ในช่วงการเกิดสาธารณภัย หรือโรคระบาด สินค้าที่ที่เป็นที่ต้องการจำนวนมาก คือ อาหารแปรรูปและอาหารแห้ง ที่เก็บได้นาน ทานได้ทันที ซึ่งตอนนี้ต้องยอมรับว่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศฝั่งยุโรปได้สั่งประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน ทำให้ความต้องการอาหารมีมากขึ้น

        จากข้อมูล พบว่า ปัจจุบันไทยมีอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มกว่า 50,000 โรงงาน สามารถผลิตรองรับประชากรได้กว่า 100 ล้านคน/ปี เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีกำลังการผลิต 10 ล้านซอง/วัน และสามารถเพิ่มได้ถึง 15 ล้านซอง/วัน ปลากระป๋องผลิตได้กว่า 22,000 ตัน/เดือน และน้ำดื่มผลิตได้กว่า 400 ล้านลิตร/เดือน

        ซึ่งไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิต ที่มีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานได้เอง ต่างจากหลายประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้า ทำให้ในสถานการณ์เช่นนี้ ไทยจึงมีโอกาสด้านการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรมากขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ ชี้ “อาหาร-สินค้าเกษตร” พลิกวิกฤติส่งออกให้กลับมาเป็นโอกาสอีกครั้ง

        น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) บอกว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 แนวโน้มการส่งออกของไทยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในหลายตลาด เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ที่ยังมีความต้องการสูง มีโอกาสเติบโตได้ในตลาดโลก โดย สนค. ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าที่มีการเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการสูง ในช่วงที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ได้แก่

อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ตลาดสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และจีน

เช่นเดียวกับ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ที่มีการเติบโตดี อาทิ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และ 6 ตามลำดับ โดยเฉพาะในตลาดจีน สหรัฐฯ ตุรกี และเกาหลีใต้

          ขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรม ที่มีแนวโน้มการส่งออกเติบโตดี อาทิ เครื่องยนต์สันดาปฯ และส่วนประกอบรถยนต์ Tier 2 และ 3, ถุงมือยาง เติบโตกว่าร้อยละ 180 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจากการระบาดของไวรัสโควิด 19, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง การส่งออกเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แสดงให้เห็นว่าผลของสงครามการค้าได้ลดลงแล้ว และเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย

           ทั้งนี้สถานการณ์การระบาดของไวรัสในจีนที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้การส่งออกของไทยอาจกลับมาขยายตัวช่วงปลายไตรมาส 2 สินค้าหลักที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มได้หลังจากนี้ ได้แก่ สินค้าอาหาร เช่น ข้าว ผักผลไม้ มันสำปะหลัง ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร ผู้บริโภคจีนยังมีกำลังซื้อเหลืออยู่มากประกอบกับเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว จึงคาดว่าจะมีความต้องการสินค้าอีกมาก ส่วนสถานการณ์การระบาดของยุโรปกลับทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในอิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร แต่ในระยะสั้นพบว่าการนำเข้าสินค้าและภาคการขนส่งยังสามารถดำเนินการได้เป็นปกติ และคาดว่าสินค้าอาหารและเวชภัณฑ์จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในยุโรปในช่วงถัดไป

จึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการสินค้าอาหาร เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูปหรือปรุงสำเร็จ จะช่วยให้สามารถเจาะตลาดคู่ค้าง่ายขึ้นในช่วงที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน โดยอาศัยความได้เปรียบจากการที่สินค้าอาหารจากไทยมีชื่อเสียง และได้รับความเชื่อถือเรื่องความปลอดภัย และมีมาตรฐานการรับรองจากหน่วยงานในระดับสากล

“อิตาลี” ตุนปลากระป๋อง

        สอดคล้องกับผู้ประกอบการ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ที่แพร่ไปทั่วโลก ทำให้ประชาชนต้องการสำรองอาหารไว้รับประทานภายในบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะ อิตาลีและสหรัฐฯ ส่งผลให้ TU ซึ่งผลิตและส่งออกสินค้าปลากระป๋องแบรนด์มาริบลู ไปจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรปมียอดขายเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าไวรัส โควิด 19 คงไม่กระทบอุตสาหกรรมเรามากนัก เพราะธุรกิจอาหารยังมีความจำเป็น ขณะนี้ตลาดส่งออกแบ่งเป็น อเมริกาเหนือ 41% ยุโรป 28% ไทย 12% ส่วนตลาดอื่น ๆ ซึ่งจะรวมตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาใต้ คิดเป็น 19%

ข้าวสารขายดี

       ด้านนายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บจ.เอเซีย โกลเด้นไรซ์ บอกว่า ขณะนี้ความต้องการข้าวในตลาดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะตลาดฮ่องกง คาดว่าจะเพิ่มมากถึง 15% เนื่องจากประชาชนถูกกักบริเวณให้ใช้ชีวิตในบ้าน ออกมาจับจ่ายได้ยาก ภัตตาคาร ร้านอาหารหยุดเกือบหมด จึงต้องซื้อข้าวไปสต๊อก ทั้งนี้ปกติข้าวจากไทยจะส่งไปจีนผ่านทางเสิ่นเจิ้นและกว่างโจวเป็นหลัก ตอนนี้ยังสามารถส่งออกได้ ส่วนความต้องการนำเข้าข้าวจะมีมากขึ้นเพียงใด ต้องประเมินอีกระยะหนึ่ง เพราะขณะนี้ไทยประสบปัญหาภัยแล้งผลผลิตลดลง

ที่สหรัฐฯ ข้าวไทยขึ้นราคา 15-20%

          สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ลอสแองเจลีสสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิดในสหรัฐเริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มแห่ซื้อสินค้าเก็บตุนมากขึ้น อาทิ อาหารกระป๋อง ข้าวสาร น้ำดื่ม ทิสชู อุปกรณ์ทำความสะอาด เจลล้างมือ ส่งผลให้ข้าวไทยที่ขายให้ห้างปรับราคาสูงขึ้น 15-20% และสต๊อกเริ่มหมดแล้ว คาดว่าจะเห็นตัวเลขการส่งออกข้าวในไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้น หากการขนส่งไม่มีปัญหา แต่ต้องระวังหากราคาสูงเกินไปผู้นำจะเข้าหันไปซื้อคู่แข่งแทน ประเมินว่าการส่งออกข้าวไปสหรัฐจะขยายตัว 3%

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์