ส่งท้ายปี 2566 เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งออกมาตรการทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย และรับรู้รายได้ รวมทั้งเริ่มทำแผนธุรกิจในปี 2567 วันนี้ผมเลยอยากแนะนำแนวทางการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภททาวน์โฮม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมด้วยเหตุผลของระดับราคาที่ต่ำกว่าบ้านเดี่ยวในทำเลเดียวกัน ในขณะที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าอาคารชุดพักอาศัย เหมาะสำหรับการสร้างครอบครัวใหม่

จากการรวบรวมของ LWS พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีการเปิดตัวโครงการทาวน์โฮมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งสิ้น 16,822 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 24.82% ของจำนวนหน่วยเปิดตัวโครงการทั้งหมด 67,772 หน่วย คิดเป็นมูลค่าการเปิดตัวทาวน์โฮม 45,816 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.52% ของมูลค่าการเปิดตัวโครงการทั้งหมด 338,655 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566

จำนวนหน่วยและมูลค่าการเปิดตัวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนอุปทานในตลาดทาวน์โฮมที่ยังคงมีการเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทนี้ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทีมวิจัยด้านงานบริการ(Service Design Center: SDC) ได้มีการสำรวจแนวทางการพัฒนาโครงการทาวน์โฮม ให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดนอกเหนือจากการเลือกทำเลที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาโครงการ โดยมี 3 แนวทางหลักในการพัฒนาโครงการประเภททาวน์โฮมให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด ประกอบด้วย

                  1.สร้างภาพลักษณ์ของโครงการผ่านการออกแบบพื้นที่โดยรวมให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัย

การพัฒนาโครงการจำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์โครงการให้มีเอกลักษณ์เฉพาะผานการพัฒนาพื้นที่โดยรวมตั้งแต่ ซุ้มทางเข้า, Clubhouse,  สวนส่วนกลาง และตัวบ้าน กล่าวได้ว่า การออกแบบโครงการควรผสมผสานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สร้างความภาคภูมิใจให้ผู้ซื้อ และปฎิเสธไม่ได้เลยว่ากับสถานะทางสังคม ถือเป็นสิ่งสำคัญของกลุ่มคนวัยทำงานทั้ง 3 ช่วง Generation ที่ชื่นชอบการได้รับคำชื่นชม และการแสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินของตนเอง

2.การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการให้ตอบรับกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ผู้บริโภคในวันนี้ต่อให้มีงบประมาณที่จำกัด แต่มีความต้องการที่อยากได้ของที่คุ้มค่า จากพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนได้จากการแข่งขันในตลาด ที่ผู้ประกอบการทั้งหลายพัฒนาโครงการทาวน์โฮม ที่ระดับราคาตั้งแต่ 2-5 ล้านบาท ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันใกล้เคียงโครงการประเภทบ้านเดี่ยว โดยจากการสำรวจของ LWS พบความต้องการของผู้บริโภคในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีภายในโครงการประเภททาวน์โฮม ได้แก่

2.1. สวนสาธารณะส่วนกลาง : สวนที่สร้างบรรยากาศร่มรื่น เหมาะสำหรับการพักผ่อนที่ตอบโจทย์ทุกอิริยาบท

2.2. ฟิตเนสหรือห้องออกกำลังกาย : ที่มีอุปกรณ์การออกกำลังกายครบครัน เช่น ลู่วิ่ง, เครื่องปั่นจักรยาน, เครื่องเดินอากาศ, ชุดดัมเบล ฯลฯ เพื่อให้การออกกำลังกายสามารทำได้ครบทุกส่วนของร่างกาย

2.3. สระว่ายน้ำ : รูปทรงอิสระที่มีความสวยงามเข้ากับการออกแบบโครงการรวมไปถึง มีมาตรฐานในการให้บริการทั้งเรื่องการวัดค่าพารามิเตอร์ที่ปลอดภัยเหมาะสำหรับการว่ายน้ำ, พร้อมฟังก์ชั่นสระสำหรับเด็ก เพื่อให้ครอบครัวสามารถพาเด็กทำกิจกรรมทางน้ำ พร้อมความปลอดภัย

2.4. Co-working Space : เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการใช้งานตามไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย เช่น ทำงาน, อ่านหนังสือ รวมไปถึงการประชุมหรือนัดหมายต่าง

3.การนำเทคโนโลยี่เข้ามาใช้ในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและงานบริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ

ปัจจุบันเทคโนโลยี่เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยี่ที่ใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ดังนั้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภททาวน์โฮม จำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยี่เข้ามาใช้ในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและงานบริการต่างๆ ให้ตอบโจทย์และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ซื้อ จากการสำรวจของทีม SDC พบว่าผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน รวมทั้งการซื้อที่อยู่อาศัยประเภท ทาวน์โฮม มีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกและงานบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี่ดังนี้

                  3.1. EV Charger : ระบบ  EV Charger ส่งมอบพร้อมบ้านเพื่อรองรับการใช้รถไฟฟ้า จากการศึกษาข้อมูลของ LWS  ตั้งแต่ปี 2560-2566 พบว่ารถไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7คน ในปี 2565 ประเทศไทยมีรถไฟฟ้าสะสม 33,000 คัน โดยคาดการณ์ในปี 2566 จะมีรถไฟฟ้าสะสมสูงถึง 120,000 คัน ตลาดโตถึง 2.5 เท่า ในส่วนข้อมูลสถานีชาร์จ EV ทั่วประเทศในปี 2566 มีเพียง 1,650 แห่ง และคาดการณ์ในปี 2568 จะมีเพิ่มขึ้นเป็น 2,400 แห่ง และแน่นอนปริมาณรถยนต์ไฟฟ้ากับสถานีชาร์จยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานของผู้บริโภค ซึ่งพฤติกรรมผู้ใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำส่วนใหญ่จะใช้การชาร์จไฟฟ้าจากที่บ้าน ดังนั้นการมีระบบ  EV Charger ไว้รองรับความต้องการของผู้ใช้งานถือเป็นตัวเลือกที่ไม่อาจมองข้าม

                  3.2.ระบบ Home Automation : ระบบควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านอินเตอร์เน็ต อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการ ดูแลความปลอภัยของตัวบ้าน เปรียบเสมือนมีผู้ช่วยดูแลบ้านช่วงเวลาที่ไม่มีผู้พักอาศัย โดยจากข้อมูลของ We Are Social ที่เก็บข้อมูล Insight ของประเทศไทยในปี 2565 มีอุปกรณ์ประเภท Home Automation เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต จำนวน 2.6 ล้านหลังเติบโตขึ้นจากปี 2564 ถึง 11.9% และมีแนวโน้มที่โตอย่างต่อเนื่อง และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่สะท้อนความต้องการของผู้พฤติกรรมผู้บริโภคที่ตอบรับกับแนวทางการพัฒนาอสังหาฯในปัจจุบัน

                  3.3.ระบบ Solar Cell : ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าในยุคที่ค่าไฟฟ้าแพง แถมระบบ Solar Cell นี้เริ่มมีให้เห็นในโครงการที่พัฒนาในปัจจุบันมากขึ้น และจากข้อมูลของ SCB EIC คาดว่าราคาแผงโซลาร์จะยังคงลงต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้าเกือบ 20% จากที่ลดลงไปแล้วเกือบ 60% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รวมถึงในด้านของระยะเวลาคืนทุนของระบบเร็วขึ้นเหลือเพียง 6-8 ปี  จากองค์ประกอบเหล่านี้ที่เป็นปัจจัยบวก และปฎิเสธไม่ได้ว่าในทุกวันนี้การมีระบบ Solar cell ที่ให้มาพ้อมบ้านเป็นอีก 1 องค์ประกอบที่สร้างความแตกต่างและโดดเด่นในสิ้นค้าอย่างบ้านทาวน์โฮม

                  3.4.การให้บริการผ่าน Application : ผู้พัฒนาส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญ ในการติดต่อการบริการทั้งช่วงขายและหลังการขายแบบครบวงจร ผ่าน Application ที่พัฒนาขึ้น อีกทั้งฟังก์ชันที่ให้บริการลงทะเบียนผู้มาติดต่อ เพื่ออำนวยความสะดวก และยังสามารถควบคุมความปลอดภัยจากการติดต่อของคนภายนอก

ทั้ง 3 ปัจจัยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการทาวน์โฮมให้เป็นมากกว่าอาคารที่พักอาศัย แต่เป็นสถานที่ที่ “น่าอยู่” เพื่อให้การอยู่บ้านมีความหมายมากกว่าการอยู่อาศัย  ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.lws.co.th

แล้วพบกันใหม่ปี 2567 ครับ
 

โดย : คุณประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์โซลูชั่น จำกัด