เก็บตกสาระการออกแบบและจัดการเมืองบนเวที Creative Talk ในงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ของ TERRAHINT ​​Brand Series 2022 : ขบคิด ติดเครื่องแบรนด์ เพื่ออนาคต โดยปีนี้จัดขึ้นตามแนวคิด “GOOD HEALTH AND WELL-BEING” ทำให้งานสัมมนาในปีนี้มาในหัวข้อ “แนวคิดการออกแบบเพื่ออนาคต DESIGN FOR THE FUTURE” เนื้อหาเข้มข้นอัดแน่น นำเสนอแนวทางการสร้างเมืองเพื่อความยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิต จากวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายวงการถึง 7 ท่าน

ส่วนแต่ละท่านมาแชร์ไอเดียบรรเจิดขนาดไหน TerraBkk มีสรุปของแต่ละท่านมาฝาก
 

อ่านบทความ EP.1 คลิก

อ่านบทความ EP.2 คลิก

Redefining Distinctness Design

ธาวิน หาญบุญเศรษฐ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท WARchitect จำกัด

            ขณะที่โลกทั้งโลกและพื้นที่สาธารณะแสวงหาพื้นที่สีเขียว ก็สอดคล้องกับความต้องการพื้นที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ในบ้านหรือพื้นที่ส่วนตัวต่างต้องการพื้นสีเขียวเหมือนกัน อย่างเช่นที่ ธาวิน หาญบุญเศรษฐ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท WARchitect จำกัด บริษัทออกแบบรุ่นใหม่ที่คลุกคลีอยู่กับการออกแบบบ้านเดี่ยวส่วนบุคคลแบบเทเลอร์เมดให้กับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยเฉพาะตัว

ธาวิน แชร์ให้ฟังว่างานของเขาและทีมเน้นไปที่บ้านเดี่ยวเพื่อตอบโจทย์เชิงบุคคล แม้ว่าจะมีโจทย์ที่แตกต่างกัน ลูกค้ามีความหลากหลาย ความต้องการและข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน ทั้งเรื่องรสนิยม ฟังก์ชั่น และเจเนอเรชั่นของผู้อยู่อาศัย แต่จุดรวมที่ผู้อยู่อาศัยกลุ่มนี้ต้องการเหมือนกัน มี 3 ส่วน คือ ความเป็นส่วนตัว (Privacy), เชื่อมต่อกับธรรมชาติ (Nature) และมีความแตกต่างไม่ซ้ำกับใคร (UniQueness) โดยเรื่องราวทั้งหมด ผ่านการยกตัวอย่างโดยบ้าน 5 หลังที่ทีมของเขาออกแบบ

ยกตัวอย่างกรณีบ้านหลังแรกเป็นที่ดินอยู่ริมทะเลสาบสัมมากร โจทย์คืออยากเห็นพื้นที่น้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเห็นรถหรือโรงรถเลย ทีมออกแบบจึงสร้างเนินดินเพื่อตั้งอาคารพักให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อบังวิวรถ แต่หันมุมห้องนั่งเล่นให้เปิดกว้างเหมือนเป็นซุ้มประตูไปที่ทะเลสาบ เพื่อให้ทั้งหมดสามารถมองเห็นวิวทะเลสาบได้ ส่วนมุมด้านหน้าที่ติดถนน เพิ่มสร้างความเป็นส่วนตัวด้วยการทำกำแพงเว้นช่องแสงเพื่อเป็นฉากกั้นด้วยการเรียงอิฐ กั้นระหว่างโซนหน้าบ้านกับพื้นที่ภายในบ้าน โดยเชื่อมต่อระหว่างโซนบ้านภายในบ้านด้วยพื้นที่สีเขียว

“การสร้างความแตกต่างของบ้านหลังนี้ คือ การใช้วัสดุที่มีความหลากหลายเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งช่วยทำให้ดูแตกต่างหรือจดจำได้ง่าย ซึ่งหาได้ยากมากที่เจ้าของจะเปิดโอกาสให้ใช้วัสดุที่มีความแตกต่างมาใช้ในบ้านหลังเดียวกัน โดยเรามีการผสมผสานทั้งสีสนิม ไม้ อิฐ ทำให้ได้บรรยากาศภายในบ้านไม่เหมือนใคร”

มาที่บ้านหลังที่ 2 เป็นตัวอย่างของบ้านที่มีพื้นที่กว้าง ผู้อยู่อาศัยเป็นสองสามีภรรยาที่ไม่มีลูก แต่มักมีญาติมาพักที่บ้านในบางโอกาส จึงต้องการพื้นที่ส่วนกลางที่ญาติสามารถเข้าใช้ได้ โดยไม่เข้าไปในตัวบ้าน

“ในงานออกแบบเราเลือกแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 2 ส่วน เพื่อให้พื้นที่แขกแยกออกจากพื้นที่เจ้าของบ้าน และใช้วิธีการสร้างรูปทรงอาคารเป็นรูปเรขาคณิตที่มีแนวเฉียงแนวทแยงมาสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับอาคารทุกหลัง โดยยังคงพื้นที่ส่วนกลางบางส่วนให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนในบ้านใช้ร่วมกันได้ เป็นบ้านอีกหลังที่ค่อนข้างได้รับความสนใจ จนมีกองถ่ายละคร กองถ่ายหนังจาก Netflix มาขอใช้สถานที่ถ่ายทำ กลายเป็นการสร้างรายได้ให้กับเจ้าของบ้านในช่วงโควิด”

บ้านหลังที่ 3 เป็นบ้านที่มีที่ดินติดกับครอบครัวหลัก โดยเจ้าของบ้านอยู่ติดกับบ้านเดิมของคุณพ่อคุณแม่ โจทย์ของบ้านหลักนี้ทำให้มีการตีความนิยามของคำว่าความเป็นส่วนตัวเปลี่ยนไป เนื่องจาก

เจ้าของบ้านไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าพวกเขากำลังกิจกรรมอะไร แต่ตัวเองต้องการเห็นบ้านของคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ๆ เพื่อจะได้ดูแลท่านได้

จากโจทย์นี้ทางทีมออกแบบจึงมีการตั้งตำแหน่งห้องนั่งเล่นไว้บนชั้นสอง เพื่อให้ห้องนั่งเล่นสูงกว่าปกติ ทำให้มองเห็นบ้านข้างๆ ซึ่งเป็นบ้านของคุณพ่อคุณแม่ และมีคลับเฮ้าส์เล็กๆ อยู่ด้านข้าง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และญาติๆ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน สามารถมาใช้คลับเฮ้าส์ทำกิจกรรมได้ โดยยังแบ่งความเป็นส่วนตัวระหว่างคลับเฮ้าส์และพื้นที่ใช้สอยในตัวบ้านออกจากกัน เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้าน เนื่องจากการเดินเข้ามาในคลับเฮ้าส์ไม่ต้องผ่านห้องนั่งเล่น

“ตัวบ้านยังเล่นกับแสงและธรรมชาติ ด้วยการตั้งต้นหมากเม่าไว้กลางบ้าน ทุกคนที่เดินเข้ามาในบ้านจะเจอต้นไม้ต้นนี้ และเมื่อเวลาเปลี่ยนไปในแต่ละวัน แสงที่ส่องผ่านต้นหมากเม่าจะเปลี่ยนบรรยากาศไป เป็นการตีความเรื่องความใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับต้นไม้มากมาย แค่การเล่นกับแสงก็เป็นความใกล้ชิดธรรมชาติได้เหมือนกัน”

บ้านหลังที่ 4 เป็นการออกแบบบ้านที่อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ แต่มีที่ดินมีเพียง 100 ตร.วา. แต่สร้างพื้นที่ใช้สอยออกมาเป็น 700 ตารางเมตร การสร้างบ้านจึงเป็นการสร้างเต็มพื้นที่ดิน แต่มีต้นไม้หนึ่งต้นอยู่กลางบ้าน เพื่อให้ทุกคนในบ้านยังมีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติอยู่บ้าง

“บ้างหลังนี้แม้พื้นที่จะจำกัด แต่ก็ยังมีลูกเล่นด้วยการผสมผสานรูปแบบของบันไดวนมาผสมกับกับบันไดแบบ Dogleg ซึ่งการสร้างบันไดลักษณะนี้จะก่อให้เกิดช่องว่างตรงกลางบันได เผื่อในอนาคตถ้ามีผู้สูงอายุก็สามารถสร้างลิฟท์มาไว้ตรงช่องว่างนี้ได้เลย ปัจจุบันการดีไซน์แบบนี้เป็นที่นิยมของบ้านเดี่ยวมาก เพราะเป็นการคิดเผื่ออนาคต”

และบ้านหลังสุดท้ายหลังที่ 5 เป็นบ้านอยู่อาศัยของคน 2 เจเนอเรชั่น แม่-ลูก เมื่อคนหนึ่งอยากได้คลาสสิค อีกคนชอบมินิมอล ซึ่งเชื่อว่าเป็นความท้าทายสุดคลาสสิกของคนสร้างบ้านที่ต้องตอบโจทย์รสนิยมที่แตกต่างกันของผู้อยู่อาศัย ในฐานะนักออกแบบต้องนำ 2 ความต่างนี้มาจูนกันให้ได้ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดของตำแหน่งที่ดิน เนื่องจากบ้านมีหน้ากว้าง แต่มีสายไฟแรงสูงพาดผ่านและมีรถวิ่งผ่านไปมาตลอดเวลา ไม่เกิดความเป็นส่วนตัว

“ตอนแรกลูกค้าจะแยกสร้างบ้าน 2 หลัง แต่เรามองว่าถ้าทำแบบนั้นจะทำให้ได้บ้านหลังเล็ก สุดท้ายคือนำบ้านสองหลังมารวมกัน โดยส่วนหน้าบ้านที่ติดถนนใหญ่ออกแบบเป็นหลังบ้านแทน โดยใช้กำแพงสูงกั้นตลอดแนว เว้นพื้นที่ให้จอดรถและเข้าออก แต่ส่วนหลังบ้านออกแบบเป็นห้องเปิดหน้ากว้างทุกห้องเพื่อให้ทุกห้องเปิดรับแสงได้ โดยใช้ลูกเล่นทรงกล่องที่มีเลเยอร์เป็นช่อง เพื่อให้บ้านเล่นกับแสงที่แตกต่างกันในกลางวัน-กลางคืน โดยแบ่งโซนคุณแม่-คุณลูกให้สามารถใส่การตกแต่งตามความชอบของตัวเองได้”

Design as A City Asset

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักรินทร์  แซ่ภู่

อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง [KMITL]

อาจารย์ผู้ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการเรียนรู้การออกแบบสภาพแวดล้อมเมืองร่วมกัน (The Hackable City : Mutual Learning Platform for Urban Environmental Design) ในชื่อ D.I.Y. Urban Design ใครๆ ก็ออกแบบเมืองเองได้” ของคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มาแชร์ให้เห็นว่าเมืองที่ดีต้องเป็นเมืองที่เกิดจากการออกแบบร่วมกันของชุมชน

“ดีไซน์อย่างไรแบบไม่ต้องดีไซน์ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนออกแบบเมืองได้ ทำอย่างไรจึงจะดีไซน์กระบวนการให้ทุกคนในชุมชนออกแบบชุมชนของตัวเองได้”

“เมืองที่ไม่ดีไซน์ เป็นเมืองที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะหลังโพสต์โควิด คนไทยมักบอกว่าเราไม่แข่งกับใคร แต่ต่อให้เราไม่แข่งกับใคร คนอื่นก็แข่งกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม 10 ปีที่แล้วกับ 10 ปีนี้ต่างกันมาก ระยะหลังเวียดนามใส่ใจการออกแบบพื้นที่เมืองมาก หรือแม้แต่สิงคโปร์เองที่วันนี้ไม่อยากเชื่อว่าเราบินไปต่างประเทศเพื่อเสียเงินไปเดินเที่ยวสวนที่สิงคโปร์ นั่นเพราะการออกแบบเมืองเป็นศาสตร์การพัฒนาดึงประชากรที่มีคุณภาพเข้ามาในเมือง”

แต่น่าแปลกที่เมื่อพูดถึงการพัฒนาเมืองในเมืองไทย มักเกิดเป็นแพ็กเกจ (Urban Design Pakage) ดร.สักรินทร์ มองว่าทฤษฎีของการพัฒนาเมืองของไทยวนเวียนอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านทำอะไรดี ไทยก็อยากทำบ้าง สถาปัตยกรรมที่ออกมาจึงไม่พ้น City Tower, Waterfront, Skywalk หรือสะพาน

“เมื่อพูดถึงการพัฒนาเมืองในไทย มันกลายเป็นแพ็กเกจ เหมือนจังหวัดข้างๆ มี  Skywalk จังหวัดต่อมาก็ต้องมี Skywalk จริงๆ สิ่งนี้ไม่ได้ผิด แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ กระบวนการที่ได้มามากกว่าว่าตอบโจทย์คนในชุมชนที่แท้จริงหรือเปล่า เพราะหลายครั้ง Skywalk สร้างมาแล้วไม่สามารถเดินได้จริง จนกว่าจะ 6 โมงเย็น เพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน แต่กลับดีไซน์ไม่ได้เอื้อให้คนเดินได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ 5-10 ปี แต่จะอยู่กับเมืองไปอีก 30-40 ปี ซึ่งงบประมาณการสร้างไม่น้อยเลยทีเดียว”

ดร.สักรินทร์ เชื่อในเรื่อง Human Centric และเชื่อว่ามนุษย์สามารถสร้างกระบวนการนี้ได้ให้ออกมาเป็นงานดีไซน์ที่ผ่านการไตร่ตรองมาแล้ว สามารถสร้างกระบวนการดีไซน์ร่วมกันได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่ได้ถูกใจทุกคน แต่ประนีประนอมที่จะอยู่ร่วมกันได้ เพราะนี่คือผลงานที่คนในชุมชนร่วมกันทำ ไม่ใช้ใครคนใดคนหนึ่ง

ดร.สักรินทร์ ยกตัวอย่างที่ดีในเยอรมัน กับโปรแกรมชื่อ POP (Place of Participatory) KDM Berlin ที่มีการนำพื้นที่รกร้องของเอกชนมาใช้ประโยชน์ในเชิงเมือง สร้างเป็นพื้นที่เปิด เป็นพิพิธภัณฑ์ในสวน

“ทำไมโปรแกรมแบบนี้ไม่เกิดกันในไทย ทำไมเราไม่สามารถสร้างความร่วมมือกันในการใช้พื้นที่ระหว่างเอกชน นี่คือสิ่งที่เรากำลังอยู่เพื่อสร้างโปรแกรมที่เรียกว่า Hackable City เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนเมืองต้องเปลี่ยนจากประสบการณ์”

ทั้งนี้การสร้างกระบวนการออกแบบเมือง สามารถทำได้ โดย ดร.สักรินทร์ ยกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากโครงการ Hack Sakon to Sakon Junction แฮ็กสกลนคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ D.I.Y. Urban Design โดยทีมงานลงสำรวจพื้นที่และพบปัญหาว่าพื้นที่นี้ผู้สูงอายุเยอะ ขณะที่เมืองใหม่อยู่ด้านนอกของเมืองเดิมซึ่งเป็นพื้นที่มหาวิทยาลัยที่มีคนคึกคัก แต่ตรงข้ามกับเมืองเดิมที่กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจที่กำลังจะตาย ทีมงานจึงเกิดไอเดียว่า ทำอย่างไรให้คนมาเดินในเมืองกัน ลองทำถนนที่เป็นมากกว่าถนน โดยการตั้งคำถามว่าถนนในเมืองควรเป็นอย่างไร

กระบวนการทำงานของทีมงาน ไม่เพียงเข้าไปสำรวจถนนและพบเจอเศรษฐกิจเล็กๆ น้อยๆ ของคนตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ดั้งแต่เดิม ก่อนจะถอดโมเดลคนเดินถนนนี้แบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการออกแบบถนนหน้าบ้านให้น่านั่ง น่ามอง และสร้างเศรษฐกิจเมืองเล็กๆ ให้ตอยสนองคนได้ทุกกลุ่ม

“เราเข้าไปคุยกับคนในเมือง คุยกับคนบนถนน คุยกับคนทุกกลุ่ม เกิดการระดมสมอง เกิดไดอะล็อคของเมืองที่ไมได้อยู่แค่ห้องประชุม เพื่อถามว่าเขาอยากให้ถนนในเมือง ในงชุมชนเขาเป็นอย่างไร เพราะเมื่อเกิดการสำรวจ ลงพื้นที่ เสียงก่นด่าของคนในชุมชนจะน้อยลง นี่เป็นงานทดลองที่ก่อให้เกิดการระดมความคิด และก่อให้เกิดก่อกระบวนการการออกแบบดีไซน์โดยคนในชุมชน”

ผลลัพธ์ที่ออกมา เบื้องต้นแบ่งเนื้องานออกเป็น 5 โซนตามจุดต่างๆ ของเมือง ด้วยการใช้สีทาพื้นถนนเพื่อสร้างสีสันและสร้างขอบเขตความปลอดภัยให้ตอบโจทย์การใช้งานในแต่ละจุด เช่น บริเวณหน้าศูนย์เด็กเล็ก ชุมชนรู้สึกใกล้ถนนเกินไปเกรงจะเสี่ยงอันตราย พวกเขาก็ทาสีให้ถนนเกิดสัญลักษณ์ บีบช่องจราจร เพื่อให้เกิดทางเดินถนนที่ปลอดภัย อีกทั้งสวยงามมีชีวิตชีวา และที่สำคัญส่งเสริมให้คนได้เดินด้วย เป็นการลงทุนเบาๆ เพื่อทดลองความเป็นไปได้หรือไม่?

สำหรับงานทดลองทำชิ้นแรก ดร.สักรินทร์ มองว่าประความสำเร็จ เกิดเป็นไวรัล เป็นกระแสไปโดยไม่ได้ตั้งใจโดยฝีมือคนในชุมชนเอง เนื่องจากคนในชุมชนสนใจและอยากติดตาม เพราะด้วยความงานออกแบบ DIY ฉะนั้นใครๆ ก็ได้ก็มีส่วนในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ได้

“งานออกแบบเริ่มจากทีมงานประสานงานเพียงแค่ 7 คน ทำหน้าที่แค่คุมงานเท่านั้น ที่เหลือเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนเป็นผู้ลงมือ ก่อนจะขยายไปสู่การทำทางเดินที่เชื่อมระหว่างบ้าน ระหว่างหมู่บ้าน (Gated Community) เกิดเป็นไวรัลของคนในชุมชนเอง พวกเขาเกิดการมีส่วนร่วมในสิ่งที่ทำ และในที่สุดเมื่อเขาได้ลงมือทำ เขาจะรู้สึกอยากใช้มันเองและดีไซน์เองด้วยว่าจะใช้มันอย่างไร ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่คนไม่ได้นึกถึง แต่เราร่วมกันออกแบบสร้างพื้นที่เหล่านี้ให้โตไปพร้อมกับเด็กๆ และลูกหลานของเราได้ ถ้าเราสามารถทำได้แบบนี้จะส่งเสริมให้งาน Gated Community ไปต่อได้อีกไกล”

นี่คือตัวอย่างเล็กๆ แต่ทรงพลังที่แสดงให้เห็นว่า กระบวนการกระตุ้นให้คนออกแบบเมืองของตัวเองร่วมกันสามารถทำได้และได้ผลลัพธ์ที่ดีได้ โดยโจทย์หลักอยู่ที่ให้คนในชุมชนลงมือทำ

Eco-Centric Development

ณัฐนี วงศ์วีระนนท์ชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการ One Bangkok

            ปิดท้ายด้วยโครงการเอกชนที่ได้รับความสนใจตั้งแต่ประกาศว่าจะสร้างอย่าง วัน แบงค็อก (One Bangkok) โครงการมิกซ์ยูสระดับประวัติศาสตร์ของไทยที่ตั้งอยู่บริเวณพระราม 4 ที่ไม่เพียงมุ่งเป้าไปสู่การเป็นมหานครแนวหน้าแห่งใหม่ของโลก แต่ยังเน้นการเป็นเมืองอัจฉริยะที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

การพัฒนาเมืองยั่งยืนในมุมมองของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สามารถทำอะไรเพื่อสร้างเมืองยั่งยืนได้บ้าง โอกาสนี้ ณัฐนี วงศ์วีระนนท์ชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการ One Bangkok จะทำหน้าที่ถ่ายทอดบทบาทภาคเอกชนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะอยู่คู่ไปกับเมืองได้เช่นกัน 

แนวคิดการสร้างเมืองยั่งยืนของ วัน แบงค็อก มาจากที่มาของแนวคิดในการสร้างโครงการEvolving Bangkok หรือโครงการที่จะสามารถวิวัฒน์และพัฒนาไปพร้อมกับกรุงเทพได้ ซึ่งโครงการวัน แบงค็อก ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นที่ 104 ไร่ มีทั้งอาคารสำนักงาน อาคารพักอาศัย โรงแรม ในลักษณะซิตี้บล็อกขนาดใหญ่ มีจุดเชื่อมต่อด้วยโอเพ่นสเปซต่างๆ ซึ่งส่วนพื้นที่สาธารณะต่างๆ นี้ คือ ส่วนช่วยส่งเสริมการสร้างเมือง

การพัฒนาเมืองตามแนวคิด Evolving Bangkok ก่อให้เกิดหลักความยั่งยืนตามคอร์แวลูในการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 3 ประการ ได้แก่ 1.People Centric 2.Green 3.Smart City หลักการนี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ 3 ประการ ได้แก่ 1.การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม 2.สิ่งแวดล้อมโลกและสิ่งมีชีวิตต่างๆ 3.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจการเงินเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“เราให้ความสำคัญกับเรื่องการดีไซน์เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นในบริบทเมือง ขณะเดียวกับเราไม่ได้มองข้ามเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งที่เรานำมาช่วยคือเรื่องเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ เพราะเรามองว่านี่คือส่วนที่ทำให้คนใช้ชีวิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้บริหารทรัพยากรภายในโครงการได้ดียิ่งขึ้นด้วย”

“หลักความยั่งยืนของ วัน แบงค็อก เราไม่ได้สร้างเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวอย่างที่คนอื่นเข้าใจ แต่เรายึด People Centric ทำอย่างไรจึงจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ได้ ไม่ใช่แค่ลูกค้าหรือผู้อาศัยเท่านั้น เพราะเวลาพูดถึงความเป็นอยู่ที่ดี พื้นฐานของความเป็นอยู่ที่ดี คือ การมีบ้าน อาหาร มีน้ำ-ไฟใช้ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยวัสดุทางทรัพยากรธรรมชาติ ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ต้องลดผลกระทบจาก Climate Change ได้ด้วย

“ขณะที่อีกปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้คือเรื่อง เศรษฐกิจความมั่นคงทางการเงิน เพราะนี่คือปัจจัยที่ทำให้คนมีบ้าน-มีน้ำ-มีไฟใช้ เหล่านี้คือสาธารณูปโภค หากมองภาพใหญ่ขึ้นไปอีก เมื่อประเทศหนึ่งๆ มีความสามารถสร้างสาธารณูปโภคที่ดี นั่นหมายถึงประเทศนั่นมีความมั่นคงเศรษฐกิจ นี่คือปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ฉะนั้นการสร้างเมืองยั่งยืนไม่ได้มองแค่เรื่องประหยัดน้ำพลังงานอย่างเดียว”

มองในเชิงกายภาพเมือง การนำหลักความยั่งยืนของวัน แบงค็อก มาสร้างเมือง จึงมองไปที่การสร้างพื้นที่สาธารณะและซิตี้บล็อก เพราะการสร้างเมืองแบบซิตี้บล็อก ก่อให้เกิดพื้นที่เปิดทำให้เกิดชุมชนเปิด ผู้คนสามารถเข้ามาสัมผัสความหลากหลาย ความมีชีวิตชีวา ส่งเสริมให้คนเกิดปฏิสัมพันธ์ได้ ซึ่งจะสนับสนุนให้คนเกิดสุขภาพกายและใจที่ดี

นอกจากนี้การสร้างโอเพ่นสเปซและซิตี้บล็อก ยังส่งเสริมให้เกิดไลฟ์สไตล์การเดินให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริง ผ่านการวางจุดต่างๆ ของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นร้านรวง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หรือการแสดงผลงานศิลปะที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อให้คนเกิดโหนดในการเดินไปยังจุดต่างๆ ก่อให้เกิดการพบปะของผู้คนมากขึ้น อีกทั้งโอเพ่นสเปซต่างๆ มีการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายของผู้คนที่แตกต่างกัน ส่งเสริมให้คนได้ใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น

“ชุมชุนเปิดที่เราพูดถึงจะไม่มีการล้อมรั้วโครงการ เพื่อเปิดให้คนเข้ามาใช้งานได้ 24 ชม. โดยพวกถนนหรือทางเดินทางต่างๆ จะออกแบบให้กว้าง เพื่อดึงคนให้เข้ามาใช้พื้นที่มากขึ้น เดินสวนกันไปมาได้สะดวก มีแนวต้นไม้อยู่ตามทางเดิน เพื่อสร้างร่มเงา ช่วยให้อากาศเย็นและบล็อกฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนร้านรวงสองข้างทาง เพื่อสร้างบรรยากาศให้การเดินให้เกิดความเพลิดเพลินขึ้น ทำให้ระยะการเดินรู้สึกไม่ไกล”

สำหรับเรื่องพื้นที่เปิดโล่งหรือโอเพ่นสเปซ เป็นอีกสิ่งที่วัน แบงค็อกให้ความสำคัญ เพราะถ้ามาพิจารณาเชิงตัวเลข ไทยมีพื้นที่สาธารณะเทียบต่อประชากรต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ สิ่งที่วัน แบงค็อก พยายามทำ คือ พื้นที่โอเพ่นสเปซที่มีความหลากหลาก คนทั่วไปสามารถเข้าถึง โดยพื้นที่เหล่านี้มีความหลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ รองรับได้ตั้งแต่กลุ่มคนไปจนถึงมวลคนขนาดใหญ่ เน้นการเข้าถึงพื้นที่ได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่คนที่อยู่ในพื้นที่ข้างเคียงก็สามารถเข้ามาใช้พื้นที่นี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าถึงกลางโครงการ อีกทั้งดีไซน์พื้นที่โอเพ่นสเปซให้เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวเรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่โครงการ ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยส่งเสริมที่อยู่ของสัตว์เล็กที่อยู่ในเมืองทั้งหมด

แน่นนอกว่าการมีพื้นที่โอเพ่นสเปซมาก การดูแลรักษายิ่งมากตามมา ณัฐนี ฉายภาพให้เห็นการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการดูแลรักษาตามหลักความยั่งยืนว่า ที่วัน แบงค็อก สร้างระบบสาธารณูปโภคแบบรวมศูนย์ จำกัดการติดตั้งอยู่แค่จุดๆ เดียว จึงเป็นการเปิดโอกาสให้โครงการมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นไม่ใช่แค่พื้นราบและรวมถึงบนหลังคาด้วย ที่สำคัญระบบเหล่านี้เอื้อให้เกิดการลดการใช้พลังงานและน้ำ ประหยัดทรัพยากร

ยกตัวอย่างระบบน้ำเย็นรวมศูนย์ เป็นระบบการจ่ายน้ำเย็นไปที่เครื่องปรับอากาศทั้งหมด เป็นการเปลี่ยนจากระบบทั่วไป มาใช้ระบบน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ นั่นหมายถึงการสามารถรวมคูลลิ่งทาวเวอร์และหอระบายความร้อนมาอยู่ในจุดเดียวได้ทั้งหมด ข้อดีคือสามารถควบคุมการระบายความร้อนได้ดีกว่า พื้นที่บนหลังคาสามารถเปิดโล่งได้ทั้งหมด สามารถสร้างเป็นโอเพ่นสเปซและเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ดีกว่าระบบทั่วไป

“แม้แต่ระบบรีไซเคิลน้ำและกักเก็บน้ำฝนก็ใช้ระบบแบบรวมศูนย์ เนื่องจากเรามีพื้นที่สีเขียวมาก ทำให้ต้องคำนวณน้ำรดต้นไม้ โดยไม่เพิ่มค่าใช้จ่าย เราจึงคิดวิธีการรีไซเคิลน้ำจากการเก็บน้ำเสียจากอาคารทุกหลังและกักเก็บน้ำฝน นำมาเข้าระบบรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้รดต้นไม้ ใช้ในระบบสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ และระบบคลูลิ่งทาวเวอร์อีกด้วย”

จากระบบดังกล่าว นอกจากจะช่วยอาคารในการดูแลพื้นที่แล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น ระบบน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ลดการให้พลังงานต่อปีได้มากกว่า 17,000 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ระบบรีไซเคิลน้ำประหยัดน้ำได้ต่อปี 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญที่นำ 3 แกนหลักการยั่งยืนสไตล์วัน แบงค็อก มาปรับใช้ เพราะวัน แบงค็อกเชื่อว่า การมีพื้นที่สีเขียวและเพิ่มพื้นที่โอเพ่นสเปซให้กับเมืองจะเป็นการส่งเสริมให้คนเกิดความมั่นคงทางสังคม สุขภาพ ตลอดจนงานระบบภายในโครงการ ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนใช้จ่ายในการดูแลรักษาทั้งน้ำและพลังงาน แต่ยังเพิ่มความสามารถในการดูแลพื้นที่สีเขียวนี้ได้ในระยะยาว อีกทั้งช่วยลดการใช้ทรัพยากรโลกและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่อัดแน่นไปด้วยสาระความรู้ ที่เชื่อมั่นว่าจะช่วยจุดประกายงานออกแบบและการสร้างเมืองยั่งยืนได้ให้แก่วงการอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่แค่เพื่อวันนี้และเพื่ออนาคตอีกด้วย