เป็นประจำทุกปีสำหรับงาน TerraHint Brand Series 2023 ที่จัดขึ้นเป็นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 แล้ว โดย TERRA BKK สื่อด้านอสังหาริมทรัพย์และที่ปรึกษาวิจัยด้านการตลาด ซึ่งปีนี้งานสัมมนาจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “Brand Series | ONE WORLD เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”

            ปีนี้ยังคงกิจกรรมที่น่าสนใจไว้เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น Group Talk: เจาะกลยุทธ์การพัฒนาแบรนด์เพื่อความยั่งยืน (Make Brand Sustainability for Our One World) และการมอบรางวัล Real Estate : The Most powerful brand 2023 จำนวน 4 รางวัล โดยปีนี้ได้รับเกียรติจาก ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาเป็นผู้มอบรางวัล พร้อมกล่าววิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร

            ไฮไลต์ที่ทุกคนรอคอยกันทุกปี คงไม่พ้นผลวิจัยเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปีนี้จัดทำขึ้นตามแนวคิด “Well-being and Sustainable lifestyles” เพื่อเป็นแนวทางให้แบรนด์อสังหานำมาเป็นแนวทางในการเจาะกลยุทธ์การพัฒนาแบรนด์เพื่อความยั่งยืน (Make Brand Sustainability for Our One World) ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาสินค้า บริการ และการสร้างแบรนด์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีค่าอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกระดับทางสังคม อีกทั้งแนวคิดการพัฒนาโครงการอย่างยั่งยืนและการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี (Sustainable Development and Human Well-Being) เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจและเป็นแนวทางที่ผู้คนทั้งโลกกำลังให้ความสำคัญ โดยประเทศไทยก็ได้ประกาศเจตนารมย์ที่จะบรรลุเป้า “carbon neutrality” ภายในปี 2050 และบรรลุเป้า “net zero emissions” ภายในปี 2065 จึงหวังว่าผลการวิจัยและการจัดงานครั้งนี้จะช่วยจุดประกายทางความคิด เปิดมุมมองใหม่ สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

 

สรุปผลวิจัยเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคตามแนวคิด “Well-being and Sustainable lifestyles” โดย คุณสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ, บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด

สำหรับการวิจัยในครั้งจะเป็นการเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคตามแนวคิด Well-Being and Sustainable Lifestyle จากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2 วิธี คือ 1.โฟกัสกรุ๊ป (Qualitative Research : Focus Group 22-53 ปี เก็บข้อมูลระหว่าง 25-27 ก.ย. 2566) แบ่งเป็น 9 กลุ่ม และ 2.เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ จากกลุ่มตัวอย่าง 2,000 ชุด (Quatitative Research : Online Survey 1 ต.ค.-8 พ.ย. 2566) จากกลุ่มตัวอย่างนี้ พบว่า ผู้ตอบกว่า 42% มีแผนจะซื้อบ้านในช่วง 3 ปี โดยส่วนใหญ่มีความต้องการซื้อบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม ในระดับราคาตั้งแต่ 3 – 7 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ในการซื้อที่อยู่อาศัยมาแล้ว โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจซื้อบ้านปีนี้คนส่วนใหญ่ให้ความใส่ใจเรื่องวัสดุก่อสร้างกันมากขึ้น รองลงมาคือ ระบบรักษาความปลอดภัย, สังคมและสิ่งแวดล้อมและบริการหลังการขาย

“ข้อมูลนี้จะต่างจากปีก่อน ซึ่งปีก่อนผู้บริโภคจะให้ความสนใจในเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก แต่ในปีนี้กลับให้ความสนใจมาเป็นอันดับรอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปที่มีต่อที่อยู่อาศัย”

            เมื่อเจาะลึกมาดูสินค้าในแต่ละกลุ่มจะพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 78% วางแผนที่จะซื้อบ้านเดี่ยว โดยส่วนใหญ่เป็นคนในกลุ่ม Baby Boomer (อายุมากกว่า 56 ปีขึ้นไป) และกลุ่ม Gen Y (อายุ 28-41 ปี), รองลงมาเป็นกลุ่มทาวน์โฮม มีสัดส่วน 47% โดยเป็นกลุ่ม Gen X (อายุ 46-56 ปี) และ Gen Z (อายุ 18-27 ปี), ส่วนคอนโดมิเนียม มีผู้วางแผนที่จะซื้อราว 27% ซึ่งเป็นคนในกลุ่ม Gen Z และGen Y ในระดับราคา 2-7 ล้านบาท

พฤติกรรมการรับรับรู้ : Facebook มาวินในทุกเจเนอเรชั่น

            จากกลุ่มตัวอย่างจะสังเกตได้ว่าปีนี้ ผู้บริโภคทุกเจเนอเรชั่นมีพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ หรือเลือกที่จะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยด้วยช่องทาง Facebook เป็นอันดับต้นๆ อาจจะด้วยจากการกด Like เพจอสังหาฯ ที่ตัวเองติดตาม จากนั้นอัลกอริทึม Facebook เสิร์ฟข้อมูลที่น่าสนใจมาให้เสพ ทำให้ผู้บริโภคเกิดการเสพข้อมูลต่อเนื่อง โดยมีช่องทางการเปิดรับสื่อในอันดับรองลงมาจะมีเว็บไซต์ของบริษัทอสังหา, การเสิร์ชจาก Google, เว็บไซต์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย, การรีวิวโดยบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ

            “เมื่อก่อนผู้บริโภคจะนิยมเสิร์ชจาก Google เป็นอันดับแรกก่อนในการหาข้อมูลที่อยู่อาศัย แต่ปีนี้ Facebook กลับมาอยู่ในอันดับต้นๆ เพราะพวกเขาอยากดูฟังรีวิวผ่านเพจที่พวกเขาติดตาม แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ทิ้งการเสิร์ชหาข้อมูลบน Google ส่วนการดู Youtube และการดู Pantip จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด”

“ส่วนการดูรีวิวผ่าน VDO ขนาดยาว กลุ่มผู้บริโภคยังสนใจอยู่ ถ้าเป็นโครงการที่พวกเขากำลังมองดูอยู่จริงๆ เพียงแต่การรีวิวผ่าน VDO ต้องเป็นอะไรที่ Real จริงๆ ไม่ได้ต้องการตกแต่งหรือประดิษฐ์ภาพที่สวยงาม แค่เป็นภาพเจ้าหน้าที่ประจำโครงการพาชมโครงการเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอินฟลูเอนเซอร์พาชม”

 

แนวโน้มผู้บริโภคเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่โอกาสที่ดีในการซื้ออสังหาฯ

         มาฟังแนวโน้มความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปี 2023 พบว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 76% ลดลง 4% เมื่อเทียบจากปีก่อนที่ 80% แม้ในภาพรวมค่าดัชนีจะลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน แต่ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ, ข้าราชการ, ฟรีแลนซ์, พนักงานบริษัทเอกชน, ผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง หรือแม้แต่กลุ่มคนว่างงาน ก็ยังมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่กลับสวนทางกลับเศรษฐกิจส่วนบุคคลที่ไม่ได้มองว่าสุขภาพการเงินของตัวเองจะดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอาชีพผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างกลุ่มแพทย์หรือทนาย กลับมองว่าช่วงเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ดีในการลงทุนกับสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง เช่น อสังหาฯ, รถยนต์

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงมองว่ามีปัจจัยหลายประการที่ยังไม่คงที่ ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมเศรษฐกิจยังชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน รวมถึงราคาอสังหาฯที่ปรับตัวสูงขึ้นตามค่าก่อสร้างใหม่ ซึ่งมีผลต่อการขอสินเชื่อใหม่ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มต้องชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป

            สอดคล้องกับข้อมูลจาก TerraBYTE แอปพลิเคชั่น ที่ว่าแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ปี 2022 ปรับลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะตลาดคอนโดที่ปรับตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของภาคที่อยู่อาศัย ทั้งปริมาณ supply ที่เปิดตัวน้อยลงและอัตราการขายที่ลดลง สำหรับกลุ่มทาวน์โฮมอยู่ในช่วงฟื้นตัวโดยเฉพาะกลุ่มราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปที่มีอัตราการขายที่เติบโตขึ้น และตลาดบ้านเดี่ยวที่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวระดับราคา 10-25 ล้านบาท ที่มีอัตราการขายเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นกลุ่ม Real Demand ที่มีรายได้สูง มีเงินออม ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยและมีความต้องการเปลี่ยนที่อยู่อาศัย

 

พฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนยุคใหม่ : บ้านต้องเป็นทั้งพื้นที่พักผ่อนและทำงานไปพร้อมกัน

ด้านพฤติกรรมการอยู่อาศัยในปี 2023 พบว่า คนโดยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมในบ้าน คือต้องเป็นทั้งพื้นที่ผ่อนคลาย ขณะเดียวกันก็ต้องพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้านได้ด้วย โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ในบ้าน 2 ด้าน คือ การพักผ่อนในพื้นที่ห้องรับแขก-ห้องนั่งเล่น – ห้องอเนกประสงค์ และการทำงานแบบ Work at Home รวมถึงมีความต้องการพื้นที่นอกตัวบ้าน หรือในสวนมากขึ้น แบ่งตามรูปแบบการใช้งานตามลักษณะที่อยู่อาศัย ได้แก่

  • บ้านเดี่ยว : กลุ่มคนอยู่บ้านเดี่ยว ใช้พื้นที่นอกตัวบ้านในการออกกำลังกาย, ส่วนพื้นที่ห้องนั่งเล่นใช้ทำสวนและเลี้ยงสัตว์ รวมถึงใช้พื้นที่ห้องนอน Master Bedroom ในการพักผ่อนมากกว่าแค่นอนหลับ ดังนั้นการออกแบบบ้านเดี่ยวที่ดีในอนาคต ห้องนอนอาจไม่ได้แค่เตียงนอนหรือ Walk in Closet แต่ควรต้องมี่พื้นที่สำหรับพักผ่อนเล็กๆ ไว้ด้วย
  • ทาวน์โฮม : เนื่องจากพฤติกรรมคนอยู่ทาวน์โฮม จะอยู่กันเป็นครอบครัวเล็กๆ 3-4 คน นิยมทำอาหารรับประทานกันเองในครอบครัว พื้นที่ในครัวจึงไม่เพียงพอกับการใช้งาน จึงมักใช้ห้องอเนกประสงค์ชั้นล่างในการจัดเตรียมอาหารเพิ่มขึ้นมาด้วย
  • คอนโด : ชาวคอนโด นอกจากจะใช้ห้องนั่งเล่นเพื่อการพักผ่อนแล้วยังต้องการใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำงานด้วย ดังนั้นผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ ควรต้องคิดให้มากขึ้นในการออกแบบคอนโดยุคใหม่ว่าทำอย่างไรจึงจัดสรรพื้นที่ห้องนั่งเล่นให้สามารถพักผ่อนก็ได้ ทำงานก็ได้ไปพร้อมๆ กันทั้งนี้ไม่ว่าเจเนอเรชั่นไหนก็ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย, ปลูกต้นไม้, การสังสรรค์ปาร์ตี้ภายในบ้านของตัวเอง

นอกจากนี้เมื่อมองมาถึงพฤติกรรมการใช้พื้นที่ส่วนกลางของผู้อยู่อาศัย ในส่วนของบ้านและทาวน์โฮมจะใช้เวลากับสวนส่วนกลางในการพาสัตว์มาเดินเล่น ส่วนคอนโดจะเน้นแค่มาพักผ่อนหย่อนใจในสวนส่วนกลาง จากพฤติกรรมนี้ผู้พัฒนาอสังหาฯ สามารถนำมาปรับใช้กับโครงการในอนาคตได้ว่าควรใส่ใจกับสวนส่วนกลางให้มากขึ้นในการตอบโจทย์สัตว์เลี้ยง เช่น มีลู่ทางเดินสำหรับสัตว์เลี้ยง, มีสุขอนามัยสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

นิยามของบ้านในอุดมคติที่แตกต่างกัน

จากผลวิจัยในปีนี้พบว่า ความต้องการบ้านในอุดมคติ จะประกอบด้วย 3 ด้าน คือ Comfortable and Convenience Living, Safe and Secure Environment และ Well-Being คนส่วนใหญ่มองว่า การอยู่บ้านในสังคมใหม่ ต้องครบสมบูรณ์ด้วยสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ ในบ้านมีการใช้สมาร์ทโฮม เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก บ้านต้องมอบความผ่อนคลาย ต้องมีความเป็นส่วนตัวในการใช้ชีวิต เพราะผู้อยู่อาศัยต้องการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ทั้งร่างกายและจิตใจดีขึ้น

“การซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ของคนแต่ละเจเนอเรชั่น ให้นิยามความเป็น Well-Being จากบ้านที่แตกต่างกัน อย่างกลุ่มที่ซื้อบ้านเดี่ยวในเซกเมนต์ลักชัวรี่ ต้องการความเป็น Spiritual Well-Being จากบ้าน ไม่ได้ต้องการ Social Well-Being ฉะนั้นสังเกตได้ว่าบ้านเซกเมนต์ลักชัวรี่หลายโครงการ จึงไม่ได้มีส่วนกลางขนาดใหญ่ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนขนาดนั้น คือต้องการมีเพื่อนบ้านในระดับเดียวกัน แต่ไม่ได้ต้องการมีกิจกรรมร่วมกันมากมาย ต่างจากกลุ่มที่ซื้อทาวน์โฮมหรือคอนโดจะต้องการ Social Well-Being ต้องการมีกิจกรรมร่วมกันภายในชุมชนเดียวกัน”

            นอกจากนี้นิยามของบ้านในแต่ละเจเนอเรชั่น ก็มีความต้องการแตกต่างกันไปอีกด้วย โดยกลุ่ม Gen Z ต้องการความเป็นส่วนตัวจากผู้ปกครอง, กลุ่ม Gen Y ต้องการการปลดปล่อยและพักผ่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์โควิดค่อนข้างสูง, กลุ่ม Gen X ต้องการการพักผ่อนกับครอบครัว, กลุ่ม Baby boomer ต้องการการชิลล์เอาต์พบปะกับเพื่อนฝูง

            “โดยรวมแล้วการสื่อสารในเรื่องที่อยู่อาศัย ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยกลุ่มลักชัวรี่ บ้านต้องตอบโจทย์ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ต้องมีครบ (Wonderland) กลุ่มพรีเมี่ยม บ้านหมายถึงทรัพย์สินของฉัน สิ่งที่บ่งบอกตัวตน (Settlement) และกลุ่มแมส บ้านต้องสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้ได้”

 

การดำเนินชีวิตเพื่อความยั่งยืน กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

จากผลวิจัยจะเห็นว่า Sustainable Lifestyles ของคนแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน โดยกลุ่ม Gen Z (อายุ 18-27 ปี) จะเป็นกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องการเดินทาง โดยส่วนใหญ่เน้นใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมาก  ส่วนกลุ่ม Gen Y (อายุ 28-41 ปี) ให้ความใส่ใจด้านพลังงานเช่นการเปิด-ปิดไฟเมื่อไม่จำเป็น, กลุ่ม Gen X (อายุ 46-56 ปี) จะเป็นสนใจเรื่องอาหารและสุขภาพ เช่น ลดการกินเนื้อสัตว์ หรือกินพืชผักตามฤดูกาล และกลุ่ม Baby boomer (อายุมากกว่า 56 ปีขึ้นไป) เป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนมากที่สุด โดยคนกลุ่มนี้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีสีเขียวเช่น โซล่าร์เซลล์ มากขึ้น

 

            แน่นอนว่าความสนใจ Sustainable Lifestyles ในแต่ละด้านของคนแต่ละเจเนอเรชั่น ย่อมทำให้แต่ละคนสนใจแบรนด์ที่ให้ความสนใจในเรื่องเดียวกันกับตัวเอง

แนวทางเหล่านี้ยังสะท้อนไปถึงความต้องการบ้านของผู้บริโภคที่สอดรับกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในอนาคต อาทิ การออกแบบ Universal design, มีพื้นที่ห้องสปาหรือโปรแกรมบริการการฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย, มีกิจกรรมเพื่อสุขภาพและกายภาพบำบัด, บริการช่วยเหลือเรื่องสุขภาพ, บ้านประหยัดพลังงาน Solar Cell /ฉนวนกันความร้อน, ระบบกรองอากาศ PM2.5 และไวรัส, นวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย เช่น Smart Home, EV Charger, ระบบการคัดแยกขยะอย่างแท้จริง เพื่อลดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม, การก่อสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยคาร์บอน

4 รางวัลทรงคุณค่า จาก Real Estate : The Most Powerful Brand 2023

สำหรับการประกาศผลรางวัล Real Estate : The Most Powerful Brand 2023 ประจำปี 2566 ผู้ที่คว้ารางวัลในปีนี้ คือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการกลับมารับรางวัลอีกครั้งของแบรนด์แสนสิริ โดยมีความโดดเด่นในด้าน Brand Famous เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง, Dynamic เป็นแบรนด์ที่มีการปรับตัวตลอดเวลา, Trusted เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการตัดสินใจซื้อ ทำให้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในเรื่องความเป็น “แบรนด์ผู้นำ” โดยเฉพาะ “ผู้นำบ้านเดี่ยว” และเป็นแบรนด์อันดับ 1 ที่ผู้บริโภคจะพิจารณาซื้อ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Middle Income

ขณะที่บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ปีนี้สามารถคว้ารางวัล Credence Award ซึ่งจะมอบให้กับบริษัทที่ลูกค้าให้การยอมรับในด้านคุณภาพและเป็นแบรนด์ที่ครองอันดับ 1 ในคุณสมบัติ Top 4 ที่ผู้บริโภคคาดหวังมากที่สุด คือ เป็นแบรนด์ที่มีมาตรฐานการก่อสร้าง, มีคุณภาพ, มีบริการหลังการขายที่ดีและเป็นแบรนด์ที่รู้สึกปลอดภัย รวมถึงเป็นแบรนด์ที่ครองอันดับ 1 ที่ลูกบ้านอยากแนะนำต่อมากที่สุด ด้วยค่า Net Promoter Score ที่สูงที่สุดคือ 56% (ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 24%)

ทางด้านบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ ปีนี้ได้รับรางวัล Sustainability Development Award in Real Estate 2023 ซึ่ง MQDC เป็นแบรนด์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็น Sustainability lifestyle ได้อย่างครบถ้วน อาทิ เน้นพลังงานสะอาด, สร้างบ้านประหยัดพลังงาน, ลดการปล่อยคาร์บอน, เทคโนโลยีการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม,การออกแบบเพื่อคนพิการ/ผู้สูงอายุ ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ในของแบรนด์ผู้นำด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด Sustainable Development

และบริษัท เปี่ยมสุข พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในปีนี้เข้ารับรางวัลพิเศษ Marvel Award บริษัทที่มีภาพลักษณ์โดดเด่นเทียบเท่าแบรนด์ใหญ่ในตลาดและเป็นแบรนด์ที่มี Powerful Score เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มแบรนด์เล็ก (Non Public Company)

“ภาพรวมของคุณสมบัติของแบรนด์ที่ดีในสายตาของผู้บริโภคปีนี้ จะวนเวียนอยู่ 3-4 เรื่องหลัก ไม่ว่าที่อยู่อาศัยนั้นจะอยู่ในเซกเมนต์ ได้แก่ เป็นแบรนด์ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย, มีมาตรฐานการก่อสร้าง, มีคุณภาพ, มีบริการหลังการขาย, มีความคุ้มค่าคุ้มราคา”

จากผลการวิจัยเรื่องแบรนด์ปีนี้ เป็นที่น่าจับตามองว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญในประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้หลายแบรนด์ที่มีความชัดเจนในนโยบายและกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนได้ค่าคะแนน Brand Superiority ที่มีความโดดเด่น เช่น MQDC, SANSIRI, A5

 

Brand Perception การรับรู้แบรนด์เมื่อเทียบประเภทของที่อยู่อาศัย

อีกผลสำรวจที่จะทำให้ผู้พัฒนาโครงการเข้าใจได้ว่า ผู้บริโภคนึกถึงแบรนด์ใดในใจของพวกเขากันบ้าง ซึ่งจากกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่

  • การรับรู้แบรนด์บ้านเดี่ยว ได้แก่ แบรนด์ที่ราคาสูงและคุณภาพสูงจะนึกถึง SANSIRI, Q House / แบรนด์ที่เหมาะกับตัวตนของฉันจะนึกถึง PROPERTY PERFECT, SUPALAI / แบรนด์ที่มีครีเอทีฟตี้จะนึกถึง SC ASSET
  • การรับรู้แบรนด์ทาวน์โฮม ได้แก่ แบรนด์ลักชัวรี่ในฝันจะนึกถึง MQDC / แบรนด์ที่เหมาะกับตัวตนของฉันจะนึกถึง SC ASSET, AP, PRUKSA  / แบรนด์ที่มีครีเอทีฟตี้จะนึกถึง FRASERS
  • การรับรู้แบรนด์คอนโด ได้แก่ แบรนด์ที่มีความ Eco-Friendly จะนึกถึง SANSIRI / แบรนด์ที่เหมาะกับตัวตนของฉันจะนึกถึง ANANDA, SUPALAI, AP / แบรนด์ที่สามารถเข้าถึงได้นึกถึง LPN

 

Brand Image : Real Estate VS Car 2023

ปิดท้ายด้วยผลสำรวจที่ทุกคนรอคอยกันทุกปี คือ การเปรียบเทียบแบรนด์ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กับแบรนด์รถแต่ละยี่ห้อ ผ่านสายตาของผู้ซื้ออสังหาและผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่าง โดยภาพรวมปีนี้หลายแบรนด์มีการพัฒนากว่าปีที่ผ่านมามากขึ้น

ปีนี้หลายแบรนด์อสังหาชั้นนำของเมืองไทย ถูกมองเปรียบเทียบไม่ต่างจากแบรนด์รถโรลส์-รอยซ์พร้อมกันหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น A5, MQDC, Singha Estate ขณะเดียวกัน Singha Estate ก็ยังถูกมองเป็นปอร์เช่และออดี้ไปพร้อมๆ กัน โดยหลายแบรนด์ได้รับการมองว่าเป็น BMW ไม่ว่าจะเป็น SANSIRI, SC ASSET, PROPERTY PERFECT, SUPALAI, ANANDA, Major Development, Patreeda , Areeya เช่นเดียวกับเบนซ์ที่หลายแบรนด์อสังหาก็ถูกมองอยู่ในเซกเมนต์เดียวกันอย่าง LAND&HOUSES, SANSIRI, Q HOUSE, PROUND, BRITANIA

“ในเชิงภาพลักษณ์ของผู้บริโภคจะมองแบรนด์ฮอนด้ากับโตโยต้าเหมือนกันตรงที่มาตรฐานใกล้เคียงกัน แต่โตโยต้าขายต่อง่ายกว่าฮอนด้า ฮอนด้ามีดีไซน์มากกว่าโตโยต้า ในขณะที่กลุ่มรถสปอร์ตก็จะมองว่าเป็นรถที่ดูแพงไปเลย ซึ่งปีนี้ก็มีหลายแบรนด์อสังหาจะเกาะอยู่ในกลุ่มโตโยต้าและฮอนด้า”


นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความเป็น Brand Archetypes โดยทีมวิจัยได้ดึงรายชื่อแบรนด์ที่มีค่าสำรวจคาแร็คเตอร์ที่เด่นชัดที่สุดออกมาแสดง โดยเช็คลิสต์จากผู้บริโภคมองแบรนด์เหล่านั้นมีคาแร็คเตอร์แบบไหนจาก 12 คาแร็คเตอร์ ปีนี้ MQDC ยังคงตกอยู่ในบทบาทของ Creator และ Magician เช่นเดิม แต่ที่เพิ่มเข้ามาใน Creator ต่างจากปีก่อนคือ NOBLE และ Singha Estate เช่นเดียวกับบทบาทของ RULER ที่ปีนี้ยังคงมี SANSIRI เช่นเดียวกับปีก่อน

นี่คือส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคที่ TerraBkk จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และหวังว่าข้อมูลในปีนี้จะมาจุดประกายความคิดและเป็นข้อมูลให้เหล่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยห้าดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป