เนื่องจากสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อ ‘COVID-19’ ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้คนนำเทคโนโลยีมาใช้มากยิ่งขึ้น เราได้เห็นคนจำนวนมากเริ่มเปิดใจยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งที่เมื่อก่อนการใช้เทคโนโลยีดูจะเป็นอุปสรรคมากสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นชิน เรื่องการใช้เทคโนโลยี ในบทความนี้ เราจะได้เห็นว่า เราเองก็สามารถ ปรับชุดความคิด (Mindset) และ พัฒนาความสามารถ (Skill) ต่างๆ เพื่อให้เราช่วงชิงโอกาสที่ซ่อนอยู่ภายใต้วิกฤติ COVID-19 นี้ได้ จะเป็นอย่างไรนั้นไปติดตามกันดูได้เลยค่ะ

Digital Disruption คืออะไร? 

“Digital Disruption” หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จนมีผลกระทบต่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และการบริการที่มีอยู่ในตลาด และอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในชีวิตประจำวัน และการทำงาน

Digital Disruption จะมาพร้อมกับคำว่า “Digital Transformation” ซึ่งแปลว่า “การเปลี่ยนแปลงองค์กรหรือธุรกิจ โดยการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงให้ธุรกิจหรือองค์กรมีความพร้อมในโลกดิจิตอลมากขึ้น” กล่าวคือ พฤติกรรมการทำงานของคนในองค์กรจะเปลี่ยนไป จากที่ต้องนั่งประชุมพร้อมหน้ากันในห้องประชุม เราสามารถเปลี่ยนไปนั่งประชุมที่บ้านตนเองได้ผ่านโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Skype, Microsoft Team, Zoom หรือในส่วนของการส่งข้อมูลที่ต้องส่งเอกสารระหว่างแผนกด้วยกระดาษ เราสามารถเปลี่ยนมาส่งข้อมูลหากันทาง Email ได้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และเวลา

โดยที่ Digital Transformation ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในชีวิตประจำวันของคนในสังคมด้วย อย่างในปัจจุบันนี้ คนเริ่มให้ความสนใจโทรทัศน์น้อยลง เริ่มมีพฤติกรรมการดูทีวีออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆตามความชอบ เพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ไม่มีโฆษณาคั่นที่นานเกินไป หรือบางคนไม่มีเวลาดูรายการตามเวลาออนแอร์ ก็สามารถหาดูย้อนหลังได้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนตอบโจทย์คนในวัยทำงานที่ไม่มีเวลาว่างมากนัก หรืออย่างในด้านธุรกรรมการเงิน จากเมื่อก่อนที่ต้องเดินหาตู้ ATM เพื่อกดเงินสด หรือโอนเงิน 

แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราสามารถกดโอนเงิน หรือจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นได้ง่ายๆเพียงปลายนิ้ว แม้ขณะนั้นจะเป็นเวลาเที่ยงคืนแล้วก็ตาม จึงสรุปได้ว่า Digital Transformation ทำให้การใช้ชีวิตกับยุคดิจิตอลนั้นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และเราสามารถใช้เวลาที่เหลือทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกด้วย

จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่นในช่วงเวลากักตัว ทุกคนไม่สามารถออกไปทำธุระ หรือหาซื้ออาหารด้วยตนเองได้ ห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านที่ขายเฉพาะอาหาร และของใช้ที่จำเป็น สิ่งของบางอย่างไม่สามารถหาซื้อได้ เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงต้องหาหนทางสำหรับรับมือกับสถานการณ์นี้ด้วยการใช้บริการผ่าน Digital Platform ต่างๆ เช่น ต้องการซื้ออาหาร ก็สั่งผ่านแอพพลิเคชั่น Food Delivery เช่น Grab, Get, Food Panda และ Line Man หรือหากต้องการจะซื้อของใช้ เครื่องครัว เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็มีแอพพลิเคชั่นรองรับมากมายทั้ง Lazada, Shopee เป็นต้น 

สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือการจัดการ “Mindset” ของตัวเอง

ในกรณีพนักงานที่โดนสั่งหยุด แบบไม่ได้รับเงินเดือน หรือที่เรียกว่า ‘Leave without pay’ ซึ่งทำให้ขาดรายได้ไป จึงต้องเริ่มมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน

เพื่อรับมือกับ Digital Disruption ต่อสถานการณ์ COVID-19 ในตอนนี้ สิิ่งแรกที่ควรทำคือการจัดการ Mindset ของตัวเอง “Mindset” คืออะไร? อธิบายง่าย ๆ Mindset คือ กระบวนการทางความคิด การปรับทัศนคติ หรือคำจำกัดความคือ “กรอบความคิด” นั่นเอง  โดยอย่าคิดว่ามันเป็นวิกฤตเสมอไป เพราะ “ทุกวิกฤต มีโอกาสเสมอ” เพียงแค่ว่าคุณจะเปิดใจให้โอกาสนี้มากน้อยแค่ไหน? 

เพราะตอนนี้ทั่วโลกเจอผลกระทบเดียวกัน แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะเจอเหตุการณ์นี้ เมื่อเราเจอปัญหานี้พร้อมกัน คนที่หาทางรับมือได้ก่อนคนอื่นนั้นได้เปรียบ เช่นในบางธุรกิจที่ไม่สามารถขายของในห้างสรรพสินค้าได้ ก็นำสินค้ามาไลฟ์ขายผ่าน Social Media เช่นไลฟ์ขายของใน Facebook, Instagram ในราคาลดกระหน่ำ หั่นราคาขาย 20-50% ไปเลย หรือ เกษตรกรบางรายที่ไม่สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ ก็เริ่มต้นขายตรงออนไลน์ในราคาหน้าสวนผ่าน Facebook, Twitter หรือสามารถสั่งออเดอร์ผ่าน Line และส่งของผ่านบริการขนส่งสาธารณะถึงบ้านผู้ซื้อทันที ถึงแม้ว่ากลยุทธนี้อาจจะไม่ได้ทำกำไรได้มากมาย แต่สามารถแก้ปัญหาการระบายของออกจากสต็อกได้ แม้กระทั่งธุรกิจร้านอาหารที่ไม่สามารถให้บริการลูกค้ามานั่งทานที่ร้านได้ ก็ปรับตัวด้วยการขายผ่านทางออนไลน์ และส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าโดยที่ไม่ต้องก้าวออกจากบ้าน

เมื่อคุณปรับ Mindset ของตัวเองได้แล้ว คุณจะมองเห็นโอกาสรอบๆตัวมากขึ้น คุณต้องลองหาจุดแข็งของตัวเองว่าสิ่งนั้นคืออะไร ตอนนี้คุณมีอะไรอยู่ในมือที่จะสามารถใช้ในโอกาสนี้ได้ คุณมี “Skills” อะไรบ้างที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในตอนนี้ 

Skills สำคัญยังไง? 

แน่นอนว่าถ้าคุณไม่มี Skills หรือทักษะ คุณก็จะไม่รู้ว่าจะหาลู่ทางในการหารายได้ได้อย่างไร สำหรับคนที่ไม่มี Skills คุณอาจจะลองค้นหาทักษะจากความสนใจ หรือความชอบส่วนตัวดูก่อน ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายเว็บไซต์ที่เปิดคอร์สสอน Up-Skill ที่เรียนง่ายๆได้ที่บ้านผ่าน Digital Platform ต่างๆ เมื่อคุณหา Skills ของตัวเองเจอแล้ว ก็จะสามารถนำ Skills นี้ไปประกอบอาชีพได้

และแน่นอนช่วงนี้คือโอกาสที่ดีของคุณที่จะได้ฝึก Skills และค้นหาตัวเอง เนื่องจากคุณมีเวลามากขึ้น จงอย่าทิ้งเวลาให้เสียเปล่าเพียงคุณกล้าที่จะออกมาจาก Comfort zone แล้วมองในอีกหลายมุมมองที่คุณไม่เคยมอง และตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย เช่น คุณอยากที่จะเพิ่มทักษะการเขียน Coding มานานแล้ว แต่สมัยก่อนไม่มีเวลา ตอนนี้แหละคือโอกาสของคุณ หรือ ตอนนี้กำลังจะเปลี่ยนงาน แต่คุณมี Skills ทางด้านภาษา อาจจะลองเปิดใจ โพสหางานรับสอนภาษาออนไลน์ในราคาย่อมเยาตาม Social Media หรือ Platform ต่างๆ เช่น เว็บหาฟรีแลนซ์ งานพาร์ทไทม์ แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้ผลตอบรับที่ดีในตอนแรก แต่ลองให้โอกาส ลองท้าทายตัวเอง แล้วเชื่อเถอะว่าเมื่อให้โอกาสตัวเองในมุมมองใหม่ๆ งานใหม่ๆ โอกาสตรงนั้นจะให้ประสบการณ์ที่ดีกับตัวคุณแน่นอน 

สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความรู้ หรือยังค้นหา Skills ของตัวเองไม่เจอ ตอนนี้มีโครงการ “SME ไทยและชาวเน็ตร่วมใจ เรียนด้วยได้บุญด้วย” เป็นโครงการเปิดสอนออนไลน์ โดยเปิดรับบริจาคเริ่มต้นที่ 20 บาท เพื่อนำเงินบริจาคนี้ไปช่วยเหลือและส่งต่อลมหายใจของพี่น้องชาวไทยที่ได้รับผลกระทบกับในสถานการณ์ COVID-19 นี้

โครงการ “SME ไทยและชาวเน็ตร่วมใจ เรียนด้วยได้บุญด้วย” เรียนง่ายๆได้ที่บ้านด้วยระบบ Live streaming ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร Digital Transformation for SMEs (สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ), Programing (สำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มเขียนโปรแกรม ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความต้องการในตลาดสูงมากในเวลานี้) และ Digital Marketing (สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าใจหลักการทำงานของการตลาดดิจิทัล เพื่อการวางกลยุทธ์ของตนเอง หรือเพื่อนำไปใช้ในองค์กร) โดยเราจะมีผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปของเมืองไทยมาให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด 

จึงกล่าวได้ว่าสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้คนหันมาสนใจการบริการผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆมากขึ้น แต่ “วิกฤตก็สามารถสร้างอาชีพได้” หากคุณยอมปรับทัศนคติ หรือปรับตัวต่อเหตุการณ์นั้นๆ และมีทักษะที่จะสามารถประกอบอาชีพได้ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะค้นพบตัวเองในมุมมองใหม่ๆ จากอาชีพใหม่นี้ และมันอาจจะเปลี่ยนอนาคตของคุณไปเลยก็ได้ค่ะ 

ที่มา: www.margetting.com, www.peerpower.co.th, blog.ourgreenfish.com 

SOURCE : www.techsauce.co