บทความโดย อรอนงค์ ชัยธง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรอสเพค รีท แมเนจเมนท์ จำกัด
ผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล (PROSPECT)

ปี 2564 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอีกปีที่หนักหนาสาหัส สำหรับพวกเราทุกคน แต่ก็น่ายินดีกับหลายๆ ท่านที่สามารถข้ามผ่านไปต่อได้ในปีนี้ แต่สำหรับหลายท่านที่ยังติดอยู่ในปีที่ผ่านมา คิดว่าควร Move On มาปีนี้ได้แล้ว มาตั้งต้นกันใหม่ ว่าเราจะทำยังไงกับการลงทุนในปีนี้ดี

จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่มีปัจจัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ทุกท่านอาจจะได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งปัจจุบันอาจจะดูเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งเรื่องของการ WFH หรือแม้แต่ความไม่แน่นอนของการลงทุนทั้งใน ตลาดหุ้น และตลาดใหม่ ๆ อย่าง คริปโตเคอเรนซี่ โดยส่วนตัวมองว่า ปีหน้าเป็นปีที่เรา ๆท่าน ๆ ควรจะหันมามองเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากปีที่แล้วมาเป็นบทเรียนที่สำคัญและเตรียมรับมือกับมัน ดีกว่าจะมานั่งเสียดายและเสียใจคร่ำครวญกับสิ่งต่าง ๆ ที่มันย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้

หลัก ๆ ที่อยากจะแนะนำสำหรับการลงทุนในปีนี้ในแบบฉบับของความคิดเห็นส่วนตัว ที่ลองนำมาใช้แล้วได้ผลและอยากจะแชร์ให้กับนักลงทุนก็คือ การบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งเรื่องนี้สามารถนำมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ทำให้หลายคนอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ได้ การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) หมายถึงวิธีการบริหารจัดการเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นการคาดการณ์ และลดทอนผลเสีย ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น โดยมีวิธีการจัดการต่างๆ มากมายหาอ่านในตำราได้ แต่สำหรับส่วนตัวแล้ว คิดว่าใช้ กลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงแบบ 4T เอาอยู่ โดยขออธิบายสั้น ๆ ดังนี้

1. Take (ยอมรับ) เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทั้งในระดับของพอร์ตการลงทุน และหุ้นรายตัวควรมีแผนสำรองสำหรับกรณีที่เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีแผนในการจัดการหรือตั้ง Budget รองรับไว้ เช่น ตั้งมูลค่าที่จะเข้าลงทุนที่ยอมรับได้กับความผันผวนของหุ้น จะด้วยการประเมินคุณภาพของหุ้น หรือผลตอบแทนในอนาคตก็ตาม และอาจจะเตรียมแผนสำรองสำหรับที่จะเฉลี่ยต้นทุนไว้บ้าง หากมองว่าความเสี่ยงที่จะเกิด ยอมรับได้ สามารถลงทุนในระยะยาวได้ การลงทุนเพิ่มอาจจะเป็นโอกาสในการลงทุนที่ส่งผลดี

2. Treat (ลดหรือควบคุม) ความเสี่ยงชนิดนี้ยังเป็นความเสี่ยงที่รับได้แต่จำเป็นจะต้องหาวิธีการควบคุมไม่ให้เสี่ยงมากขึ้น หรืออาจจะดีกว่านั้นคือหาวิธีลดความเสี่ยงให้พอที่จะรับได้ เช่น ควบคุมกำหนดสัดส่วนการลงทุนหุ้นแต่ละตัว ไม่ให้มีสัดส่วนสูงเกินไปในพอร์ต ไม่ว่าจะ 10% หรือ 20% เพื่อควบคุมความเสี่ยงไม่ให้หุ้นบางตัวที่มูลค่าลดลงอาจจะกระทบมูลค่าการลงทุนทั้งพอร์ตมากเกินไป หรือการขายออกบางส่วนอาจจะสามารถลดและควบคุมจำกัดความเสียหายของพอร์ตการลงทุนให้ลดลงได้

3. Transfer (ถ่ายโอนหรือกระจาย) เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้แต่จะต้องมีกระบวนการเพิ่มเติมค่อนข้างมาก ในการโอน การกระจายความเสี่ยง หรือการโอนหรือกระจายความรับผิดชอบกับผู้อื่น เช่น การทำประกันภัยสำหรับธุรกิจทั่วไป หรือ การกระจายการลงทุนในพอร์ตการลงทุน ให้มีทั้ง หุ้นที่พื้นฐานดี หุ้นหรือ REIT ที่มีอัตราผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอ และหุ้นที่เติบโตเร็ว ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตัวของนักลงทุนเองจะยอมรับได้

4. Terminate (หยุดหรือหลีกเลี่ยง) เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ จำเป็นจะต้องหยุดหรือการดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น หุ้นบางตัวอาจจะกระทบมูลค่าการลงทุนทั้งพอร์ตมากไป ควรประเมินสถานการณ์ของหุ้นนั้นว่ายังคงมีคุณภาพดี หรือยังคงเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ตอนเริ่มลงทุนอยู่หรือไม่ หากสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว อาจต้องตัดสินใจ Cut Loss หุ้นบางตัวออกไป เพราะถ้าถือต่อไปก็จะก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคตเพิ่มอีกได้

ถึงแม้ว่า แนวทางการลงทุนที่แนะนำสำหรับนักลงทุนในปี 2565 จะเน้นเรื่องการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น แต่ต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพของหลักทรัพย์แต่ละตัวด้วย รวมถึงข้อมูลก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจในการลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะให้การบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก แต่เป็นไปเพื่อการลงทุนที่มีคุณภาพและยั่งยืน ช่วยลดความกังวลในการลงทุน แต่ถ้าหากนักลงทุนมีความกังวลมากเกินไป อาจส่งผลให้พอร์ตการลงทุนไม่เติบโตได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นนักลงทุนควรบริหารจัดการพอร์ตให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้เช่นกัน