รัฐบาลเตรียมทางออกอัดเงินสู่ระบบ โดยกระทรวงการคลังศึกษา ออกกองทุน TFF เพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงที่งบประมาณปี 63 ยังใช้ไม่ได้

       นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน “Post Today Economic Forum 2020” ว่า ตอนนี้ไทยกำลังเผชิญมรสุมหลายลูก ทำให้เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกชะลอตัว ส่งผลให้อัตราการเติบ โตของเศรษฐกิจปีที่แล้วและปีนี้ขยายตัวเป็นบวกก็จริง แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดภาวะชะลอตัวคือ ปัญหาการเมือง ต่อเนื่องมาถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ปัญหาเงินบาทแข็งค่า และล่าสุดไข้หวัดจากไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด  ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งเฉย ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทย รวมถึงครม.เศรษฐกิจ ยังเห็นชอบในหลักการเพิ่มค่าลดหย่อนจากการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ ได้ 2.5 เท่า เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยลงทุนมากขึ้น

       โดยสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการขณะนี้คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถเดินต่อไปได้ พยุงไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย และสร้างความสมดุลเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ยอมรับว่า งบประมาณปี 63 จะเป็นอีกหนึ่งปัญหา ที่อาจทำให้งบประมาณออกสู่ระบบได้ในเดือนพฤษภาคม จึงเป็นภาระหนักของคลังเพราะเหลือเวลาเงินงบประมาณเพียง 4-5 เดือน ในปีนี้ จึงเตรียมแผนสำรองผลักดันโครงการที่ต้องใช้งบประมาณภายใน 1 ปี ด้วยการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน TFF เพื่อขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน รวมถึงจากเอกชนมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรขายให้แก่ประชาชน โดยจ่ายผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงกว่าตลาด โดยไม่ต้องอาศัยเงินงบประมาณ หากคลังออกพันธบัตรดอกเบี้ยร้อยละ 3 น่าจะดึงดูดใจ คาดว่าจะระดมทุนได้ไม่มีปัญหา และเมื่อ กนง.ประกาศลดดอกเบี้ย ต้องให้ธนาคารช่วยกันลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศช่วงนี้ให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง

         แม้งบประมาณใช้จ่ายไม่เต็มที่ ก็ไม่อยากให้ตั้งเป้าว่า จีดีพี ภายใต้เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ หากจีดีพีโตเกิน 2-3% ถือว่าดีแล้ว ส่วนกัมพูชา เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ที่จีดีพีขยายตัวสูงเพราะกำลังขยายตัวเหมือนกับไทยเมื่อ 10-20 ปีก่อน แต่ตอนนี้ไทยต้องการคือ อุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเมื่อเขต EEC ชัดเจน เป็นพื้นที่ดึงดูดให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไทยจึงต้องผลักดันโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน รองรับอุตสาหกรรมเข้ามาขยายการลงทุน  นอกจากนี้ เมื่อเขต EEC ชัดเจนแล้ว ไทยต้องไม่หยุดนิ่ง เมื่อEEC  สร้างอุตสาหกรรมใหม่ ต้องเร่งรัดประมูล 5G เพื่อเปลี่ยนผ่าน อุตสาหกรรมการผลิต ต้องลงทุนระบบ 5G รวมถึง 4G เข้าไปด้วย

        นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเจอมรสุมหลายลูก แม้งบประมาณรายจ่ายปี 63 จะเบิกจ่ายล่าช้า แต่กระทรวงการคลังได้เตรียมการเพื่อให้มีเงินลงทุนใหม่โดยเร็วที่สุด ซึ่งสถานการณ์ช่วงนี้เป็นโอกาสในวิกฤติ ที่ผู้ประกอบการจะขยายการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องมือ เครื่องจักร เพราะได้หักลดหย่อนภาษี 2.5 เท่าของค่าใช้จ่าย หากจัดสัมมนานำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ส่วนโรงแรม รีสอร์ต หากลงทุนปรับปรุงอาคารที่พัก ได้หักลดหย่อน 1.5 เท่า

ซึ่งขณะที่ธนาคารของรัฐฯได้ออกแพ็คเกจสินเชื่อพิเศษเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาไวรัสโคโรนา ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ต้องทำงานใกล้ชิด เพื่อขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ โดยเพิ่มการช่วยเหลือ ตั้งแต่ต้นทาง ปรับมุมมองใหม่ ส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ด้วยสินเชื่อที่เข้าถึงง่าย

สำหรับ ชิมช้อปใช้ เฟส 4 นั้น ขณะนี้กำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปรูปแบบรายละเอียดภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อเสนอ ครม. ก่อนจะถึงเทศกาลสงกรานต์ในเดือน เม.ย.63 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมยืนยันว่าชิมช้อปใช้จะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยนอกประเทศส่วนเรื่องการออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาสนับสนุนการลงทุน เบื้องต้นหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังจะรีบสรุปให้เร็วที่สุด

สำหรับ พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 นั้น ยังต้องรอติดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ก.พ.นี้ก่อน หาก งบประมาณปี 63 ยังล่าช้าหรือไม่สามารถออกได้ รัฐบาลยังสามารถใช้ช่องของกฎหมายได้ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่สามารถให้กู้ยืมเงินมาลงทุนโครงการใหม่ได้ หรือออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อระดมทุนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้เช่นกัน