ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)
วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล

      ปัจจุบันเรายังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโควิด 19 ได้อย่างชัดเจน ซึ่งแต่ละประเทศก็พยายามที่จะหาทางผลิตวัคซีนที่จะมาใช้ควบคุมอย่างไม่หยุดย่อน ในฐานะที่เป็นนักสาธารณสุขคนหนึ่ง พวกเราถูกสอนให้ตระหนักว่าการป้องกันโรคคือวิธีการควบคุมโรคที่ดีที่สุด ซึ่งวิธีการป้องกันโรคก็สามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบและเนื่องจากสิ่งมีชีวิตและปัจจัยแวดล้อมต่างๆมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกันเป็นห่วงโซ่ การวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อออกแบบกระบวนการควบคุมและป้องกันจึงจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาด้วยกัน มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2019 ชื่อ “One health – Cycling of diverse microbial communities as a connecting force for soil, plant, animal, human and ecosystem health”  โดย Bruggen ได้รวบรวมทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งเรื่องพืช สัตว์ ระบบนิเวศและทางการแพทย์มาทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่ง โดยมีการให้ความหมายของคำว่า One health ในมุมมองที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิม งานวิจัยนี้จึงถือได้ว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ของทุกวงการทั้งวงการแพทย์ สาธารณาสุข เกษตร สัตวแพทย์ ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เพราะโดยปกตินักวิชาการในแต่ละวงการนี้แทบจะไม่เคยเจอกัน จึงหวังว่าผู้ที่ได้อ่านบทความนี้และเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาจะหันหน้ามาคุยและวางระบบร่วมกัน ลองไปศึกษารายละเอียดกันดูนะครับเพราะว่าบทความนี้ จะเป็นพื้นฐานที่จะเอาไปออกแบบระบบการป้องกันโรคที่เกิดขึ้นทั้งในคน สัตว์และพืชอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างมีเหตุและผล

ความหมายใหม่ของคำว่า One health

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นิยามคำว่า สภาวะสุขภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด (One health) มีความหมายครอบคลุมถึงความเชื่อมโยงสภาวะสุขภาพของมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังขาดความชัดเจนเรื่องพืช จุลินทรีย์และดินอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทาง Bruggen และทีมงานมีความเห็นว่านิยามแบบเดิมนั้นไม่ครอบคลุมความเป็นจริงที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของโลกใบนี้แบบครบวงจร จึงได้เสนอใหม่เพื่อให้ครอบคลุมพร้อมมีผลงานวิจัยรองรับในแต่ละส่วนของวงจรชัดเจน

นิยามใหม่ของคำว่า One health ที่เพิ่มเรื่องพืช ดินน้ำและจุลินทรีย์เข้าไปด้วย

จากรูปภาพสามารถได้อธิบายว่าสภาวะสุขภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วย มนุษย์ สัตว์และพืช มีวงจรการทำงานของจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน น้ำและอากาศเป็นตัวเชื่อมโยง ซึ่งถ้าเกิดการรบกวนและเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในวงจรดังกล่าว จะมีผลกระทบกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เหลืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งได้แนะนำว่าวิธีการดูแลสุขภาวะสุขภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดต้องเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพของดินและระบบนิเวศ ผ่านความหลากหลายของพืชและแหล่งน้ำ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้ จากความก้าวหน้าของเครื่องเรียงลำดับสารพันธุกรรมเมื่อไม่เกิน 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราทราบว่าร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยจำนวนเซลทั้งหมด 100 ล้านล้านเซล ซึ่งเป็นเซลของมนุษย์เราเองไม่เกิน 30 ล้านล้านเซล ส่วนจำนวนยีนส์ของมนุษย์เรานั้นมี 23,000 ยีนส์ ในขณะที่จำนวนยีนส์ของจุลินทรีย์ในร่างกายเรามีถึง 20,000,000 ยีนส์ ซึ่งมากกว่าหลายเท่า ที่สำคัญก็คือเรื่องบทบาทของจุลินทรีย์เหล่านั้นกับการทำงานของร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องระบบภูมิคุ้มกันซึ่งค้นพบว่าสารเคมีที่เป็นตัวควบคุมการอักเสบ ควบคุมการย่อยอาหารหรือแม้กระทั่งเกี่ยวกับความเครียดส่วนใหญ่มาจากจุลินทรีย์ทั้งสิ้น ซึ่งระบบทั้งหมดนี้มีวงจรที่เหมือนกับการทำงานของจุลินทรีย์ที่รากพืช ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในดิน ดังนั้นถ้าเราทำให้ดินมีชีวิต มีจำนวนจุลินทรีย์ที่หลากหลาย ก็จะทำให้พืชแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรค เมื่อคนหรือสัตว์บริโภคเข้าไปก็จะเป็นการส่งต่อภูมิต้านทานที่ดีให้กับทั้งคนและสัตว์ต่อไป ดังนั้นการเริ่มต้นจากดินที่มีชีวิต ให้มีความหลากหลายของจุลินทรีย์ในดินจึงเป็นเหตุผลสำคัญของวงจร

อาหารตะวันตกสาเหตุของภูมิต้านทานโรคที่ลดลง

จากการรายงานผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด 19 ในประเทศไทยจะพบว่าส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตมีอาการของโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานร่วมด้วย เพราะในทางการแพทย์แล้วเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าโรคติดต่อไม่เรื้อรังหรือ NCDs ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ จะมีผลต่อการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้โดยตรง ซึ่งเรื่องนี้ Dr. Erica & Dr. Justin Sonnenburg สองสามีภรรยาได้ร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อหาสาเหตุเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ โดยเขียนออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า The good gut โดยได้มีการศึกษาความหลากหลายของจุลินทรีย์ในร่างกายของคนย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่มนุษย์ยังล่าสัตว์เป็นอาหาร จนมาตั้งหลักแหล่งเพื่อทำเกษตรกรรมและจนถึงปัจจุบัน ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

เปรียบเทียบความหลากหลายของจุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ตั้งแต่ยุคล่าสัตว์จนถึงปัจจุบัน (The good gut)

โดยเมื่อเปรียบเทียบวิถีชีวิตย้อนกลับไปมากกว่า 10,000 ปี ตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ยังดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์เป็นอาหาร มนุษย์ได้บริโภคของสดทั้งเนื้อสัตว์และพืช โดยที่ช่วงนั้นเราจะทานผักโดยเฉลี่ย 100-300 กรัมต่อวัน ซึ่งมีผลทำให้มนุษย์ในช่วงนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายของเรามากที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบันสิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือการบริโภคอาหารที่มีปริมาณผักสดที่น้อยลงเหลือแค่ 15 กรัมต่อคนต่อวัน ประกอบกับการบริโภคแป้งและน้ำตาลที่มากขึ้น ทำให้ความหลากหลายของจุลินทรีย์ลดลงอย่างชัดเจนและจากการศึกษาในเชิงลึกที่เปรียบเทียบความหลากหลายของจุลินทรีย์ในระดับของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญอีกเช่นกัน

รูปเปรียบเทียบความหลากหลายของจุลินทรีย์ในร่างกาย

ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในร่างกายครั้งนี้ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าการบริโภคอาหารในรูปแบบดั้งเดิมของแทนซาเนียมีผลทำให้ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์สูงกว่าอเมริกาที่เป็นต้นกำเนิดอาหารสไตล์ตะวันตกอย่างชัดเจน และอาจจะเป็นความบังเอิญก็เป็นไปได้ว่า เมื่อมีการระบาดของ โควิด 19 ที่เป็นเชื้อตัวใหม่ คนอเมริกาที่มีความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่ต่ำ จึงมีการระบาดที่สูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้สามารถอธิบายด้วยเหตุผลทางวิชาการได้ว่า จุลินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์ที่มีอยู่มากกว่า 90 % นั้น ทำหน้าที่ผลิตสารเคมีและสารอาหาร ( Short chain fatty acid) ที่สำคัญที่ทำหน้าที่ในการสร้างภูมิทานให้กับร่างกายของเราเป็นส่วนใหญ่ โดยที่อาหารที่กลุ่มของจุลินทรีย์นี้ชอบคือพวกผักสดและผลไม้ที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่ากลุ่มของพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ดังนั้นการบริโภคแป้งและน้ำตาลมากๆตามสไตล์ตะวันตก จึงทำให้จุลินทรีย์ขาดอาหารและมีผลทำให้สร้างสารอาหารที่เป็นภูมิต้านทานให้กับร่างกายของเราไม่เพียงพอ เมื่อมีเชื้อโรคตัวใหม่ๆเกิดการระบาดขึ้น คนอเมริกาหรือชาวตะวันตกส่วนใหญ่จึงติดเชื้อได้ง่าย เรื่องนี้ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ แต่การเชื่อมโยงครั้งนี้มีเหตุและผลรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งงานวิจัยที่จะต้องการพิสูจน์สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องเป็นการใช้ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายวิชาชีพมาร่วมมือกัน ถึงจะเข้าใจคำตอบที่มีความสลับซับซ้อนอยู่มากพอสมควร อย่างไรก็แล้วแต่ การบริโภคผักและผลไม้สดตามฤดูกาลให้มากขึ้น ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาลเพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค จึงเป็นคำแนะนำที่พวกเราสามารถทำกันได้เลยเพราะว่าความหลากหลายของการบริโภคอาหารมีผลทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นเสมือนกับการสร้างภูมิต้านทานด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องรอวัคซีน

งานวิจัยของ Bruggen และทีมงานที่พยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสภาวะแวดล้อม โดยมีวงจรชีวิตของจุลินทรีย์เป็นตัวเชื่อมโยงที่ทำให้เกิดคำว่า One health ในมิติใหม่ ประกอบกับผลงานของ Drs.Sonnenburg ที่ยืนยันความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่าง พืช จุลินทรีย์และมนุษย์ จึงน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่น่าจะเป็นความหวังของพวกเราได้ในอนาคต

1.5 ภูมิต้านทานของพืชสู่ภูมิต้านทานของมนุษย์และของโลก

ทุกสรรพสิ่งเชื่อมโยง คำนี้ยังเป็นแก่นหลักให้พวกเราได้ค้นหาถึงความลับที่ซ้อนอยู่ต่อไป การเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เป็นภายนอกโดยเปรียบเทียบจากสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยดีแล้วก็เป็นวิธีการหนึ่ง ที่อยากเสนอให้พวกเราได้ช่วยกันสืบค้นกันต่อไป ซึ่งบทความของครั้งที่ผ่านมา ก็ได้เปิดมุมมองเชิงเปรียบเทียบไปแล้ว 4 ด้าน ระหว่างพืชกับมนุษย์ ทั้งในเรื่องของการรู้สึกร้อนหรือหนาว การมีระบบที่สัมพันธ์กับจุลินทรีย์ การที่เราต้องทานอาหารจากธรรมชาติ รวมไปถึงการดูดซึมของรากพืชกับลำไส้ของเรา  ซึ่งทั้ง 4 หัวข้อนั้นเปรียบเสมือนเป็นบทเริ่มต้นให้กับหัวข้อที่ 5 ในเรื่องของภูมิต้านทานเพราะว่าทุกๆส่วนมีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าระบบภูมิคุ้มกันของคนเรามี 2 แบบคือภูมิคุ้มกันที่มีตั้งแต่กำเนิด (Innate immune)กับภูมิคุ้มกันจำเพาะ(วัคซีนโควิด 19 เป็นภูมิคุ้มกันจำเพาะ) โดยที่พืชมีเพียงแค่แบบเดียวคือภูมิคุ้มกันที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งถือว่าเรื่องนี้ยังไม่ใช้ข้อสรุปสุดท้ายเพราะว่าปัจจุบันมีงานวิจัยใหม่ๆที่แสดงให้เห็นว่าพืชอาจจะมีกระบวนการตอบสนองกับเชื้อโรคแบบจำเพาะเจาะจงเหมือนที่มนุษย์ทำได้เหมือนกัน ที่สำคัญก็คือภูมิต้านทานของพืชและมนุษย์มีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกันไปในทิศทางเดียวกัน จากคุณภาพของดินที่เสื่อมโทรมทำให้พืชไม่แข็งแรงจึงต้องใช้สารเคมี และสารเคมีไปรบกวนการดูดซึมสารอาหารที่สำคัญของพืช ทำให้คุณภาพทางโภชนาการของพืชด้อยค่าลง จึงทำให้คนและสัตว์ที่บริโภคพืชเหล่านั้นก็ได้สารอาหารที่จำเป็นน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งมีผลทำให้ภูมิต้านทานโรคที่ลดลงตามไปด้วย โดยในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการที่ด้อยลงไปนั้น มีการจัดทำรายงานของ D.Thomas ในปี 2003 ที่รายงานกับกระทรวงสาธารณสุขถึงคุณค่าทางโภชนาการของพืชผักและเนื้อสัตว์มีปริมาณแร่ธาตุที่ลดน้อยลงเมื่อมีการเปรียบเทียบข้อมูลกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1940-1991 โดยมีรายการหลักๆดังต่อไปนี้

  • ปริมาณทองแดงลดลง 76 %
  • ปริมาณแคลเซียมลดลง 46%
  • ปริมาณเหล็กลดลง 27%
  • ปริมาณแมกนีเซียมลดลง 24%
  • ปริมาณโปแตสเซียมลดลง 16 %

ซึ่งข้อมูลที่ได้เป็นการยืนยันว่าคุณค่าทางโภชนาการลดลงอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าจะเชื่อมโยงวงจรที่เกิดขึ้นกับดินและพืชก่อนที่มาถึงพวกเราก็สามารถแสดงได้ดังนี้

รูปแสดงความเชื่อมโยงระหว่างดิน พืช มนุษย์และการเกิดโรค

จากรูปจะเห็นได้ว่าถ้าเราเริ่มแก้ไขและปรับปรุงตั้งแต่แก้ไขปัญหาเรื่องดินและทำให้พืชแข็งแรงมีภูมิต้านทานที่ดี ก็จะเป็นวิธีการในการสร้างภูมิต้านทานให้กับพวกเราได้อีกวิธี ซึ่งวิธีการทั้งหมดจะอยู่ในการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ ติดตามกันต่อไป

ส่วนวิธีการสร้างภูมิต้านทานด้วยตัวเองแบบง่ายสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  1. ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล
  2. ทานอาหารพรีไบโอติก (กากอาหารสูง) และโปรไบโอติกให้สมดุล
  3. หลีกเลี่ยงยาปฏิชีวนะ
  4. ทานผักและผลไม้ตามฤดูกาล โดยให้มีความหลากหลายชนิดอย่างน้อย 30 ชนิดต่อสัปดาห์
  5. หาเวลาดื่มด่ำกับธรรมชาติ สวนสาธารณะ ภูเขา น้ำตก ทะเลเป็นต้น
  6. ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

โดยทุกหัวข้อล้วนมีผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายเราทั้งสิ้น ซึ่งถ้าสามารถทำได้ครบตามนี้ จะทำให้ภูมิต้านทานของเราเกิดการสมดุลและพร้อมที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่จะมารบกวนไปอีกนาน

การเปรียบเทียบศักยภาพของพืชกับมนุษย์ ผ่านกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์ครั้งนี้ อยากให้พวกเราปรับเปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับพืชในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม หยุดการใช้วิชาความรู้ที่สั่งสอนกันมา แล้วหันมาใช้จิตวิญญาณในการรับรู้และยอมรับพืชในแบบฉบับที่พืชเป็น ซึ่งเราเพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่นานมานี้เอง มาช่วยกันค้นหาความลับนี้กันต่อไปนะครับ