ในสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายทำให้ห้างร้านส่วนใหญ่ต้องปิดชั่วคราว ผู้คนส่วนใหญ่ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านและ Work from Home เพื่อช่วยบรรเทาการแพร่ระบาดของไวรัส แน่นอนว่าการที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างกะทันหัน ความกังวลใจในสถานการณ์ระบาดในปัจจุบัน ความไม่แน่ใจในสิ่งที่จะเกิดต่อไปในอนาคต ล้วนส่งผลให้เราทุกคนเกิดความตึงเครียดและนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้ความเจ็บป่วยจากไวรัสเลยทีเดียว แนะนำแนวทางที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาให้กับชีวิตคู่ในช่วงโควิด   

1. พูดคุยตกลงเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบในบ้านให้ชัดเจน

ด้วยความที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันอย่างกะทันหันต้องอยู่บ้านทั้งวัน สามีภรรยาก็ต้องเปลี่ยนมารับบทบาท ทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งทำงาน Work From Home ทำงานบ้าน ดูแลลูก และการที่เด็กๆ ไม่ได้ออกไปข้างนอกเลยก็ยิ่งทำให้หงุดหงิดดื้อซนดูแลยากขึ้นไปอีก ดังนั้นการพูดคุยทำความเข้าใจตกลงแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ ในบ้านให้ชัดเจน เช่นใครมีหน้าที่ทำงานบ้าน ใครมีหน้าที่ทำกับข้าว ใครจะ Work from Home ช่วงกี่โมงแล้วจะสลับเวลาดูแลลูกช่วงไหน ฯลฯ จึงสำคัญอย่างมาก แม้ในสถานการณ์ปกติการตกลงแบ่งหน้าที่ในบ้านก็สำคัญอยู่แล้ว แต่ในช่วงเวลาไม่ปกติที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด ความเหน็ดเหนื่อยจากภาระหน้าที่หลายอย่างถาโถมเข้ามาพร้อมกัน และการที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา มีผลอย่างมากต่ออารมณ์เปราะบางของสามีภรรยาที่พร้อมจะระเบิดใส่กันแม้จะมีเรื่องหงุดหงิดจิตใจกันเพียงนิดเดียว การคุยทำความตกลงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนและทำตามที่คุยกันไว้จะช่วยลดโอกาสการกระทบกระทั่งได้

2. ให้แต่ละคนมีเวลาส่วนตัว

จากปกติที่ได้ออกไปทำงานนอกบ้านได้พบปะคนอื่นบ้างอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน กลายมาเป็นว่าต้องมาอยู่ในบ้านตลอด ยิ่งถ้าบ้านไม่ได้กว้างมากก็เหมือนกับว่าต้องตัวติดกันตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้ต่างฝ่ายเกิดอาการหงุดหงิดจากพื้นที่และเวลาส่วนตัวหายไป ด้วยเหตุผลนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จึงแนะนำให้สามีภรรยามีเวลาส่วนตัวให้ตัวเองและอีกฝ่ายเคารพเวลาส่วนตัวนั้น การใช้เวลาส่วนตัวเพียง 5-10 นาทีในแต่ละวันที่มุมเงียบๆ ในบ้านจะช่วยให้แต่ละฝ่ายได้ปลดปล่อยจากความเครียด ปรับสมดุลอารมณ์ เพื่อกลับมาจัดการกับชีวิตประจำวันต่อไป 

3. สร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน

ท่ามกลางข่าวสารที่ตึงเครียด สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือการจำกัดการรับรู้ข่าวสารที่ส่งผลลบต่ออารมณ์คนในบ้าน ยิ่งถ้าครอบครัวไหนมีลูก การที่เด็กเห็นพ่อแม่ดูข่าวหน้าเครียดตลอดเวลาจะส่งผลให้เขารู้สึกกังวลใจไปด้วย แทนที่จะมัวแต่ติดตามข่าวทั้งวัน ลองหาเวลาว่างทำสิ่งแปลกใหม่ให้บรรยากาศในบ้านสดใส เช่น เปิดเพลงที่เราทั้งคู่ชื่นชอบ ดูหนังเรื่องที่เคยไปดูด้วยกันตอนเดทครั้งแรก เปิดดูรูปภาพสมัยยังเป็นแฟนกัน ฯลฯ เพราะบรรยากาศที่ดีในบ้านจะช่วยให้อารมณ์ของสมาชิกในบ้านสดชื่น ลดอารมณ์ขุ่นมัวที่จะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง  

4. ขอบคุณสิ่งดีๆ ที่มีให้กัน 

ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่ต้องเผชิญภัยจากสิ่งที่มองไม่เห็น และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน ความตื่นตระหนกอาจทำให้เราขาดสติจนเผลอพูดจาไม่เป็นที่สบอารมณ์ของอีกฝ่าย แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ลองมาปรับจิตใจให้เย็นลงและหันมาใส่ใจรายละเอียดข้อดีเล็กๆ น้อยๆ ในตัวคู่ของเราที่อาจเคยมองข้ามเพราะความเคยชิน เช่น ฝีมือชงกาแฟอร่อย สกิลการทำความสะอาดทุกซอกทุกมุมในบ้าน ความใส่ใจตรวจดูกลอนประตูบ้านทุกคืน ฯลฯ การกลับมามองและเอ่ยคำขอบคุณในสิ่งดีๆ ที่ทั้งสองฝ่ายทำให้แก่กันแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่สร้างกำลังใจให้อีกฝ่ายได้อย่างมากและนำไปสู่ชีวิตคู่ที่มีความสัมพันธ์อันดีในระยะยาว

อ้างอิง

www.time.com
www.edition.cnn.com
www.abc.net.au

SOURCE : www.scb.co.th