ขณะที่เรามีอาหารให้เลือกกินเต็มไปหมด ปรับเปลี่ยนได้ตามใจอยาก...อีกซีกโลกหนึ่ง ยังมีผู้คนอีกกลุ่มที่หิวโหยและบางส่วนก็อดตายเพราะขาดอาหาร

เพราะความหิวนั้นน่ากลัว ไม่ต่างจากความจน เราอาจนึกภาพไม่ออก แต่หากลองได้หิวเพียงนิดหน่อย เราก็คงรู้สึกทรมานจนต้องหาอะไรลงท้องแล้ว ดังนั้น “ความหิว” จึงเป็นปัญหาระดับโลกที่ทางสหประชาชาติต้องบรรจุเป็นหนึ่งข้อสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า Sustainable Development Goals (SDGs) โดยเป็นเป้าหมายอันดับที่ 2 จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย นั่นก็คือการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)

ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน คือคำจำกัดความที่ชัดเจนและตรงประเด็นของเป้าหมายนี้ ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อเข้าร่วมโครงการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger Challenge: ZHC) 

งานวิจัย “ผลการรับประทานไข่ไก่กับผลต่อโภชนศาสตร์ระดับโมเลกุลรายบุคคลในเด็กประถมศึกษา1” ของนายแพทย์กรภัทร มยุระสาคร ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นหนึ่งผลผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินโครงการระดับโลกนี้

ทีมผู้วิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารของเด็ก การเปลี่ยนแปลงของเมตาโบโลมิกส์2 การเปลี่ยนแปลงของโปรตีนและคอเลสเตอรอลในเลือด รูปแบบของขนาดคอเลสเตอรอล และวัดการเจริญเติบโตหลังจากการกินไข่ไก่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยให้เด็กนักเรียนวัย 8-14 ปีในต่างจังหวัดกินไข่ไก่ต้มวันละ 2 ฟองต่อวัน (จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์) ต่อเนื่องนาน 9 เดือนเสริมไปกับมื้ออาหารกลางวัน 

แม้เราจะพร่ำบอกกันว่าเมืองไทยไม่ขาดแคลนอาหาร แต่ก็พบว่ามีเด็กในประเทศขาดสารอาหารที่เกิดภาวะขาดโปรตีนและพลังงานอยู่มากกว่า 500,000 คน ซึ่งนับเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของภาวะสุขภาพของเยาวชน และกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขของชาติ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตในเด็ก อันเป็นโจทย์สำคัญในการทำวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งจากการวิจัยดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า การกินไข่ไก่นั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มระดับโปรตีนในร่างกายแล้ว ยังช่วยแก้ไขภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดผิดปกติของกลุ่มตัวอย่างได้อีกด้วย

เพราะก่อนจะ “เลือกกิน” ได้ เราทุกคนควร “มีกิน” อย่างสุขภาพดีเท่าเทียมกันเสียก่อน เพียงอาหารพื้น ๆ อย่าง “ไข่” ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาทุพโภชนาการได้ นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่สหประชาชาติตั้งไว้ได้ภายในปี 2573 

1ชื่อภาษาอังกฤษ The Effect of Continuous Egg Supplement on Personalized Nutri-Omics in Primary School Children – SI-EGG Study
2เมตาโบโลมิกส์ (Metabolomics) คือการศึกษาโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียกว่า เมตาโบไลต์ (metabolites) สารที่ใช้ในการสร้างและย่อยสลายภายในเซลล์สิ่งมีชีวิต (แปลโดยผู้เขียน) ที่มา ebi.ac.uk

ที่มาภาพ : Unsplash/Louis Hansel

ที่มา :
sdgs.nesdc.go.th 
บทความ “สวก. ตั้งเป้าขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) สร้างสุขภาพที่ดีด้วยไข่ไก่” (มีนาคม 2563) โดย จิรภรณ์ ล้วนเลิศ จาก technologychaoban.com
arda.or.th

SOURCE : tcdc