เก็บตกสาระการออกแบบและจัดการเมืองบนเวที Creative Talk ในงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ของ TERRAHINT ​​Brand Series 2022 : ขบคิด ติดเครื่องแบรนด์ เพื่ออนาคต โดยปีนี้จัดขึ้นตามแนวคิด “GOOD HEALTH AND WELL-BEING” ทำให้งานสัมมนาในปีนี้มาในหัวข้อ “แนวคิดการออกแบบเพื่ออนาคต DESIGN FOR THE FUTURE” เนื้อหาเข้มข้นอัดแน่น นำเสนอแนวทางการสร้างเมืองเพื่อความยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิต จากวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายวงการถึง 7 ท่าน

ส่วนแต่ละท่านมาแชร์ไอเดียบรรเจิดขนาดไหน TerraBkk มีสรุปของแต่ละท่านมาฝาก
 

Digital Twin and Self-sustaining Built Environment

ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Asset activator จำกัด

เปิดเวทีด้วย ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Asset activator จำกัด และกรรมการผู้จัดการบริษัท ดี ที เอ็กซ์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Digital Twin มาใช้ในการบริหารจัดการอาคารและเมือง เริ่มต้นการทอล์คด้วยการย้อนบทสรุปงานวิจัยเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มที่อยู่อาศัย 2022 งาน TERRAHINT Brand Series 2022 ซึ่งสรุปโดยสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัดว่า ท้ายสุดแล้วผู้บริโภคและผู้อยู่อาศัยต้องการ 3 เรื่องจากผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ได้แก่ ระบบความปลอดภัยที่ดี พื้นที่สีเขียว และเพื่อนบ้าน ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์สักพักหนึ่ง แต่เรื่องที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ นั่นหมายความว่าผู้พัฒนาโครงการจะมีภาระมากขึ้น งานบริการหลังการขายที่มากขึ้น และมีพอร์ตหรือโครงการที่ต้องดูแลมากขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งที่จำเป็นเพื่อบริหารโครงการสินทรัพย์เหล่านี้ ไม่พ้นกระบวนการทำงานมอนิเตอร์ริ่ง เพื่อมาช่วยสอดส่องดูแลบริหารโครงการต่างๆ

เมื่อย้อนกลับมาดูการมอนิเตอร์ริ่งในมุมของ Digital Twin แท้จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยดร.พร นิยามการทำงานของเทคโนโลยี Digital Twin ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า Digital คือ ข้อมูลในรูปแบบที่รู้ได้ทันที อยู่ที่ว่าเอาไปต่อกับอุปกรณ์อะไร เมื่อเป็น Digital Twin ก็คือเทคโนโลยีการเชื่อมโยงข้อมูลจากกายภาพออกมาเป็นดิจิทัลเพื่อให้สามารถตรวจวัดเก็บค่าได้ เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลบอกสถานะทุกอย่างของวัตถุทางกายภาพนั้นได้แบบเรียลไทม์ เพื่อนำผลการตรวจสอบมาใช้ประโยชน์

ยกตัวอย่างแนวคิดการทำงานของ Digital Twin ก็เหมือนแต่งตัวอยู่หน้ากระจก โดยกระจกจะสะท้อนข้อมูลตรงกันกับตัวคุณจริง หรือการใช้หรือนาฬิกาสมาร์ทวอทช์บอกค่าต่างๆ ภายในร่างกาย เพื่อให้เจ้าของร่ายกายสามารถมอนิเตอร์ริ่งได้ว่าร่างกายของเราในเวลานั้น สุขภาพเป็นอย่างไร

เมื่อมองกลับมาที่การใช้ Digital Twin ในเชิงอุตสาหกรรม นั่นคือการมอนิเตอร์ข้อมูลจำนวนมหาศาลทั้งอาคารและอุตสาหกรรมทั้งหมดหรือทั้งเมือง ซึ่งต้องอาศัยทีมงานมาคอยช่วยสั่งการเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หรืออาจต้องนำผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในแต่ละสาขามามอนิเตอร์ริ่งเพื่อมาวิเคราะห์ความเป็นไปของอุตสาหกรรม

“นี่คือปรากฏการณ์ของโลกการทำงานแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะต้องมีกระบวนการมอนิเตอร์ริ่งมาคอยติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ของระบบการทำงานและสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา”

ในอุตสาหกรรมชั้นสูง Digital Twin มีมานานแล้ว เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กับในอุตสาหกรรมระดับพรีเมี่ยม ไม่ว่าจะเป็นวงการแพย์ การขุดเจาะน้ำมัน หรือวงการบิน แต่ทุกวันนี้ Digital Twin สามารถนำมาใช้ในการบริหารอาคาร เมือง และระบบสาธารณูปโภคได้แล้วเช่นเดียวกัน แทนที่การใช้ผัง, แผนที่, โมเดล หรือข้อมูล ซึ่งทั้งหมดอยู่ในรูปแบบที่ใช้งานยาก หากต้องวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล

ดร.พรยกตัวอย่างเคสจริงของใช้ Digital Twin ในการบริการโครงสร้างสาธารณูปโภคและเมืองมาแล้ว อาทิ สะพานในนอร์เวย์ ที่มีสะพานหลายพันแห่ง จึงมีการใช้เทคโนโลยี Digital Twin เข้ามาช่วยมอนิเตอร์ริ่ง ในการแจ้งเตือนโครงสร้างของสะพานอยู่ในเกณฑ์ต้องซ่อมแซมจุดใด ที่สำคัญสามารถแจ้งตำแหน่งว่าต้องเฝ้าระวังจุดไหนบ้างอย่างชัดเจน ก่อนสะพานจะพัง ซึ่งช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้มหาศาล

กรณีสิงคโปร์ มีระบบส่งไฟฟ้ามากกว่า 11,000 จุด แต่ไม่มีคนดูแลได้ทั่วถึง ต้องอาศัยออโตเมชั่นในการดูแล เมื่อเกิดความเสียหายที่จุดใดจุดหนึ่ง Digital Twin สามารถแจ้งเตือนตำแหน่งได้ว่าจุดไหนที่มีความเสียหาย และทุกคนในระบบจะรู้ทันทีว่าอยู่จุดไหนตรงไหนได้ในระดับตำแหน่ง

กรณีอัมสเตอร์ดัม เป็นเมืองที่มีข้อมูลมากกว่าเกินไป มีทั้งผัง 3D โมเดล รวมถึง Data Analytic ที่เต็มไปด้วยชุดข้อมูลตัวเลขมากมาย ในที่สุดเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ทีมงานรวมทุกส่วนนี้เข้าเป็นชุดงานชิ้นเดียวกันด้วย เป็น Digital Twin ที่แม้แต่ผู้ว่าการเมืองดูครั้งเดียวก็เข้าใจในหน้าจอแสดงผลเดียว และสามารถเข้าไปจัดการปัญหาได้ทันท่วงที

“จะสังเกตได้ว่าวิธีการทำงานของโลกยุคใหม่มีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการมอนิเตอร์ริ่งที่ชัดเจนมากขึ้น ลองนึกถึงว่าเป็นโครงการหมู่บ้านสักแห่ง จ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยเข้ามาดูแล คงไม่ได้เชื่อมั่นมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่ทุกวันเราสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลแทนได้ คุณประโยชน์ของ Digital Twin คือช่วยให้พึ่งคนน้อยลง ให้มนุษย์เอาเวลาไปทำงานอย่างอื่น Digital Twin ช่วยสามารถบริหารข้อมูลแบบเรียลไทม์ และ Digital Twin เป็นการนำข้อมูลมาต่อยอดเพื่อหาอินไซต์หรือเพื่อการสร้างรายได้”

เมืองที่ดี SmartCity คือเมืองที่รู้ใจเรา ฉะนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้เพื่อตัดสินใจหรือที่เรียกว่า AI จึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่มาถึงอย่างแน่นอน

เพราะเมืองคงไม่ได้ตอบโจทย์ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้ทุกคน และการตัดสินใจขับเคลื่อนเมืองมีผู้ตัดสินใจหลายคน นั่นคือโจทย์ต่อไปของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือ การสร้างเมืองที่รู้ใจผู้อยู่ 

           

Why Iconic Architecture Matters?

คุณไพทยา บัญชากิติคุณ  Managing Director & Partner, ATOM design

อีกแง่มุมการออกแบบที่น่าสนใจจาก ไพทยา บัญชากิติคุณ  Managing Director & Partner, ATOM design. ผู้คลุกคลีในวงการสถาปนิกมานานกว่า 20 ปี มาแชร์เรื่องไอคอนนิคหรือแลนด์มารค์มีความสัมพันธ์อย่างไรกับเมือง เศรษฐกิจ ผู้คน

เขาย้ำว่า 3 ส่วนเรื่องนี้มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก เพราะการมีไอคอนนิคหรือแลนด์มาร์คที่กลายเป็นที่จดจำ สถาปัตยกรรมเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดอีโคโนมีทรานซิชั่นและทราเวลบิสเนสเข้ามาในพื้นที่ และเป็นการตลาดของเมืองมหานครใหญ่ๆ ที่จะมีการสร้างแลนด์มาร์ค เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของเมือง นำไปเป็นตัวดึงการเติบโตของเมือง ไดร์ฟทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเมือง  พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่มีอยู่มากมายตามเมืองใหญ่

            “เวลาไปตามเมืองใหญ่ๆ เราจะเจอไอคอนนิคของเมืองนั้นๆ ไอคอนนิคเลเยอร์เหล่านี้เป็นตัวดึงให้เกิดการท่องเที่ยวขึ้น เช่น ก่อนปี 1973 เมื่อนึกถึงออสเตรเลียจะนึกภาพในหัวไม่ออกเลย แต่เมื่อเกิดโอเปร่าเฮ้าส์ ที่เมืองซิดนีย์ ซึ่งสร้างเมื่อปี 1973 โอเปร่าเฮ้าส์กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่คนจดจำไปทั้งโลกทันที”

“กรณีพิพิธภัณฑ์ Bilbao 1997 เมืองบิลบาว สเปน ก่อนหน้านี้เมืองนี้ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่หลังเกิดไอคอนนิคแห่งนี้ เกิดทราฟฟิคทราเวลเลอร์ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านทริปต่อไป ลองคิดแบบง่ายๆ ว่าถ้ามีการใช้เงินทริปละ 1,000 บาท ประเทศจะสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่า 2 พันล้านบาท นี่เป็นการคำนวณง่ายๆ ที่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างถึงความสำคัญของไอคอนนิคแลนด์มาร์ค”

แม้แต่การเปลี่ยนภาพจำก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับสิงค์โปร์ หลังการเกิดขึ้นของมารีนาเบย์แซนส์หรือ อาคารออเคสตร้า ฮอลล์ สิงคโปร์ อาคารรูปทรงทุเรียน ก่อนหน้านี้ภาพจำของสิงคโปร์จะนึกถึงเมอร์ไลออน แต่ปัจจุบันสิงคโปร์เกิดสถาปัตยกรรมหลายอย่างให้จดจำ ซึ่งภาพจำเหล่านี้ก่อให้เกิดอีโคโนมีทรานซิชั่นเข้ามาในพื้นที่

ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน ที่มีวัดพระแก้วเป็นไอคอนนิคใช้มาตั้งแต่โบราณจนถึงวันนี้ก็ยังสามารถเรียกนักท่องเที่ยวได้จากทั่วโลก หรืออย่างกรณีวัดร่องขุ่น เชียงราย เคยมีการเคลมว่าวัดแห่งนี้เพิ่มนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเชียงรายได้มากกว่าปีละ 2 ล้านคน

เมื่อมาดูอิมแพ็คไอคอนนิคในสเกลเมืองหรือย่าน ยกตัวอย่างเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ย่านรัชดาเมื่อครั้งสร้างซูเปอร์ทาวเวอร์ (RamaIX Super Tower Bangkok) ในยุคที่ย่านนี้เพิ่งเกิดกระแสว่า ‘รัชดา คือ NEW CBD ของประเทศ’ ขณะนั้น G LAND มีพื้นที่ขนาดใหญ่และต้องการพัฒนาพื้นที่ประมาณ 1.2 ล้านตารางเมตร โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้ให้คนเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้คือ NEW CBD

หลังจากศึกษากลยุทธ์จึงตกผลึกมาได้ว่า ถ้าจะพัฒนาพื้นที่นี่ตรงนี้เพื่อให้เกิดความเป็น NEW CBD จะสร้างพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นป่าคอนกรีตอย่างเดียวนั้นไม่ได้ หากแต่ต้องมีพื้นที่เปิดเป็นพลาซ่าขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้น ประกอบกับขณะนั้นสำนักงานที่ตั้งของ AIA และตลาดหลักทรัพย์มีแผนจะย้ายมาตั้ง ณ พื้นที่แหล่งนี้ ซึ่งจะเกิดเป็นแหล่งงานขน่าดใหญ่ ปรากฏการณ์นี้จึงเกิดหมุดหมายที่มาตอกย้ำให้เห็นคาแร็คเตอร์ของ NEW CBD ของย่านรัชดา-พระราม 9 ชัดเจนมากขึ้นไปอีก

ท้ายสุดแล้วโครงการแห่งนั้นจึงมีการเปลี่ยนมาสเตอร์แปลนจากเดิมจะสร้าง 3 ตึกเป็นออฟฟิศบิลดิ้งเพียงตึกเดียวและเป็น Supertall เพื่อให้อาคารนี้สร้างสถาปัตยกรรมที่แตกต่าง พื้นที่ที่เหลือสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะ และปรับบางส่วนเป็นพลาซ่า ...นี่คือคาแร็คเตอร์ของ NEW CBD…

หลังจากมีการประกาศว่าจะมีการสร้างซูเปอร์ทาวเวอร์ขึ้นบนทำเลนี้อย่างเป็นทางการ แค่ประกาศเท่านั้นพื้นที่โดยรอบก็เกิดคอนโดและอาคารสำนักงานรายรอบมากกว่า 20 กว่า ภายในปีเดียวมีโครงการเปิดตัวมากกว่า 48,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 84,000 หมื่นล้านบาท กลายเป็นการสร้างอิมแพ็คให้เกิดขึ้นรอบพื้นที่ 1.2 ล้านตารางเมตรนับแต่นั้น

ไม่เพียงแต่อาคารสำนักงานหรืออาคารสาธารณะเท่านั้น แม้แต่อาคารที่อยู่อาศัยก็สามารถเป็นแลนด์มาร์คหรือไอคอนนิคได้ สถาปนิกคนเดิมยกตัวอย่างอีกหนึ่งผลงานของเขา อย่างคอนมิเนียม Ideo Q Chula - Samyan ซึ่งเป็นเป็นโครงการของอนันดา ร่วมมือกับมิตซุย บริษัทผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น

“ก่อนหน้านี้อาคารแห่งนี้ไม่ได้มีรูปทรงอย่างที่เห็น แต่โจทย์ของอาคารนี้ต้องการให้ตัวอาคารมีความพิเศษ แตกต่าง และสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำคอนโดของแบรนด์อนันดาในเวลานั้น จึงมีการเปลี่ยนการออกแบบรูปทรงตึก สิ่งที่ได้กลับมาไม่เพียงสร้างความโดดเด่นแตกต่างย้อนกลับมาที่แบรนด์ แต่ยังทำให้อาคารแห่งนี้เป็นอายบอล ประกอบกับกลยุทธ์การตลาด ทำให้อาคารหลังนี้กลายเป็นกระแส ก่อให้เกิดการสร้างยอดขาย สร้างความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ตลาดคอนโดเกิดการตื่นตัวในการเล่นกับรูปทรงของอาคารในเวลาต่อมา”

เมื่อพูดถึงไอคอนนิคบิลดิ้งดีไซน์ ไม่จำเป็นต้องใช้งบมหาศาลเท่านั้น ยกตัวอย่างโครงการ Ashton Asoke ที่มีการใช้กิมมิครูปตึกทรงสลิม เล่นกับความสเลนเดอร์ของอาคารเพื่อสร้างความแตกต่างก็สามารถสร้างความจดจำได้ หรืออย่างเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว โครงการคอนโดมิเนียม Ashton อีกแห่ง ยกสระว่ายน้ำไปอยู่บนชั้นดาดฟ้า ซึ่งยุคนั้นถือเป็นโครงการแรกๆ ที่ฉีกกฎเดิมๆ จากการนำสระว่ายน้ำมาอยู่บนดาดฟ้า

นอกจากจะสร้างภาพจำแปลกตาไปจากเดิมให้กับอาคารแล้ว ยังสร้างภาพวิวใหม่ให้กับผู้ใช้บริการ และสร้างไอคอนนิคภาพจำไปอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งเป็นประโยชน์ในเชิงการตลาดระยะยาว เพราะเป็นการสร้างแต้มต่อจากการนำส่วนกลางมาเป็นจุดขายของโครงการอีกด้วย

            เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นประโยชน์ของการสร้างไอคอนนิคมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคน เมือง และเศรษฐกิจ ที่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะนำมาต่อยอดได้ต่อไป