พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้ “อีคอมเมิร์ซ” (E-Commerce) ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นโอกาสในท่ามกลางวิกฤตที่ทุกธุรกิจต้องรีบคว้าเอาไว้

            ข้อมูลจาก Priceza พบว่า ในปี 2563 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตสูงถึง 81% มูลค่า 294,000 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 220,000 ล้านบาท สะท้อนว่าการซื้อสินค้าออนไลน์คือคำตอบของผู้บริโภคในยุควิถีชีวิตใหม่ และจะเป็นทางรอดสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรวมถึงเอสเอ็มอี ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ 

            ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ถือเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย มีสัดส่วนต่อจีดีพีมากกว่า 30-40% และในช่วงที่ผ่านธุรกิจ SMEs ก็ได้รับผลกระทบหนัก จากมาตรการล็อกดาวน์, งดการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแต่ในบ้าน และลดการใช้จ่ายลง

            แน่นอนว่า “อีคอมเมิร์ซ” (E-Commerce) จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ ให้ธุรกิจ SMEs ปรับช่องทางมาทำขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มากขึ้น โดยเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยนั้นมีหลากหลายแนวทาง ซึ่งการมี เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เปรียบเสมือนหน้าร้านออนไลน์ ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมไว้ได้แม้อยู่ในท่ามกลางวิกฤต พร้อมช่วยให้การใช้งบเป็นไปอย่างคุ้มค่า และสามารถปรับขนาดการใช้งบได้ตามความต้องการของธุรกิจเอง

            ปัจจุบันการสร้างร้านค้าออนไลน์สามารถทำได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อน และยังมีบริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซได้รวดเร็วซึ่งโดยทั่วไปกระบวนการสร้างร้านค้าออนไลน์จะประกอบด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้

1. เลือกผู้ช่วยสร้างเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ

2. หากยังไม่มีเว็บไซต์ ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกชื่อโดเมน ซึ่งควรเป็นชื่อธุรกิจหรือที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

3. เลือกธีม หรือ รูปลักษณ์โดยรวมของเว็บไซต์

4. สร้างหน้าสำหรับสินค้า จัดเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจน พร้อมคำอธิบายเกี่ยวกับตัวสินค้านั้น ๆ รวมถึงการใช้ภาพถ่ายผลิตภัณฑ์อย่างมืออาชีพ

5. นอกจากหน้าสำหรับผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีหน้าอื่น ๆ ที่สำคัญด้วยเช่นกัน คือหน้าแรก หน้าเกี่ยวกับเรา และหน้าสำหรับช่องทางการติดต่อ

6. ตั้งค่าการชำระเงิน หรือขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้า รวมถึงข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับบัญชีธนาคารเพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถส่งเงินให้ได้

7. ซื้อใบรับรอง SSL ซึ่งเปรียบเสมือนบัตรประจำตัวประชาชนออนไลน์ที่ระบุว่า เว็บไซต์นี้ปลอดภัยจากภัยคุกคาม เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าจะมีความปลอดภัยสูงสุด

8. เปิดตัวร้านค้าอีคอมเมิร์ซ โดยเมื่อทำตามขั้นตอนต่าง ๆ เสร็จสิ้นแล้ว ก็สามารถนำเสนอร้านค้าออกสู่สาธารณะได้ ตลอดจนการโปรโมทสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้า

 

 

            “อีคอมเมิร์ซ” จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่ดีที่สุดในเวลานี้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องเร่งเข้าไปจับจองพื้นที่ในตลาดออนไลน์ที่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทุกขนาด ไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจเติบโตในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังไม่รู้ว่าจะลากยาวไปอีกนานเพียงใดเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันในอนาคตที่โลกธุรกิจกับโลกเทคโนโลยีรวมเข้าไปเป็นเรื่องเดียวกัน