ย้อนกลับไปเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ประมาณเดือนมกราคม 2563 คนไทยได้รู้จักกับโรคระบาดตัวใหม่ “ไวรัสอู่ฮั่น” เป็นที่ทราบกันดีว่าความร้ายแรงของไวรัสอู่ฮั่นคือการระบาดอย่างรวดเร็วและติดต่อกันแบบไม่รู้ตัว แต่เพียงเวลาไม่นานในวันที่ 28 มกราคม 2563 ประเทศไทยกลายเป็นประเทศอันดับ 2 ที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่นรองจากจีน ณ วันนั้นทั่วโลกจับตามองเอเชีย โดยเฉพาะจีนและไทยว่าจะมีประสิทธิภาพต่อการรับมือได้มากน้อยเพียงใด ขณะนี้เวลาผ่านมาเกือบ 4 เดือน หรือหากนับกันจริงๆตั้งแต่ช่วงที่เป็นจุดพีคที่สุดของประเทศไทยคือกลางเดือนมีนาคม ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 100 คน ประเทศไทยรับมือกับไวรัสอู่ฮั่น (Covid-19) ด้วยระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนด้วยซ้ำ และนี่คือลำดับ Timeline สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยรับมือกับ Covid-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆของโลก

มกราคม: ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก

               ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงเป็นอันดับต้นๆจาก 30 ประเทศที่มีความเสี่ยงจาก Covid-19 เนื่องจากประเทศไทยรับนักเดินทางจากประเทศจีนเป็นอันดับที่ 1 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามากว่า 1,030,148 คนในเดือนมกราคม 2563 (ข้อมูลจาก กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา) หลังจากนั้นไม่นานไทยเป็นประเทศแรก (ไม่รวมจีน) ที่มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโคโรน่าและเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน

               ทางรัฐบาลได้ยกระดับยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเป็นระดับ 3 เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาด covid-19 ครั้งใหญ่นี้

กุมภาพันธ์: เพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองสนามบินมากขึ้น

               ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นระยะเวลาเริ่มต้นของประเทศไทย ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็นชาวต่างชาติหรือผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ไทยเป็นประเทศอันดับ 4 ที่มีผู้ป่วย Covid-19 ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของการตรวจพบผู้ป่วยนอกประเทศจีน ทำให้ประเทศอื่นๆเริ่มตื่นตัวในการตรวจที่เร็วขึ้น

               12 กุมภาพันธ์ มีการเฝ้าระวังมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมไป ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และภูเก็ต 

               29 กุมภาพันธ์ มีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ของประเทศไทย

               นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ เราเริ่มได้เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทยมากขึ้น จากการที่กระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคออกมาให้ความรู้เรื่องการป้องกันตัวเองจาก Covid-19 ทำให้ “หน้ากากอนามัย” และ “เจลล้างมือ” กลายเป็นของจำเป็นที่ต้องพกทุกครั้งที่ออกจากบ้าน 

มีนาคม: จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย

               เรียกว่าเดือนมีนาคมคือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เพราะเป็นเดือนที่ พบผู้เสียชีวิตรายแรก, รับแรงงานผิดกฎหมายจากเกาหลีกลับมาไทย, พบ Super Spreader จากสนามมวยลุมพินี ทำให้ในเดือนมีนาคมมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ยวันละ 20% และหากไทยปล่อยให้ผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 20% แบบนี้ไปเรื่อยๆ ภายใน 30 วันประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อทั้งหมดกว่า 22,000 คน และในวันนี้ (30 เมษายน 2563) ประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 3,000 คนด้วยซ้ำ เราผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร?

               1-15 มีนาคม เป็นช่วงที่ค้นพบผู้ป่วยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆและเป็นช่วงตื่นตระหนกของคนไทยก็ว่าได้ เราพบผู้เสียชีวิตรายแรกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม หลังจากนั้นไม่นานเหตุการณ์ที่พลิกตัวเลขผู้ติดเชื่อจากหลักสิบสู่หลักร้อย เมื่อพบ Super Spreader ขนาดใหญ่อย่างสนามมวยลุมพินี จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยานเข้าสู่หลักพันอย่างรวดเร็ว เราพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 20-30% และในวันที่ 15 มีนาคมเรามีผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย และนั่นก็ทำให้ไทยกลายเป็นที่จับตาอีกครั้ง

               16-31 มีนาคม ภาครัฐออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดตัวเลขผู้ติดเชื้อในเหลือน้อยที่สุด มีการประกาศเลื่อนวันสงกรานต์อันเป็นปีใหม่ไทยออกไป เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ มีการปิดห้างร้านและสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก และในวันที่ 22 มีนาคม นายกรัฐมนตรีประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการระบาด covid-19 ไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้

               นอกจากนี้มีการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดด้วยการตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัดดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด เพื่อจัดระเบียบการเดินทางการจราจร สังเกตผู้เดินทางและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรคที่จะทำให้เกิดการกระจายโรคข้ามจังหวัดได้

               #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ คือแคมเปญที่รณรงค์ให้คนไทยทุกคนอยู่กับบ้าน เพื่อหยุดการแพร่เชื้อซึ่งกันและกัน เราได้เห็นภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจเข้ามามีบทบาทเพื่อส่งเสริมให้คนอยู่บ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ใช้ Internet ฟรี 10GB เพื่อสนับสนุนให้คน Work From Home, การไฟฟ้าและการประปาช่วยลดค่าน้ำและค่าไฟ เพื่อแบ่งเบาภาระของคนที่ต้องอยู่บ้าน 24 ชม. และภาคเอกชนอีกมากที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤติเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Realtime Map เพื่อ track ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย, การปรับจากธุรกิจโรงแรมเป็นโรงพยาบาลภาคสนามเพื่อเพิ่มการรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น และการบริจาคอุปกรณ์การแพทย์เพื่อเสริมกำลังให้แพทย์พร้อมรับมือกับไวรัส covid-19 ได้ดียิ่งขึ้น

เมษายน: ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากอันดับ 2 ถอยมาสู่อันดับ 59 ภายในเวลา 2 เดือน

               ในเดือนเมษายนสถานการณ์ในไทยเริ่มเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เรามียอดผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันประมาณ 100 ต้นๆ และบางวันก็ไม่ถึง 100 แต่ประเทศไทยยังคงไม่วางใจกับเรื่องนี้ ในวันที่ 3 เมษายน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) มีการประกาศยกเลิกเที่ยวบินขาเข้าประเทศทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการระงับการติดเชื้อข้ามประเทศ ในวันที่ 9 เมษายน มีการประกาศงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ทั่วประเทศ เพื่อระงับการสังสรรค์ชุมนุมต่างๆที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และจากมาตรการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย วันที่ 11 เมษายนเรามีผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 50 คนต่อวัน และวันที่ 27 เมษายน เราสามารถควบคุมผู้ติดเชื้อใหม่จนเหลือต่ำกว่า 10 คนต่อวันแล้ว

               ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมดไม่ถึง 3,000 คน (30 เมษายน 2563) จากวันแรกที่เราเป็นประเทศเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 2 มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะถึงหลักหมื่นอย่างรวดเร็วหากเราไม่ทำอะไรซักอย่าง ด้วยมาตรการอันเข้มงวดและความมีวินัยของคนไทยที่ให้ความร่วมมือทุกอย่างเป็นอย่างดี วันนี้เรากลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 59 จากทั่วโลก จากอันดับ 2 เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ในตอนนี้ไทยยังไม่ได้ปลด lockdown ประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ยังคงผ่อนปรนเป็นบางส่วนเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากขึ้น เพราะเรามีบทเรียนจากประเทศอื่นๆที่เกิดการระบาดรอบ 2 และนี่เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ได้ดีเป็นอันดับต้นๆของโลก