ความรู้เรื่อง COVID-19 (ตอนที่ 11) วันที่ 28 มีนาคม 2563
1) ชื่อโรค COVID-19 (Corona Virus Disease 2019)
ชื่อไวรัส SARS-CoV2 (Severe Acute Respiratory Syndrome Corona Virus 2)
2) เป็นไวรัสในตระกูล Corona ลำดับที่ 7
ลำดับที่ 1-4 ก่อให้เกิดโรคหวัด
ลำดับที่ 5 ก่อให้เกิดโรค SARS
ลำดับที่ 6 ก่อให้เกิดโรค MERS (Middle East Respiratory Syndrome)
มีขนาดเล็กประมาณ 0.12 ไมครอน (120 นาโนเมตร) แต่เนื่องจากไม่ได้อยู่โดยลำพัง มักจะอาศัยกับฝอยละอองสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่เรียกว่า Droplet มีขนาด 5 ไมครอน จึงทำให้หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าคุณภาพสูงที่กรองสิ่งของขนาด 5 ไมครอน สามารถป้องกันไวรัสนี้ได้
3) ไวรัสแพร่ผ่านละอองน้ำลายที่เกิดจากการพูดได้ประมาณ 1 เมตร และผ่านฝอยละอองการจามหรือไอได้ 1.50 เมตร จึงกำหนดระยะห่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ 2 เมตร เรียกว่า Social Distancing
4) ไวรัสจะลอยอยู่ในอากาศได้ไม่นาน เนื่องจากอาศัยอยู่กับฝอยละออง 5 ไมครอน ทำให้ตกลงมาอยู่บนพื้นและวัสดุต่างๆ และมีชีวิตอยู่ได้หลายชั่วโมงถึงเป็นวัน ไวรัสจะไม่ผ่านทางผิวหนัง แต่จะผ่านเยื่อบุที่บอบบาง ได้แก่ เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก และเยื่อบุในช่องปาก จึงมีคำแนะนำ ห้ามขยี้ตา ห้ามแคะจมูก และห้ามนำนิ้วเข้าปาก
5) ไวรัสถูกกำจัดได้ง่ายด้วยสบู่และ 70% แอลกอฮอล์ จึงแนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่นาน 20 วินาที หรือทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือแอลกอฮอล์น้ำที่มีความเข้มข้น 70%
6) ความสามารถในการแพร่เชื้ออยู่ที่ระดับปานกลางค่อนข้างสูง มีค่า R0 ประมาณ 1.5-3.5 ค่าเฉลี่ย 2.28 หมายความว่า ผู้ติดเชื้อ 1 คน จะแพร่เชื้อไปสู่คนปกติได้ 2.28 คน แต่มีอัตราการเสียชีวิตไม่มากนักคือ 3-4% เทียบกับ SARS เสียชีวิต 10% และ MERS เสียชีวิต 30%
7) ไวรัสมีระยะฟักตัว 1-12.5 วัน ค่าเฉลี่ย 5 วัน จึงแนะนำให้กักตนเอง 14 วัน เพื่อให้พ้นระยะฟักตัว มีอาการเด่นคือ ไข้ (88%) ไอแห้ง (68%) เพลีย (38%) และไอมีเสมหะ (32%)
8) ความเป็นมา
• 31 ธค 62 พบผู้ป่วยปอดอักเสบรายแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน
• 8 มค 63 พบผู้ป่วย (ชาวจีน) ในประเทศไทยเป็นรายแรก
• 29 กพ 63 ผู้ป่วยในประเทศไทยเสียชีวิตรายแรก
• 16 มีค 63 ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตนอกประเทศจีนมีจำนวนมากกว่าประเทศจีน
• 27 มีค 63 ผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกามีมากกว่าในประเทศจีน
• 28 มีค 63 ผู้ติดเชื้อในอิตาลีมีมากกว่าประเทศจีน

9) สถานการณ์โรคในประเทศไทย
ช่วงที่ 1 : 8 ม.ค.-8 ก.พ. 63 ผู้ป่วยเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่าทุก 5 วัน
ช่วงที่ 2 : 9 ก.พ.-11 มี.ค. 63 ผู้ป่วยเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่า ใช้เวลา 32 วัน
ช่วงที่ 3 : 11 มี.ค. 63 เป็นต้นมา ผู้ป่วยเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่า ทุกๆ 3-4 วัน
เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจากสนามมวยและสถานบันเทิงกลางคืน (ผับ บาร์ทองหล่อ)

10) อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อ
• ระดับโลก มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 3.8 วัน
• ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่า ทุก 9 วัน (8 มค- 11 มีค 63) เพิ่งจะมีการเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 3.7 วัน หลังวันที่ 11 มีค 63

11) สัดส่วนของผู้รับเชื้อที่จะมีอาการของโรคในลักษณะต่างๆ
ผู้ติดเชื้อ 1000 คน จะแสดงอาการ 200 คน (20%) และในผู้ป่วยที่มีอาการ 200 คน จะมีอาการเล็กน้อย 160 คน (80%) และมีอาการมากจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 40 คน (20%) โดยจะมีผู้เสียชีวิต 6 คน (3%)

12) ผู้ติดเชื้อจะมีการเสียชีวิตเป็นสัดส่วนตามอายุ
• อายุ 0-9 ปี ไม่มีผู้เสียชีวิต
• อายุ 10-19 ปี เสียชีวิต 0.1%
• อายุ 20-39 ปี เสียชีวิต 0.2%
• อายุ 40-49 ปี เสียชีวิต 0.4%
• อายุ 50-59 ปี เสียชีวิต 1.3%
• อายุ 60-69 ปี เสียชีวิต 3.6%
• อายุ 70-79 ปี เสียชีวิต 8.0%
• อายุ >80 ปี เสียชีวิต 14.8%

13) แนวทางต่างๆ ที่มีการนำมาใช้เพื่อรับมือกับโรค
• แนวทางที่ 1 : ปล่อยไปตามธรรมชาติ (Unmitigated) เป็นแนวคิดจากความรู้เรื่องระบาดวิทยาว่า เมื่อมีการระบาดของโรคจากไวรัสจนมีผู้ติดเชื้อที่ไม่เสียชีวิตจำนวนมากพอ ที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในกรณีของ COVID-19 คำนวณได้ประมาณ 50-60% ของจำนวนประชากร โรคจะหยุดการระบาด เหลือเป็นการติดเชื้อตามฤดูกาลต่อไป
ข้อดี : มีภูมิคุ้มกันหมู่ สามารถเปิดประเทศไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศต่างๆ ได้
ข้อเสีย : จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจำนวนมากนับล้านคน จนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว จึงมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก (ในประเทศประชากร 70 ล้านคน จะมีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน)
• แนวทางที่ 2 : ปิดบ้าน ปิดประเทศ (Suppression)
เป็นแนวทางเข้มข้นสูงสุด ห้ามประชากรทุกคนออกจากบ้าน (อนุญาต 1 คน ต่อครอบครัว สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเพื่อไปรับอาหารหรือยาที่จำเป็น) ห้ามการเดินทางข้ามชุมชนหรือจังหวัด
ข้อดี : โรคจะสงบภายในระยะเวลา 3 เดือน มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตน้อย
ข้อเสีย : จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนทางด้านเศรษฐกิจ ขาดรายได้และผลกระทบทางด้านสังคม ที่สำคัญหลังโรคสงบแล้วจะเปิดประเทศไม่ได้ เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ ถ้าเปิดประเทศจะเกิดการระบาดของโรครอบสองทันที ต้องรอให้มีการคิดค้นวัคซีนหรือประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการติดเชื้อจนมีภูมิคุ้มกันหมู่เสียก่อน
• แนวทางที่ 3 : (Mitigation) เป็นแนวทางผ่อนสั้นผ่อนยาว ระหว่างแนวทางที่ 1 และ 2 สามารถมีความเข้มข้นน้อย คือใกล้เคียงกับแนวทางที่ 1 ไปจนถึงความเข้มข้นมากแบบแนวทางที่ 2 จะปรับมาตรการให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นระยะ
ข้อดี : จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ในที่สุดตามธรรมชาติ หรือชลอการระบาดเพื่อรอวัคซีนที่จะคิดค้นขึ้นมา จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจะมีจำนวนที่พอเหมาะไม่มากจนเกินความสามารถที่ระบบสาธารณสุขจะดูแลได้ จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าแนวทางที่ 1 มาก และจะเปิดประเทศติดต่อกับประเทศต่างๆ ได้
ข้อเสีย : จะต้องใช้เวลานาน (6-18 เดือน) ทำให้ประชาชนเกิดความอึดอัดคับข้องใจ อยากให้จบเรื่องเร็ว อาจทำให้ผู้ใจร้อนเสนอให้ใช้แนวทางที่ 2 ได้ ซึ่งก็มีข้อเสียดังกล่าวแล้ว

14) ความหวัง
(1) วัคซีน : เร่งให้มีการคิดค้นวัคซีนให้เร็วที่สุด คาดว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12-18 เดือน
(2) ยา : ยาใหม่ต้องใช้เวลานานนับปี ส่วนยาเก่าที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นยาเดิมที่เราเคยใช้ได้ผลกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์เดิม เช่น ยาฆ่าไวรัส SARS ซึ่งยังได้ผลดีไม่เต็มที่ และมีความพยายามนำยามากกว่า 1 ชนิดมาใช้รวมกัน เรียกว่า Cocktail ซึ่งต้องรอการวิจัยต่อไป
(3) การกลายพันธุ์ของไวรัส : ธรรมชาติของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์เสมอ ซึ่งอาจเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น หรือลดความรุนแรงลง และในกรณีที่โชคดีมาก ไวรัสอาจจะกลายพันธุ์จนไม่ก่อให้เกิดโรค
(4) หาความรู้เรื่อง COVID-19 : ที่ถูกต้องแล้วทำความเข้าใจ เพื่อจะได้ร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างไม่มีความทุกข์ และอย่างมีความหวังและกำลังใจ ในการที่จะก้าวข้ามวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ของโลกมนุษย์ในครั้งนี้ต่อไป

สรุป
• สิ่งที่สำคัญที่สุดในการควบคุมโรค COVID-19 คือ ประชาชนทุกคน ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ และไม่ใช่เครื่องมือเวชภัณฑ์ต่างๆ
• ถ้าประชาชนทุกคนคำนึงถึง “ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน” และคำนึงถึง “หน้าที่มากกว่าสิทธิและเสรีภาพ” จะทำให้สถานการณ์โรค COVID-19 สงบลงได้อย่างรวดเร็วและมีการสูญเสียน้อยที่สุด
• ขอให้เราให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่กล่าววิจารณ์ตำหนิซึ่งกันและกัน ขอให้โชคดีครับ

โดย นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา วันที่ 28 มีนาคม 2563