ถอดแนวทางป้องกัน โควิดในแคมป์คนงาน

            การแพร่ระบาดของ โควิด19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่สำคัญ ที่ต้องหาแนวทางเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพราะเป็นการอยู่อาศัยรวมกันของคนจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ เพราะหากติดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ โดยกว่า 20% ของแรงงานข้ามชาติ อยู่ในภาคก่อสร้าง ดังนั้นทั้งภาครัฐ-เอกชน จึงต้องเร่งหาแนวทางจัดการควบคุมไม่ให้ โควิด 19 เข้าไปแพร่ระบาด

            ในงานเสวนาออนไลน์ “มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม EP1 ” จัดโดย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแชร์มุมมองเพื่อเร่งป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ไปยังแคมป์คนงานก่อสร้าง

            พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล แพทย์นักระบาดวิทยาภาคสนาม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขมาต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีจุดอ่อนด้านการลงทุนทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือชีววิทยา ซึ่งการระบาดรอบ 2 ในสมุทรสาคร กระทรวงสาธารณสุข ได้นำมาตรการ Bubble & Seal มาใช้ควบคุม ซึ่งใช้ทั้งในโรงงานและแหล่งชุมชน โดยจำกัดด้านการเดินทาง การใช้ชีวิต เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

            ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้มีการเตรียมการควบคุมในแคมป์คนงานก่อสร้าง ตั้งแต่โควิดระลอกแรก โดยอุตฯก่อสร้าง มีจุดแข็ง คือ ส่วนใหญ่ป็นคนในวัยแรงงาน สุขภาพแข็งแรง มีกลไกการทำงานและใช้ชีวิตอย่างเป็นระบบ รวมถึงองค์กรยังมีมาตรการลงโทษ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง แต่ก็ยังมีจุดตาย จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแรงงาน ที่มักจะเกิดในช่วงพักทานอาหาร การกินเลี้ยงหลังเลิกงาน จุดสูบบุหรี่ ห้องน้ำ และบ้านพัก รวมถึงการเข้าออกของคนภายนอกภายในแคมป์คนงาน

            ทั้งนี้จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมในแคมป์อย่างชัดเจน อาทิ ห้ามออกจากที่พักหลังเวลาที่กำหนด เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ ได้ทันเวลา

            อย่างไรก็ดีกรมควบคุมโรค ได้มีแนวทางในการจัดการพื้นที่เสี่ยง โดยจัดให้มีการสุ่มตรวจกลุ่มเสี่ยง จำนวน 100 คน ระยะห่างประมาณ 1-2 สัปดาห์ ต่อครั้ง รวมถึงแนะแนวทางการนำ มาตรการ Bubble & Seal มาใช้ในแคมป์คนงาน ซึ่งพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น และพบผลบวกมากกว่า 5% ก็อาจมีการผสานแนวทางระหว่างการตรวจย่อยแบบ Bubble & Seal รวมถึงการปรับรูปแบบป้องกันโรคแบบ Bubble & Seal ที่แยกการอยู่อาศัยเป็นครอบครัว งดการเชื่อมต่อกับครอบครัวอื่น ซึ่งหากทำได้ก็จะช่วยให้การใช้ชีวิตผ่อนคลายขึ้น มีความเสี่ยงแพร่เชื้อสู่คนหมู่มากได้ลดลง ควบคุมการติดเชื้ออยู่ภายใน Bubble & Seal เหล่านี้เป็นแนวทางที่อยากให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง นำไปปรับใช้ และทดลองทำร่วมกัน โดยแบ่งแยกคนงานออกเป็นกลุ่มย่อย อาทิ แบ่งโซนที่พัก, แผนกทำงาน เป็นต้น 

ปรับแผนรองรับการแพร่ระบาดในกลุ่ม “แคมป์คนงานก่อสร้าง”

            นายอดิศร เกิดมงคล : ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) กล่าวว่า ภาพรวมแรงงานข้ามชาติอยู่ในธุรกิจก่อสร้างกว่า 20% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด โดยปัจจุบันตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ป่วยโควิด 19 รวม 3 รอบ ณ วันที่ 19 พ.ค. 64 มีจำนวนกว่า 116,951 คน

            ทั้งนี้ภาพรวมแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กทม-ปริมณฑล รวม 1.1 ล้านคน ซึ่งปัญหาสำคัญของการโควิด 19 แพร่ระบาด ในแคมป์คนงาน ในรอบ 3 นี้ เกิดจาก 5 ประเด็น คือ

แรงงานเข้าไม่ถึงระบบการดูแล ทั้งการกักตัว ส่งต่อพักฟื้น

เข้าไม่ถึงการสื่อสาร เห็นได้จากช่วงโควิด ที่ จ. สมุทรสาคร เพราะแรงงานส่วนใหญ่ในระบบโทรศัพท์ระบบเติมเงิน ทำให้ในช่วงการถูกกักตัวไม่ได้มีการเติมเงิน และไม่สามารถโทรออกมาสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ ทำให้เป็นโจทย์ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาอีกด้าน

ถูกตีตรา ขาดความหวัง แรงงานถูกตีตราว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคม ทำให้ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล

ปัญหาพื้นฐานในการดำเนินชีวิต จากการที่ถูกเจ้าของหอพักขับไล่ ทำให้ต้องไปอยู่รวมกับเพื่อนในพื้นที่อื่นๆ ญาติพี่น้อง ทำให้โรคกระจายไปสู่วงกว้างได้ง่าย

สถานะทางกฎหมาย เป็นปัญหาสำคัญที่แรงงานไม่มีเอกสาร หรือหลุดจากระบบการทำงาน ทั้งนี้ในช่วงการควบคุมโรคในแคมป์แรงงานก่อสร้างก็อาจจะต้องมาดูอีกครั้งว่าจะมีการแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง

            ทั้งนี้ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนสังคมด้านแรงงานข้ามชาติ ได้เริ่มวิธีดำเนินการในช่วงที่โควิด19 ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยจัดทำข้อมูลเผยแพร่ภาษาถิ่น ให้คนงานข้ามชาติเข้าใจได้, ความช่วยเหลือพื้นฐาน ด้านอาหาร-อุปกรณ์ป้องกันโรค, สนับสนุนให้เข้าถึงการบริการภาครัฐ อาทิ การรับรักษาพยาบาล-รับเงินชดเชย, สนับสนุนการทำงานภาครัฐ โดยหาล่ามให้ศูนย์คัดกรองของภาครัฐ ทำงานควบคู่กับอาสาสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) เพื่อช่วยสื่อสารตรวจคัดกรอง สร้างความเข้าใจในชุมชนมากขึ้น และการผลักดันนโยบายความไม่ชัดเจนในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น

            อย่างไรก็ดีในพื้นที่ กทม. ต้องเฝ้าระวัง “ตลาด” เป็นคลัสเตอร์ใหม่ อาทิ ตลาดคลองเตย, ประตูน้ำ, มหานาค-โบ๊เบ๊, บางกะปิ, ดินแดง-ห้วยขวาง, สะพานใหม่, พระโขนง, มีนบุรี ซึ่งเป็นตลาดที่มีแรงงานข้ามชาติเข้าไปทำงานและจับจ่ายซื้อสินค้า และยังเป็นจุดส่งต่อสินค้าของพ่อค้า-แม่ค้า รถเร่ที่เข้าไปขายของในแคมป์คนงานก่อสร้าง

 

บทเรียนจากการใช้มาตรการ Bubble & Seal ใน จ. สมุทรสาคร จะเอามาใช้ได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องนำมาปรับวิธีการจัดการแรงงานให้เกิดกลไกที่เหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้เชื่อว่าการไม่เคลื่อนย้านแรงงาน จะเป็นแนวทางสำคัญในการควบคุมโรคที่ได้ผลดีระดับหนึ่ง

จัดการแคมป์คนงานให้ปลอดภัย รับมือโควิด 19

            ดร. อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณะสุข ผู้ทรงคุณวุฒิกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การป้องกันการแพร่ระบาดจากโควิด 19 คนงานก่อสร้างจำเป็นจะต้องเริ่มปรับจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตดั้งเดิม ซึ่งหากมีการนำมาตรการ Bubble & Seal  มาใช้แล้ว ก็อาจจะต้องปรับแคมป์คนงานก่อสร้างให้มีมาตรการที่เพิ่มขึ้น  3 ส่วนใหญ่ คือ การกิน, ที่อยู่อาศัยและการเดินทาง

            เริ่มจากความเป็นอยู่ อาทิ การปรับพฤติกรรมการกิน โดยสื่อสารสื่อความรู้ และข้อมูลข่าวสาร ด้วยภาษาที่คนงานสามารถเข้าใจได้ ให้เข้าใจถึงเรื่องความสะอาด ต้องมีการแยกการกินอาหาร

            ด้านการอยู่อาศัย จำเป็นต้องจัดการห้องน้ำ – ห้องส้วมให้ถูกสุขลักษณะ เพียงพอ โดยต้องเร่งทำความสะอาด เพิ่มความสะอาดให้น้ำดื่ม - น้ำใช้ รวมถึงการป้องกันความสะอาดในจุดสัมผัสต่างๆ เพิ่มอ่างล้างมือ-สบู่ล้างมือ เพื่อให้แรงงานใช้ล้างมือให้สะอาด ก่อนทำอาหาร ทานอาหาร

            และการเดินทางขนส่งระหว่างที่พัก-ที่ทำงาน เพราะหากมีการนำมาตรการ Bubble & Seal  มาใช้แล้ว ก็อาจจะขอให้แรงงานลดการพูดคุยระหว่างการเดินทาง เช่น จำกัดจำนวนคนในรถรับ-ส่ง ไม่ให้แออัด

สมาคมอสังหาฯ เร่งหาแนวทางช่วยผู้รับเหมา ป้องกันโควิด 19 ในแคมป์ก่อสร้างที่อยู่อาศัย

            นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของ โควิด 19 เป็นเรื่องที่สมาคมให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในช่วงนี้ เพราะทั้งผู้ประกอบการและผู้รับเหมาก่อสร้างมีความกังวล หากมีการแพร่ระบาดลงสู่แคมป์คนงานก่อสร้างโครงการอสังหาฯ จะสร้างผลกระทบต่อวงจรธุรกิจซ้ำเติมลงไปอีก

            ดังนั้นในงานเสวนาครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัย ถึงแนวทางการป้องกันโรค ที่ทางธุรกิจอสังหาฯจะนำไปปรับใช้ แม้ปัจจุบันแคมป์แรงงานก่อสร้างธุรกิจอสังหาฯยังไม่มีการติดเชื้อ แต่ก็ต้องเร่งหาแนวทางป้องกันโดยบริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯ พร้อมร่วมลงทุนให้กับผู้รับเหมาในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในแคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมโรคระบาด ไม่ให้เกิดเป็นเชื้อกลายพันธุ์ใหม่