ดร.ประเสริฐ ปิ่นงาม (Ph.D., TREES-A NC)

วท.บ. สาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล

มีงานวิจัยของ Prof. Samy Hadjadj ที่ออกมาเผยแพร่กับวารสาร Diabetologia  เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงร่วมที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิด 19 ที่มาพร้อมกับการเป็นเบาหวานร่วมด้วย โดยมีจำนวนผู้ที่เข้ารับการศึกษาครั้งนี้ 1317 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย 65% ที่มีอายุโดยเฉลี่ยมากกว่า 70 ปี โดยผลการรักษาพบว่า 10 % จะเสียชีวิตในช่วง 7 วันแรก และ 20 % ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยระหว่างการรักษา กระบวนการในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดยังสามารถทำได้ตามปกติ ไม่มีการรบกวนการรักษาโควิด 19 ซึ่งในเบื้องต้นพอที่จะสรุปได้ว่าเรื่องของน้ำหนักตัว โรคอ้วนและการเป็นเบาหวาน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด 19 และมีผลต่อการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ (ที่มา : https://diabetologia-journal.org )

จากงานวิจัยของต่างประเทศที่มีการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นวิชาการถึงความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งถ้ากลับมาตรวจสอบข้อมูลของประเทศไทยจะพบว่ามีความชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องกันมากกว่าฝรั่งเศส โดยข้อมูลของ ศบค. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ทั้งหมด 47 ราย โดย 43 รายเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 38 ราย ไขมันในเลือดสูง 19 ราย โรคหัวใจ 13 ราย ภาวะอ้วน 9 รายและโรคไต 9 รายเป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มของโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรังหรือ NCDs ตามที่พวกเราส่วนใหญ่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า โรคนี้เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินหรือรูปแบบการใช้ชีวิตของสังคมที่ทันสมัย โดยปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยมีจำนวนถึง 4.8 ล้านคน และเมื่อป่วยเป็นเบาหวานแล้วยังมีผลเกี่ยวเนื่องที่ตามให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆตามมาอีกมากมาย โดยโรคที่ทุกคนกลัวกันมากๆก็คือโรคมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันมากมายถึงความเกี่ยวข้องและส่งผลเสียถึงกันและกันอย่างมีนัยสำคัญ

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของความสัมพันธ์ระหว่าง น้ำตาล เบาหวานและมะเร็ง

Prof. Robert Lustig กุมารเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็นและได้สรุปไว้อย่างชัดเจนว่ามะเร็งคือโรคที่เกิดการเผาผลาญอาหารบกพร่อง โดยมีน้ำตาลเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งได้เร็วมากยิ่งขึ้น

รูปแสดงสมมุติฐานของความสัมพันธ์ระหว่างน้ำตาล เบาหวานและมะเร็ง

จากรูปด้านล่างที่แสดงแนวโน้มในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ค่อนข้างจะชัดเจนเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลที่เพิ่มมากขึ้นกับการเกิดโรคมะเร็งที่สูงขึ้นด้วย แต่ประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควรถึงความสัมพันธ์ของการบริโภคน้ำตาลกับอัตราการเกิดมะเร็ง เนื่องจากว่าสาเหตุของการเกิดมะเร็งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ซึ่งบรรดาเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็พยายามในการที่จะค้นหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะยืนยันถึงสาเหตุและกลไกการเกิดโรคมะเร็ง เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางในการป้องกันและรักษาโรคต่อไป

Warberg effect เปิดประตู่สู่โลกแห่งความรู้ของการเกิดโรคมะเร็ง

ความพยายามในหาค้นหาสาเหตุและกลไกของการกลายเป็นเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเกือบ 100 ปี ที่ผ่านมาโดย Otto Warberg นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เมื่อปี ค.ศ. 1924 โดย Warberg ค้นพบว่าเซลมะเร็งมักจะสร้างพลังงาน (ATP) โดยใช้วิถีไกลโคไลซิสเป็นหลัก มากกว่าที่จะใช้วัฏจักรกรดซิตริกหรือวัฏจักรเครปส์กับการถ่ายทอดอิเลคตรอนที่เกิดไมโตรคอนเดรียที่ให้พลังงานมากกว่า โดยเรียกปรากฏการณ์ที่เซลล์มะเร็งสร้างพลังงานผ่านกระกระบวนการไกลโคไลซิสนี้ว่า “Aerobic glycolysis” หรือ “Warberg effect” ซึ่งจากผลงานนี้ทำให้ Otto Warberg ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 1931 ซึ่งหลังจากนั้นก็มีความพยายามศึกษากลไกการเกิดเซล์มะเร็งมาตลอด จนทำให้ช่วงเวลา 100 ปีผ่านมา สถาบันวิจัยมะเร็งทั่วโลกต่างเร่งศึกษา และตั้งประเด็นถกเถียงกันมายาวนาน แต่กลับหาสาเหตุหลักของการเปลี่ยนเซลล์ปกติกลายไปเป็นเซลล์มะเร็งไม่ได้

จนกระทั่งปี คศ. 2017 Johan M. Thevelein และทีมงานได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Nature Communication เรื่อง “Fructose-1,6-bisphosphate couples’ glycolytic flux to activation of Ras” โดยพวกเขาเริ่มต้นโครงการวิจัยดังกล่าวใน 2008 และใช้เวลาในการทำการวิจัยอยู่ 9 ปี โดยใช้ยีสต์เป็นโมเดลศึกษา เนื่องจากลักษณะคล้ายเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายมนุษย์ คือแสดงให้เห็นวงจรชีวิตของเจริญเติบโต และใช้กระบวนการสลายกลูโคสเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ หลังจากเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของยีสต์ภายในห้องทดลองทีมนักวิจัยชี้ชัดว่า การบริโภคน้ำตาลสูงเกินความพอดีมีส่วนกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งในร่างกายตื่นตัวเพราะเซลล์มะเร็งต้องการน้ำตาลเป็นพลังงานมากกว่าเซลล์ปกติในของร่างกาย เนื่องจากการสลายกลูโคสของเซลล์มะเร็งจะได้พลังงานที่น้อยกว่าเซลล์ปกติ จึงทำให้ต้องมีการใช้น้ำตาลที่มากในการทำให้ได้พลังงานเท่ากับเซลล์ปกติ โดยคำตอบที่รอกันมาเกือบ 100 ปี สรุปได้ว่า น้ำตาลเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนจากเซลล์ปกติไปเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งในสภาพที่น้ำตาลสูงจะเกิดการแพร่กระจายและทำให้เนื้องอกเกิดได้รุนแรงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยปัจจุบันยังสามารถอธิบายกลไกการทำงานและองค์ประกอบของเอนไซด์หรือโปรตีนที่เกี่ยวข้องได้อย่างอย่างครบถ้วนอีกด้วย ซึ่งผลงานที่เผยแพร่นี้ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นผลงานวิจัยชิ้นสำคัญของแวดวงการศึกษาเรื่องโรคมะเร็ง เนื่องจากทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถไขความลับของ Warburg Effect หรือการแพร่กระจายของมะเร็งได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และจะทำให้เกิดการขยายผลการป้องกันและรักษามะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

เปรียบเทียบกลไกการสลายกลูโคสของเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง

โดยก่อนหน้านั้นหลักการพื้นฐานของการเกิดมะเร็งนั้นจะเกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมที่ทำให้เกิดการขาดการควบคุมในระดับของเซลล์ โดยจะมีการกลายพันธุ์ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นเนื้องอกซึ่งกระบวนการนี้จะต้องใช้เวลาสะสมของความผิดปกติที่ยาวนานตามเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากที่มีการยืนยันถึงความถูกต้องของ Warberg effect กระบวนการวิเคราะห์ถึงสาเหตุและปัจจัยของการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งก็เปลี่ยนไปในแนวทางที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเมตาบอลิซึมมากขึ้น โดยทาง Prof. Robert Lusting ได้ให้นิยามของมะเร็งอีกความหมายหนึ่งว่าเป็น Metabolic disease หรือโรคที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ เนื่องจากโดยปกติร่างกายของมนุษย์โดยทั่วๆไป จะมีระบบการเผาผลาญอาหารหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปเรียกว่ากระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งแบ่งได้ออกได้เป็น 2 กระบวนการคือ Anabolism กับ Catabolism

  1. Anabolism ก็คือกระบวนการสร้างโมเลกุลชีววิทยาเพื่อทำให้เกิดเป็นมวลทางกายภาพใหม่ เช่น การสร้างเนื้อเยื่อใหม่ของอวัยวะต่างๆ สร้างมวลกล้ามเนื้อใหม่โดยที่กระบวนการนี้ต้องการสารอาหารและพลังงาน
  2. Catabolism คือกระบวนการสลายอาหารและโมเลกุลชีววิทยาเพื่อปลดปล่อยพลังงานเช่น ขบวนการสลายกล้ามเนื้อ กระบวนการสลายแป้ง ไขมัน เพื่อสร้างเป็นพลังงาน

โดยที่ทั้งสองกระบวนการนี้ จะต้องทำงานสมดุลกัน เพื่อรักษาสภาวะที่เรียกว่า Homeostasis ซึ่งหมายความว่าร่างกายของเราต้องมีการรักษาสมดุลระหว่างการสร้างและสลายโมเลกุลชีวิทยาอย่างมีเสถียรภาพ โดยที่ถ้าเกิดมีการสร้างและการสลายที่ไม่สมดุลกัน ก็จะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือก็คือการเกิดโรคนั้นเอง ซึ่งชีวโมเลกุลหรือฮอร์โมนที่เป็นตัวควบคุมกระบวนการที่ทำให้เกิดสมดุลนั้นก็คืออินซูลิน ที่พวกเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว

รูปแสดงสมดุล Homeostasis ของกระบวนการเผาผลาญอาหาร

โดยที่อินซูลินจะทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนหลักเพื่อที่จะชี้นำและควบคุมกระบวนการในร่างกายว่า ควรจะใช้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตหรือไขมันในการสร้างพลังงาน (ATP) หรือควรเก็บสะสมพลังงานไว้เท่าไร โดยผ่านกระบวนการไกลโคไลซิล วัฏจักรเครปส์และถ่ายทอดอิเลคตรอนเพื่อส่งต่อพลังงงานไปยังอวัยวะที่ต้องการเป็นต้น ซึ่งปัญหาหลักที่รบกวนการทำงานของอินซูลินในปัจจุบันก็คือการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ โดยมีผลทำให้เกิดภาวะการดื้ออินซูลินหรือก็คือเกิดโรคเบาหวานนั้นเอง

น้ำตาลกับมะเร็ง

คนไทยโดยเฉลี่ยบริโภคน้ำตาล 28 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งถือว่าสูงมากเนื่องจากคำแนะนำที่ทางการสาธารณสุขกำหนดไว้คือ 6 ช้อนชาต่อวันหรือ 24 กรัมต่อวัน อย่างไรก็แล้วแต่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติ ประโยชน์และโทษของน้ำตาลที่วางขายกันโดยทั่วไปยังไม่ค่อยรู้และตระหนักกันพอสมควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังเพราะความก้าวหน้าทางวิชาการที่เปิดเผยทั่วๆไปกันอยู่ในปัจจุบันยืนยันของโทษเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้ว เพียงแต่ว่าโทษของการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไปนั้นจะเกิดขึ้นอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป แต่ยืนยันว่าเกิดขึ้นแน่นอน จึงอยากจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของน้ำตาลแต่ละชนิดตามตารางต่อไปนี้

รูปเปรียบเทียบแสดงกระบวนการสลายตัวของกลูโคสและฟรุกโตส

(Prof. Robert Lustig Sugar, metabolic syndrome and cancer)

จากรูปเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่ากระบวนการย่อยสลายกลูโคสจะมีอินซูลินเป็นตัวควบคุมและบริหารจัดการ โดยจะแบ่งกลูโคสไปยังส่วนต่างๆของร่างกายตามความเหมาะสม ส่วนฟรุกโตสไม่มีกระบวนการดังกล่าวและจะเข้าสู่ขั้นตอนไกลโคไลซิสเพียงอย่างเดียว ซึ่งให้พลังงานน้อยกว่ากลูโคส ซึ่งสุดท้ายก็จะไปกลายเป็นไขมันพอกตับในที่สุดและที่สำคัญกว่านั้นก็คือการที่ฟรุกโตสจะมีการสลายตัวได้เร็วกว่ากลูโคสถึง 7 เท่า และมีการปล่อยอนุมูลอิสระ ROS (Radicals oxygen species) ได้มากกว่ากลูโคสถึง 400 เท่า ซึ่งอนุมูลอิสระหรือ ROS ตัวนี้แหละที่มีผลต่อการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นได้เร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากกระบวนการดังกล่าวแล้วยังพบว่าฟรุกโตสยังจะไปเร่งกระบวนการที่ไม่พึ่งประสงค์และยังไปยับยั้งกระบวนการที่เป็นประโยชน์กับร่างกายอีกด้วย

รูปแสดงการกระตุ้นและยับยั้งการทำงานของเอนไซด์ที่เป็นผลมาจากฟรุกโตส

(Prof. Robert Lustig Sugar, metabolic syndrome and cancer)

จากรูปจะเห็นได้ว่าเมื่อฟรุกโตสเกิดการย่อยสลายจะทำให้เกิด Methylglyoxal (MGO) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่จะไปมีผลต่อการทำงานของ AMPK (Adenosine monophosphate protein kinase) ซึ่งเป็นเอนไซด์ที่ทำหน้าที่ในการไปบอกไมโตรคอนเดรียว่าจะเผาผลาญให้เป็นพลังงานหรือไม่ ซึ่งในวงจรของการสลายฟรุกโตสนี้ AMPK จะถูกกระตุ้นให้ทำกิจกรรม 3 อย่างคือการสร้างไขมัน กูลโคสและคอเรสเตอรอล ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ในขณะเดียวกัน AMPK ก็ถูกยับยั้งให้ทำกิจกรรมที่ดีๆเช่นการย่อยสลายกลูโคส การย่อยสลายไขมัน การดูดซึมกลูโคสและที่สำคัญที่สุดก็คือฟรุกโตสยังไปยับยั้งกระบวนการรักษาตัวเองของเซลล์ในร่างกาย โดยการซ่อมแซม กลืนกินตัวเองและทำความสะอาดในระดับเซลล์ของร่างกายหรือที่รู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า Autophagy โดยที่กระบวนการนี้ถูกค้นพบโดย Yoshinori Ohsumi ซึ่งได้รับ Noble prize สาขาการแพทย์เมื่อปี ค.ศ. 2016 ซึ่งกระบวนการ Autophagy นี้เป็นที่มาของหลักการลดน้ำหนักและควบคุมอาหารที่เน้นไขมันธรรมชาติ ตามด้วยโปรตีนและควบคุมแป้งให้น้อยที่สุดหรือที่เรียกว่าการกินอาหารแบบคีโตจินิค (Ketogenic food)

ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดพอจะทำให้เห็นได้ว่าการบริโภคน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลที่มีองค์ประกอบของฟรุกโตส (HFCS) ที่สูงมีผลเสียต่อร่างกายโดยตรง ทั้งเรื่องของน้ำหนัก เบาหวานและการเกิดเป็นมะเร็งขึ้นมาในที่สุด ซึ่งเรื่องราวต่างๆเหล่านี้จะมีการนำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องพยายามศึกษาและทำความเข้าใจสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น อย่าไปหลงเชื่อเพียงคำโฆษณาที่หวังผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่

เคล็ดลับเพื่อทำให้อายุยืนยาวโดย Prof. Yasunori Ohsumi Noble prize 2016

ประเด็นการระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่ในปัจจุบันทำให้พวกเราได้รับรู้ว่า ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ และด้วยความพยายามของนักวิชาการในแต่ละด้าน ก็พยายามที่จะศึกษาวิจัยเพื่อเปิดเผยความลับของธรรมชาติที่ซ้อนความจริงที่เล้นลับเอาไว้ อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือโลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อยู่บนโลกใบนี้ล้วนมีวิวัฒนาการที่สลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกันเป็นห่วงโซ่ กิจกรรมใดๆที่เข้าไปรบกวนความเป็นจริงของวิวัฒนาการตามธรรมชาติ กิจกรรมนั้นก็จะนำไปสู่ความผิดปกติในที่สุด ยกตัวอย่างของการบริโภคน้ำตาลของพวกเราเป็นต้น เนื่องจากกลไกการเผาผลาญอาหารของ Homo sapiens ที่มีวิวัฒนาการมามากกว่าเป็นล้านปี โดยช่วงเริ่มต้นของวิวัฒนาการพวกเราไม่เคยเจอกับน้ำตาลที่มีความเข้มข้นอย่างเช่นปัจจุบัน แต่เมื่อมาเจอกับน้ำตาลที่เข้มข้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ก็ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของเซลล์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกระบวนการปรับเปลี่ยนตัวเองของเซลล์ปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งก็ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการด้วยเช่นกัน องค์ความรู้ในกระบวนการทำงานในเชิงลึกระดับภายในเซลล์เหล่านี้กำลังจะถูกเปิดเผยและจะทำให้เกิด New normal ในการการดำรงค์ชีวิตในรูปแบบที่จะแตกต่างไปจากเดิมอย่างแน่นอน และด้วยการค้นพบกลไกการทำงานของเซลล์ที่เรียกว่า Autophagy ทาง Prof. Yasunori ก็ได้สรุปแนวทางการดำเนินชีวิตที่ทำให้อายุยืนยาวด้วยหลัก 4 ประการดังนี้คือ

  1. การนอนหลับที่มีคุณภาพ คือการพักผ่อนที่ดีที่สุดเพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาในการซ่อมแซมส่วนของเซลล์ที่มีความผิดปกติ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนอนหลับคือช่วงเวลา 22.00 – 02.00 น. (Golden time)
  2. การเข้าสู่ภาวะคีโตซีส (Ketogenesis) เป็นเรื่องของการควบคุมอาหารในแต่ละวัน โดยอาหารที่กินจะเน้นไขมันสูง รองมาด้วยโปรตีน โดยลดคาร์โบไฮเดรตให้เหลือในปริมาณที่น้อยมากๆ เพื่อให้ร่างกายนำไขมันสะสมมาเผาผลาญเป็นพลังงาน โดยสัดส่วนของประเภทอาหารคือไขมันที่ดี 70% โปรตีนทุกประเภท 25% และคาร์โบไฮเดรต 5% ของปริมาณแคลอรี่ต่อวัน
  3. การอดอาหารหรือหยุดกินอาหาร (Fasting) ซึ่งสามารถทำการหยุดเป็นช่วงในแต่ละวันหรือหยุดเป็นวันแต่ต้องทำให้เหมือนกัน โดยต้องประเมินสภาพร่างกายของเราร่วมด้วย โดยการหยุดอาหารที่ง่ายที่สุดคือหยุดอาหารในช่วงเวลา 18.00-7.00 น.เป็นต้น โดยการหยุดอาหารมีส่วนช่วยทำให้การทำงานของไมโตรคอนเดรีย สมอง ภูมิคุ้มกันและระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น และการหยุดอาหารทำให้ร่างกายมีกลไกในการดึงไขมันที่สะสมไว้ไปใช้งานได้มากยิ่งขึ้น จึงถือว่าเป็นการขจัดไขมันได้ด้วยอีกทางหนึ่ง
  4. การออกกำลังกาย ยังเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างกายจำเป็นต้องมีการเพิ่มออกซิเจนและกำจัดส่วนเกินที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งในบุคคลทั่วไปสามารถออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันให้ได้อย่างน้อย 25 นาทีก็เพียงพอ

ซึ่งถ้าสามารถปฏิบัติได้ครบทั้ง 4 ประการ น่าจะมีผลดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน ขอเพียงแค่ปฏิบัติให้ได้อย่างสม่ำเสมอก็เพียงพอแล้ว

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากข้อสงสัยที่ว่าทำไมผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 และเป็นเบาหวานจึงมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก ซึ่งทำให้ต้องไปเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมดจาก Warberg effect ในปี ค.ศ. 1924 โดย Warberg effect นี้ทำให้ Otto Warberg ได้รับ Noble prize ในปี 1931 และต้องใช้เวลาอีก 93 ปี ที่ Johan M. Thevelein และทีมงานได้เวลาทดลองกว่า 9 ปีในพิสูจน์ความจริงว่า Warberg effect เป็นความจริง ซึ่งทำให้เกิดการขยายผลต่อวงการมะเร็งอย่างยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน จนกระทั่ง Prof. Yasunori ที่ได้ Noble prize ในปี ค.ศ. 2016 ได้ค้นพบการทำงาน Autophagy ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนป้องกันการเกิดมะเร็งโดยตรงและได้เกิดศาสตร์การหยุดกินอาหารที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน ข้อมูลทางวิชาการทั้งหมดอาจจะดูสลับซับซ้อนและยากที่จะทำความเข้าใจเพื่อนำไปปฎิบัติในชีวิตจริง อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าจะสรุปให้เข้าใจถึงหลักการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุดว่าควรจะทำอย่างไร ก็สรุปง่ายๆได้ว่า “การใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ก็คือหลักการใช้ชีวิตที่ดีทีสุดนั้นเอง” มาเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้กันเลยนะครับ

ลดทานหวาน เพื่อเพิ่มความหวานที่แท้จริงให้กับชีวิต