ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และมีแนวโน้มยืดเยื้อยาวนาน ย่อมต้องมีบางกิจการที่ประสบปัญหาผลขาดทุนที่รุนแรง  และหากมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแออีกด้วย กระทั่ง มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือ ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ สถานะดังกล่าวหากปล่อยไปเรื่อยคงเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นเจ้าหนี้อาจได้เงินคืนไม่ครบ ขณะที่ ผู้ถือหุ้นซึ่งจะได้รับคืนเงินลำดับหลังสุด ถัดจากเจ้าหนี้ทุกประเภท ก็คงไม่ได้อะไรเลย หุ้นย่อมไม่เหลือมูลค่าอีกต่อไป

หากตัวธุรกิจยังมีศักยภาพซ่อนอยู่ เจ้าหนี้หรือตัวบริษัทธุรกิจเอง คงไม่ยอมล้มละลาย แต่ขอเดินเข้าสู่การยื่นขอต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ผู้เป็นเจ้าหนี้คงต้องประเมินภาพว่า จะได้คืนเงินมากกว่าสูตรปล่อยให้ล้มหรือไม่ ในกลุ่มของผู้ถือหุ้นนั้น การที่บริษัทไปยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ก็ช่วยเพิ่มโอกาสให้หุ้นสามัญยังเหลือมูลค่าอยู่ ส่วนจะมีมูลค่ามากหรือน้อย คงขึ้นกับองค์ประกอบของการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ และสภาวะทางธุรกิจที่จะทำในวันข้างหน้า

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน มีข้อคิดประกอบการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทที่มีการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ดังนี้

1.จะมีการขอลดหนี้ ลดดอกเบี้ย ยืดเวลาจ่ายหนี้ที่เหลือ หรือแปลงหนี้มาเป็นหุ้น มากน้อยแค่ไหน ถ้าได้ลดหนี้มากๆ มูลค่าหุ้นก็คงจะมีมากขึ้น แต่ถ้าลดหนี้น้อย มูลค่าหุ้นก็จะมีน้อยลงไป

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติ กิจการมีทรัพย์สิน 1,000 ล้านบาท มีหนี้สิน 960 ล้านบาท เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น 40 ล้านบาท(มูลค่าตามราคาพาร์ทั้งหมด 100 ล้านบาท แต่มีขาดทุนสะสม 60 ล้านบาท) ทุกวันนี้มีผลขาดทุนอยู่ทุกไตรมาส คาดว่าปล่อยไปเรื่อย ถึงปลายปี ทุนจะติดลบเป็น -150ล้านบาท ดังนั้นจึงมีการขอฟื้นฟูกิจการ

สมมุติต่อไปว่า หากเจ้าหนี้ ยอมลดหนี้ ให้ 200 ล้านบาท ส่วนของหนี้ ก็จะเหลือ 760 ล้านบาท ขณะที่ส่วนของทุนก็จะงอกจากคาดการณ์ที่ -150 ล้านบาท เพิ่มมาเป็นบวก 50 ล้านบาทแทน เป็นต้น

จากการคาดหมายทำนองนี้ จึงอาจมีปรากฎการณ์ ที่บรรดานักลงทุนเข้าเก็งกำไรหุ้นในช่วงสั้น ส่วนราคาจะไปถึงแค่ไหน ขึ้นกับจินตนาการหรือสมมุติฐานของบรรดานักลงทุนนั่นเอง แต่ในระยะยาวเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎ ราคาหุ้นก็จะอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงเอง

2.จะมีการลดทุนของผู้ถือหุ้นมากน้อยเพียงใด ในการฟื้นฟูนั้น ทางเจ้าหนี้ต่างๆคงไม่ยอมให้มีสูตรลดหนี้ ลดประโยชน์ของเจ้าหนี้เพียงฝั่งเดียวอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะโดยสิทธิตามกฎหมายแล้ว หากปล่อยล้มละลาย ขายทรัพย์สิน เจ้าหนี้จะได้รับเงินก่อนผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว ถ้าเจ้าหนี้ได้ไม่ครบ ผู้ถือหุ้นก็จะไม่เหลืออะไรเลย

ดังนั้น เจ้าหนี้ ย่อมต้องได้เห็นการลดทุนของผู้ถือหุ้นด้วย ซึ่งต้องมากพอสมควร หากเราย้อนดูการเคสการฟื้นฟูกิจการอื่นๆ ในอดีต  อาจจะลดจำนวนหุ้น หรือลดพาร์ของหุ้น เช่น 10 บาท เหลือ 1 บาท ซึ่งการลดหุ้นหรือลดพาร์ แม้จะไม่ได้ทำให้ส่วนของทุนโดยรวมลดหายไป แต่ก็ทำให้มูลค่าตามพาร์โดยรวมลดต่ำไปใกล้สถานะธุรกิจ ซึ่งก็มักตามมาด้วยการต้องเพิ่มทุน เพิ่มจำนวนหุ้น  อาจจะชำระเป็นในราคาพาร์ใหม่ 1 บาทหรือสูงกว่าพาร์ใหม่ 1 บาทบ้าง เช่น 2 บาท เป็นต้น แต่คงไม่ได้เรียกชำระในราคาสูง

กรณีนี้ ผู้ลงทุนหุ้นเดิมคงต้องคาดคะเนให้ดี

อาจมีการขอให้เจ้าหนี้ ต้องแปลงหนี้บางส่วนมาเป็นหุ้นแทน ซึ่งขึ้นกับการเจรจาต่อรอง และที่แน่ๆ ต้องเป็นระดับที่เจ้าหนี้พอยอมรับได้ ซึ่งเมื่อลดพาร์แล้ว จะแปลงหนี้มาเป็นหุ้นที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่าพาร์ใหม่บ้างก็คงพอไหว แต่หากเป็นราคาพาร์เดิม น่าจะคุยยาก

3.จะมีการเพิ่มทุนใหม่จริงๆ เท่าไร ทั้งนี้เพราะช่วงสตาร์ทกิจการรอบใหม่ตามแผนฟื้นฟู จากเดิมที่ธุรกิจมีความฝืดเคืองอยู่มาก จึงต้องใช้กระแสเงินสดเข้ามาหล่อเลี้ยงและหมุนเฟืองการทำงานไปข้างหน้า การเพิ่มทุนใหม่ เพื่อเอาเงินเข้ามาจริงๆก็อาจเกิดขึ้น คงต้องมีผู้ถือหุ้นหน้าใหม่เพิ่มเข้ามา อาจมีบางส่วนให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งทั้งหมดนั้น ต้องไม่ใช่ที่ราคาสูงเกินไป เพราะคงไม่มีผู้ถือหุ้นยอมชำระเงินซื้อหุ้นในราคาสูงแน่

4.การปรับปรุงกิจการขนานใหญ่ จะมีอะไรบ้าง ที่จะทำให้อนาคตของบริษัท สามารถทำกำไรมาจ่ายคืนหนี้ และตอบแทนผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา ผู้ถือหุ้นรายใหม่ ที่ต้องพิจารณาชั่งใจว่าจะมาเสี่ยงถือหุ้นด้วยหรือไม่

หากมีการปรับปรุงขนานเล็กเกินไป โอกาสความสำเร็จวันข้างหน้าคงเลือนลาง ดังนั้นผู้ลงทุนหุ้น คงต้องพิจารณาและวิเคราะห์ดูว่า การปรับปรุงกิจการขนานใหญ่ที่ว่านั้น เพียงพอหรือไม่ ในด้านต่างๆ เช่น

: ประเภทธุรกิจหรือสินค้าที่จะทำ จะเหมือนเดิม หรือเพิ่มผลิตภัณฑ์ หรือลดผลิตภัณฑ์ไหนที่ไม่มีกำไร ฟังดูสมเหตุสมผลหรือไม่

: มีการปรับปรุงทีมบริหาร ที่มีศักยภาพและมีความน่าเชื่อถือ ที่จะบริหารให้กิจการมีกำไรได้สำเร็จ

: มีการลดต้นทุน ลดขนาดองค์กรในส่วนที่เกินจำเป็น ทำได้เต็มที่เพียงพอหรือไม่

5.ทรัพย์สินที่มีอยู่ บางส่วนอาจด้อยค่า หรือราคาตกจากที่ลงบัญชีไว้ก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้การค้า สินค้าคงคลัง ที่ดินอาคาร เครื่องจักรหรืออุปกรณ์วัสดุ หรือเงินลงทุนในกิจการอื่น ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นส่วนเกิน ที่บริษัทจะขายทิ้งออกไป ราคาที่ได้อาจต่ำลง

กรณีที่ด้อยค่า หรือราคาต่ำลงกว่าที่บันทึกบัญชีไว้ ผลขาดทุนตรงนี้ ก็จะเข้ามาหักลบให้ส่วนของทุนลดต่ำลงไปอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่วิเคราะห์ล่วงหน้าได้ยาก แต่ต้องเผื่อใจไว้ด้วย

6.โอกาสสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ จนเจริญรุ่งเรือง และออกจากแผนได้ เป็นอีกเรื่องสำคัญ ที่นักลงทุนในหุ้นต้องวิเคราะห์ให้ดี ซึ่งเคสเดิมๆที่เคยทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และที่ไม่ประสบความสำเร็จตามแผน มีทั้งที่สำเร็จอย่างรวดเร็ว และที่ต้องใช้เวลายาวนานมาก

ดังนั้น การลงทุนในหุ้นที่เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ จึงมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่สูงกว่า การลงทุนในหุ้นโดยทั่วไป ผู้ลงทุนจึงต้องมีความพร้อมและติดตามข้อมูล ตลอดจนคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้าน

ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน