โดยความสมบูรณ์ของการทำสัญญาจ้างแรงงานนั้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้างมีสิทธิที่จะแสดงเจตนาทำเป็นหนังสือ หรือโดยปากเปล่าก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฏหมายเพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชากร ซึ่งถ้ามีเจตนาขัดต่อกฏหมายดังกล่าว ย่อมทำให้ตกเป็นโมฆะได้ โดยมี 9 หมวดสาระสำคัญพึงรู้ ที่ทาง เทอร์ร่า บีเคเค นำมาส่งมอบเพื่อการเตรียมตัวสู่ผู้ประกอบการ และเตรียมพร้อมเป็นมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพ ดังนี้ 1. สัญญาจ้างแรงงาน (1) เมื่อมีการจ้างแรงงานแล้ว แม้จ้างกันด้วยวาจา ก็มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” (2) แม้นายจ้างกับลูกจ้างจะตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานกันด้วยความสมัครใจ แต่ถ้าข้อตกลงส่วนใดขัดหรือผิดแผกแตกต่างกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็ตกเป็นโมฆะ จะอ้างข้อตกลงนั้นมิได้ (3) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เฉพาะการจ้างลูกจ้างให้ทำงานตามโครงการ หรืองานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลฯเท่านั้น มิใช่ในงานปกติทั่วไป 2. การทำงานล่วงเวลา (4) การทำงานหลังเวลาเลิกงานเป็นการทำงานล่วงเวลา จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน และนายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างนั้นด้วย ส่วนที่ลูกจ้างมาทำงานสาย นายจ้างลงโทษทางวินัยได้ (5) เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้าง จะตกลงให้หยุดงานชดเชยแทนมิได้ (6) ไม่ว่าลูกจ้างจะมีตำแหน่งสูงเพียงใด หรือได้รับเงินเดือนมากสักเท่าใด หากทำงานล่วงเวลาก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา คงมีข้อยกเว้นตามกฎหมายไว้เฉพาะ “ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง” เท่านั้น 3. วันหยุด (7) กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า เพื่อให้ลูกจ้างได้หยุดงาน เมื่อกฎหมายบัญญัติเป็นวันหยุดจึงมิใช่วันลา แม้ลูกจ้างไม่ได้ลา นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินเป็นค่าทำงานในวันหยุดให้
(๘) เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง เว้นแต่งาน ในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านอาหาร ร้านขายเครื่องดื่มสโมสร สมาคม สถานพยาบาล สถานบริการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง นายจ้างจึงจะตกลงกับลูกจ้างที่ต้องมาทำงานในวันหยุดตามประเพณี โดยให้หยุดในวันอื่นชดเชยแทนการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดได้ 4. การลากิจ (9) ลูกจ้างที่ขอลาเพื่อกิจธุระ นายจ้างมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเอง แต่เมื่ออนุญาตแล้ว จะไปหักวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ หากจะให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีก็ต้องแจ้งลูกจ้างว่าไม่อนุญาตให้ลา แต่ให้เป็นวันหยุดดังกล่าวแทน การลาป่วย/คลอดบุตร/ลาบวช (10) ลูกจ้างที่ลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์หรือใบรับรองของสถานพยาบาลของทางราชการก็ได้ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ ให้ชี้แจงนายจ้าง (11) กฎหมายปัจจุบันมิได้กำหนดให้นายจ้างมีสิทธิเรียกใบรับรองของแพทย์ประกอบการลาเพื่อคลอดบุตรไว้ นายจ้างจึงไม่อาจกำหนดให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์ (ดังเช่นการลาป่วย) ได้ (12) กฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นในการลาเพื่อคลอดบุตรไว้ ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์จึงมีสิทธิลาได้เมื่อมีครรภ์ ต่างกับกฎหมายประกันสังคมที่กำหนดให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบแล้วเจ็ดเดือนจึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน (13) กฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดสิทธิในการลาเพื่ออุปสมบทไว้ ลูกจ้างซึ่งประสงค์จะลาอุปสมบทจึงลาได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างนั้น หรือตกลงกับนายจ้างสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไว้จนพอที่จะขอหยุดไปอุปสมบทได้ 5. ค่าจ้าง คืออะไร (14) การคำนวณค่าล่วงเวลาหรือเงินประเภทอื่นตามกฎหมาย(เช่น ค่าชดเชย เป็นต้น) นายจ้างจักต้องคำนวณจาก “ค่าจ้าง” ซึ่งหมายถึงเงินทุกประเภทได้ที่จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน มิใช่เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น (15) สัญญาหรือข้อตกลงที่นายจ้างทำไว้กับลูกจ้างว่าเงินเดือนของลูกจ้างได้รวมค่าล่วงเวลาไว้ด้วยแล้วนั้น เป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ (16) ค่าจ้าง คือ - เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง - สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน - และให้หมายความรวมถึง เงิน ที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง ในวันหยุดและวันลา ที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ 6. ลูกจ้างชั่วคราว/ลูกจ้างทดลองงาน/ลูกจ้างรับจ้างทำของ (17) ลูกจ้างชั่วคราวก็ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” มีสิทธิและได้รับ การคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับลูกจ้างอื่น (18) ลูกจ้างรายวันก็ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” มีสิทธิและได้รับ การคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับลูกจ้างอื่น โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด (19) ลูกจ้างทดลองงานเป็น “ลูกจ้าง”ตามกฎหมาย หากนายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแทน (20) ลูกจ้างทดลองงานเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย จึงมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองทุกบทมาตราอายุงานเพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายจึงเริ่มนับทันที (21) กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาทดลองงานไว้ นายจ้างจึงกำหนดระยะเวลาทดลองงานเท่าใดก็ได้ แต่ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นเมื่อทำงานครบ 120 วันแล้ว นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย (22) คนงานที่ทำงานเหมา (เช่น ทอผ้าเป็นหลา เย็บเสื้อเป็นโหล เป็นต้น) ถือว่าเป็น “ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลของงาน” มีสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับลูกจ้างอื่น 7. เจ็บป่วยจากการทำงาน (23) กรณีใดบ้างที่เรียกว่า บาดเจ็บจากการทำงาน บาดเจ็บจากการทำงาน หมายถึง การที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานให้แก่นายจ้าง (เน้นย้ำคำนี้นะครับ – จากการทำงาน) ได้แก่ - ลูกจ้างได้รับอันตรายในขณะที่เดินทางไปทำงาน โดยมีหัวหน้าควบคุมไปด้วย - ลูกจ้างได้รับอันตรายในขณะเดินทางกลับ จากการไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ - ลูกจ้างได้รับอันตราย ขณะเดินทางไปและกลับจากการแข่งขันกีฬาที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างเข้าร่วม - ลูกจ้างเป็นลม ในขณะที่ทำงานให้แก่นายจ้างโดยมีเหตุปัจจัยให้ลูกจ้างเป็นลม - ลูกจ้างถูกยิงหรือถูกทำร้ายในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่นายจ้าง - ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานหรือการงานของลูกจ้าง ตัวอย่างรูปธรรมเช่น - การปฏิบัติงานนั้นต้องมีการเดินทางอยู่ด้วย เช่น คนขับรถรับส่งพนักงานรับส่งสินค้า พนักงานขาย ซึ่งต้องออกเดินทางไปขาย พนักงานรับส่งเอกสาร พนักงานเก็บเงิน หรืองานที่ต้องออกเดินทางไปปฏิบัตินอกสถานที่ หรือ ต้องออกเดินทางไปปฏิบัตินอกสถานที่ ให้ถือว่าลงมือทำงานตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง - กรณีที่ทางโรงงานจัดการแข่งกีฬามีโครงการ หลักฐานการประชุม แบ่งทีมแข่ง แล้วพนักงานบาดเจ็บ ใช้กองทุนเงินทดแทน แต่ถ้าพนักงานเล่นกันเอง แล้วบาดเจ็บ ถือว่าไม่ใช่บาดเจ็บจากการทำงานครับ 8. การเลิกจ้าง/หยุดกิจการ (24) นายจ้างที่มีความจำเป็นโดยเหตุที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ต้องหยุดกิจการชั่วคราว ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ (25) ตามกฎหมาย นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในระหว่างการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้ไม่เกินเจ็ดวัน และต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง การสั่งพักงานลูกจ้างที่กระทำความผิดทางวินัยในระยะเวลาสั้นๆ ก็ย่อมกระทำได้ (26) การลาออกจากงานเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ตามกฎหมายลูกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายจ้างทราบ เมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า (27) การลาออกจากงานเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยฝ่ายลูกจ้าง การบอกเลิกสัญญาเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว มีผลเป็นการเลิกสัญญาทันทีเมื่อถึงกำหนดเวลาที่แจ้งหรือระบุไว้ในการลาออกนั้น นายจ้างไม่มีสิทธิยับยั้งหรือไม่อนุมัติแต่อย่างใด (28) นายจ้างที่เลิกจ้างลูกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ก็จะไม่ถูกฟ้องร้องเฉพาะข้อหาไม่จ่ายค่าชดเชยเท่านั้น ลูกจ้างอาจฟ้องร้องนายจ้างในข้อหาอื่นได้อีกมาก เช่น ข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ข้อหาไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นต้น 9. ศาลแรงงาน (29) การฟ้องศาลแรงงานในคดีผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาจ้างก็ฟ้องได้ (30) ถ้าเป็นการจ้างหรือตกลงด้วยวาจา พยานหลักฐานที่ดีที่สุดก็คือตัวลูกจ้างอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า นายจ้างให้สัญญาอย่างไร หรือตกลงอย่างไร ลูกจ้างเบิกความซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา หากเป็นความจริงก็ชนะคดีได้ (31) การฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย แม้ฟ้องไปแล้วศาลจะพิพากษายกฟ้องหรือแพ้คดี ก็ไม่เป็นเหตุให้ฝ่ายชนะคดีฟ้องกลับเรียกค่าเสียหายได้ เว้นแต่ได้เบิกความหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี ก็จะมีความผิดทางอาญา ขอขอบคุณข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก ทนายพร และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน