั้งบนถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา แต่การมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะช่วยเพิ่มศักยภาพของโครงการที่อยู่อาศัยตลอดเส้นทาง

พื้นที่ที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูวิ่งผ่านถือเป็นพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เขตต่อเมืองและเขตชานเมืองเป็นส่วนใหญ่ แม้จะเป็นเขตชานเมืองที่มีความเจริญอยู่บ้างแล้วทั้งบนถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา แต่การมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะช่วยเพิ่มศักยภาพของโครงการที่อยู่อาศัยตลอดเส้นทาง

ส่วนพื้นที่ที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองวิ่งผ่านในช่วงจุดเริ่มต้นที่เป็นถนนรัชดาภิเษกและถนนลาดพร้าวถือเป็นเขตต่อเมืองที่มีความเจริญและแปลงที่ดินมีราคาแพงอยู่แล้ว แต่เมื่อวิ่งจากถนนศรีนครินทร์ไปทะลุถนนเทพารักษ์ก็ถือเป็นเขตชานเมืองเช่นกัน และจะช่วยพัฒนาพื้นที่ชานเมืองเหล่านี้ให้เจริญขึ้นเช่นเดียวกับพื้นที่ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ในพื้นที่เขตต่อเมืองซึ่งราคาที่ดินพุ่งสูงไปมากแล้ว โครงการที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จึงเป็นโครงการคอนโดมิเนียม ในขณะที่พื้นที่ชานเมืองนั้นผู้ประกอบการยังพอมีทางเลือกที่จะพัฒนาได้ทั้งโครงการคอนโดมิเนียมราคาย่อมเยาลงมาหรือโครงการบ้านจัดสรรได้หลายระดับราคา

ตัวอย่างโครงการที่อยู่อาศัยของเสนาดีเวลลอปเม้นท์บนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ได้แก่ โครงการคอนโดมิเนียมนิชโมโนที่สถานีศรีรัช โครงการบ้านจัดสรรเสนาพาร์คแกรนด์ใกล้สถานีรามอินทรา 83 และวงแหวนตะวันออก ส่วนบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายเหลือง ได้แก่ โครงการคอนโดมิเนียมนิชไอดีสุขุมวิท 113 ใกล้สถานีสำโรง และโครงการคอนโดมิเนียมเสนาคิทท์ใกล้สถานีศรีด่าน