ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในจีน ผู้ติดเชื้อลดลงจากการควบคุมของรัฐบาลที่เข้มข้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องระวังสถานการณ์จากทั่วโลก ที่จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเยอรมัน และฝรั่งเศส ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น มองว่าแม้การระบาดจะเป็นวงกว้างขวางมากขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคก็ไม่ได้มากขึ้นตาม โดยข้อมูลล่าสุดอัตราการเสียชีวิต ยังเฉลี่ยที่ 2-3% จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งถือว่าต่ำกว่าโรคซาร์สที่มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยที่ 10%

แม้ว่าการระบาดจะมากขึ้น แต่หากระบาดแบบช้า ๆ เชื่อว่าก็น่าจะรับมือได้ แต่ถ้าระบาดอย่างรวดเร็วก็น่าจะลำบากสำหรับวงการแพทย์  ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย อาจจะเป็นกลุ่มที่ความเสี่ยงไม่มากนัก แต่ก็ไม่ควรประมาท เนื่องจากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะใส่หน้ากากป้องกันเพื่อความปลอดภัย

       โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในปัจจุบันตามวารสารทางการแพทย์ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยเบาหวาน, โรคหัวใจ, ผู้ที่ทานยากดภูมิ, ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด,  ซึ่งกลุ่มนี้จะมีภูมิคุ้มกันต่ำ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ และอาจติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ และแพร่เชื้อส่งต่อ มองว่า ตามหลักการทางการแพทย์ ไวรัสโควิด-19 จะแพร่จากผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ แต่ทางทฤษฎีก็อาจจะมีผู้ที่ไม่แสดงอาการ แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ แต่ว่าไม่ควรกังวลจนมากเกินไป ควรป้องกันโดยการไม่อยู่ใกล้กับผู้อื่นจนมากเกินไป รวมถึงหลีกเลี่ยงการไอ-จามที่ถูกต้องในที่สาธารณะ หรือ สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อ

   

        รศ.พญ.สิริอร วัชรานานนท์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าถ้าเป็นบุคคลที่ไม่เดินทางไปต่างประเทศเลย ก็อาจจะมีความเสี่ยงติดเชื้อเล็กน้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นการกับใช้ชีวิตที่สัมผัสคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อด้วยหรือไม่ เช่น พนักงานขายที่ติดเชื้อล่าสุด ก็เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดโรค ซึ่งผู้ที่ประกอบอาชีพที่ใกล้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ จะต้องระวังเป็นพิเศษ   ล่าสุดมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ จาก Chinese CDC หรือ กระทรวงสาธารณสุขของจีน ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา ที่ระบุถึงตัวเลขผู้ป่วยในจีน และนำข้อมูลจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19  ทั้งหมดกว่า หมื่นรายมาวิเคราะห์ พบว่า จากการสุ่มตรวจ พบ 2-3% เป็นกลุ่มคนไข้ที่ติดเชื้อ โควิด-19 แต่ไม่มีอาการแสดงมากนัก  ดังนั้นก็ต้องกลับมาดูว่าระยะฟักตัวของเชื้อใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อดูความเสี่ยงให้ชัดเจน ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่าระยะฟักตัวอยู่ที่ 14 วัน ซึ่งจากผลงานวิจัยพบว่า โควิด-19 เชื้อจะอยู่ในโพรงจมูก ระบบทางเดินหายใจของคนปกติทั่วไป

        โดยไวรัส โควิด-19 อาการจะค่อยๆ เริ่มหนักขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้แพร่เชื้อไปสู่สังคมมากขึ้น ซึ่งคนไข้ที่มีอาการของ โควิด-19 จากผลวิจัยพบว่าใช้เวลา 4-5 วันก่อนที่จะเข้ามารับการรักษา ซึ่งหลังจากวันที่ 8-9 จะป่วยหนักมาก ดังนั้นหากป่วย 3-4 วัน ก็ไม่ควรชะล่าใจ

ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่าไวรัส โควิด-19 จะทำลายปอดของผู้ติดเชื้อรุนแรงและรักษาหาย จริง ๆ แล้ว ปอดสามารถถูกทำลายได้ ทั้งจากไวรัสรวมถึงฝุ่น PM.2.5 ด้วย แต่ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงอาจจะมีเกิดขึ้น และปอดมีผังผืด ซึ่งกรณีนี้ปอดอาจจะได้รับความเสียหายแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรคของแต่ละคน

ผศ.นพ.กำธร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง 11 ประเทศ ขออย่าเพิ่งกังวล อยากให้กักตัวเองตามระยะเวลาฟักตัวของโรค พร้อมสังเกตอาการของตัวเอง หากเริ่มมีอาการปวดเมื่อย ไอ มีน้ำมูก หรืออาการที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางเพื่อตรวจหาไวรัสอีกครั้ง

สำหรับข้อแนะนำผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง หรือมีความเสี่ยง อยู่ระหว่างการกักตัว 14 วัน ควรแยกการใช้ชีวิตจากผู้ที่ไม่ได้เดินทาง ทั้งห้องนอน, ห้องน้ำ, แยกอุปกรณ์ทานอาหาร, พร้อมทั้งใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน เพื่อลดความใกล้ชิดกับคนภายในบ้าน แต่หากว่าผู้เฝ้าระวังเกิดมีอาการ จำเป็นจะต้องป้องกันรวมไปถึงคนในบ้าน เช่น การใส่หน้ากากอนามัยทุกคน, การแยกผ้าซักควรใช้อุณหภูมิสูงเพื่อฆ่าเชื้อโรค

การเดินทางทั่วไปในชีวิตประจำวัน  ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในประเทศที่มีเสี่ยง ส่วนในไทยสามารถเดินทางได้ตามปกติ ทั้งนี้ประชาชนควรพกหน้ากากอนามัยเพื่อสวมใส่ หากเข้าไปในที่ ชุมชน ที่แออัด มีคนจำนวนมาก บริการรถสาธารณะ BTS พร้อมเข้าใจวิธีการถอดหน้ากากอนามัยทิ้งอย่างถูกต้อง และควรล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรค ซึ่งปัจจุบันตามสถานที่ต่าง ๆ ได้มีการวางเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือ เพื่อให้ผู้คนทั่วไปกดใช้ได้ง่าย แต่หากเดินทางทั่ว ๆ ไป ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยก็ได้  เพราะการใส่หน้ากากอนามัยไปในที่สาธารณะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ มีโอกาสต่ำมากที่เชื้อจากอากาศจะเข้าสู่ร่างกาย

สำหรับหน้ากากอนามัย ในช่วงที่กำลังขาดแคลน เห็นว่าประชาชนควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยที่ดี โดยการล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงใช้หน้ากากอนามัยที่ควรมีสำรองคนละ 5-10 อัน เพื่อเอาไว้ใช้ในช่วงที่เข้าไปอยู่ในชุมชน พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยง และลดความเสี่ยงการออกไปยังพื้นที่ชุมชน ส่วนการฆ่าเชื้อโรคภายในบ้าน แนะนำใช้ไฮเตอร์ น้ำยาล้างห้องน้ำทั่วไป รวมถึงน้ำยาที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรด์ จะดีกว่าการใช้แอลกฮอล์ฉีดพ่นโดยตรง เพื่อป้องกันติดไฟ

อย่างไรก็ดี อยากให้ประชาชน รับข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ไวรัส โควิด-19 ที่ถูกต้อง ด้วยการติดตามที่เว็ปไซต์ของกรมควบคุมโรค และสมาคมโรคติดเชื้อที่มีการทำข้อมูลแนะนำประชาชนไว้แล้ว ที่ www.idthai.org

ขอบคุณข้อมูล : RAMA CHANNEL