ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 1 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับ 137.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) ซึ่งแสดงว่า ราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2566 แต่เป็นลักษณะการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นนั้นมาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในหมวดงานสถาปัตยกรรมร้อยละ 4.7 ในขณะที่หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง ลดลงร้อยละ -2.5 หมวดงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร ลดลงร้อยละ -1.9 และหมวดงานระบบสุขาภิบาลลดลงร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

หมวดราคาวัสดุก่อสร้างเกือบทุกประเภทปรับลดลงเกือบทุกประเภท โดยหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลงมากที่สุดร้อยละ -9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นผลมาจากราคาเหล็กในตลาดเอเชียและจีนมีแนวโน้มปรับตัวลดลง และราคาเหล็กในประเทศไทยถูกกดดันจากการไหลเข้าของเหล็กจากประเทศจีนที่ยังคงกำลังการผลิตเหล็กในระดับสูงขณะที่ความต้องการเหล็กในประเทศจีนลดลง ทำให้จีนต้องระบายเหล็กมายังภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง จากการที่ประเทศไทยนำเข้าเหล็กจากประเทศจีน และประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้ราคาเหล็กโดยรวมในประเทศไทยปรับตัวลดลง

รองลงมาได้แก่หมวดสุขภัณฑ์ลดลงร้อยละ -8.9 โดยลดลงจากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่ชะลอตัวในช่วงรองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นและความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติให้สินเชื่อ ในขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต กระเบื้อง อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงระหว่างร้อยละ -1.0 ถึงร้อยละ -5.2 โดยมีเพียงหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เท่านั้นที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

              ส่วนหมวดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากการประกาศปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 (ดูแผนภูมิที่ 1 - 2)

เมื่อพิจารณาจำแนกต้นทุนของงานก่อสร้างในแต่ละหมวด พบว่า

  1. หมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ
  • งานวิศวกรรมโครงสร้าง มีอัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 26.7 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ
  • งานสถาปัตยกรรม มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 67.2 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ
  • งานระบบสุขาภิบาล มีอัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ
    ปีก่อน (
    YoY) และมีอัตราค่าตอบแทนคงที่ที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 2.7 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ
  • งานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร อัตราค่าตอบแทนลดลงร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 3.4 ของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ (ดูตารางที่ 1)

2. หมวดวัสดุก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.1 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน

  • ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 29.4 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
  • ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาลดลงร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อย -4.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 6.7 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
  • เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาลดลงร้อยละ -9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 8.6 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
  • กระเบื้อง ราคาลดลงร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
  • สุขภัณฑ์ ราคาลดลงร้อยละ -8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 3.0 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาลดลงร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 6.0 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง
  • วัสดุก่อสร้างอื่นๆ ราคาลดลงร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) โดยมีสัดส่วน ร้อยละ 40.9 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง (ดูตารางที่ 2)

3.หมวดแรงงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.9 ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน

โดยค่าแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

…………………………………………….
วิธีการจัดทำข้อมูล

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมกับสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จัดทำดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน เป็นประจำทุกไตรมาส โดยใช้ราคาปี 2553 เป็นปีฐาน

ในการจัดทำดัชนีนี้ จะใช้แบบบ้าน “ครอบครัวไทยเป็นสุข 5” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง  เป็นตัวแบบในการคำนวณราคาค่าก่อสร้าง ซึ่งแบบบ้านดังกล่าว เป็นบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 169 ตารางเมตร โดยใช้สมมติฐานระยะเวลาการก่อสร้างบ้านไว้ประมาณ 180 วัน ราคาค่าก่อสร้างบ้าน จะนับรวม ค่าดำเนินการ และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วแต่ไม่นับรวมราคาที่ดินและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการถมดิน และปรับหน้าดิน

หมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบที่นำมาใช้คำนวณดัชนี ได้แก่ งานวิศวกรรมโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบสุขาภิบาลงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารและงานอื่น ๆ

ส่วนหมวดวัสดุก่อสร้าง จะใช้ข้อมูลราคาขายส่งวัสดุก่อสร้างในกรุงเทพฯ ของกระทรวงพาณิชย์ และหมวดแรงงาน จะใช้ข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานในการจัดทำดัชนี

 

ข้อควรระวังในการใช้ข้อมูล

ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน จัดทำขึ้นเพื่อใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาค่าก่อสร้างบ้านที่ประชาชนจ้างผู้รับเหมาเป็นผู้ก่อสร้างคราวละ 1 หลัง แต่ไม่สามารถใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาค่าก่อสร้างบ้านจัดสรรที่สร้างโดยผู้ประกอบการซึ่งจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างคราวละหลายๆ หลังได้

……………………………………………..

ข้อความจำกัดความรับผิดชอบ

ข้อมูลสถิติ ข้อเขียนใด ๆ ที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้รับมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือจากการประมวลผลที่เชื่อถือได้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ตรวจสอบจนมั่นใจในระดับหนึ่งแล้ว แต่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องหรือความเป็นจริงและไม่อาจรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ว่าในกรณีใด ๆ จากการใช้ข้อมูลผู้นำข้อมูลไปใช้พึงใช้วิจารณญาณ และตรวจสอบตามความเหมาะสม