สำหรับผู้ประกอบการใหม่ ที่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ถึงสิทธิ หน้าที่ และอัตราการจ่ายภาษี ของการจดทะเบียนการค้า "บุคคลธรรมดา - นิติบุคคล" วันนี้ TerraBKK มีคำตอบมาให้ เพื่อลองศึกษาข้อมูลกันดู จะได้ไม่เจอปัญหา โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากร นะคะ เริ่มต้นจาก

บุคคลธรรมดา รวมถึง ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เพิ่มเติม

เจ้าของเพียงคนเดียว มีอำนาจในการตัดสินใจทุกอย่าง สถานภาพบุคคลธรรมดา ได้รับผลตอบแทนจากกำไร สามารถจด VAT ได้ หากมีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาท

■ ข้อดี
  • จัดตั้งง่าย ไม่ต้องจดจัดตั้ง
  • มีอิสระในการตัดสินใจ
  • เจ้าของเป็นผู้รับผิดชอบต่อการดำเนินงาน
  • ข้อบังคับทางกฎหมายน้อย
  • การเลิกกิจการทำได้ง่าย
  • ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานต่ำ
■ ข้อเสีย
  • เจ้าของกิจการต้องรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการไม่จำกัดจำนวน
  • ขาดความน่าเชื่อถือของกิจการ
  • การจัดหาเงินทุนทำได้ยาก
  • ธุรกิจอาจไม่ยืนยาวและไม่ต่อเนื่อง
  • เสียเปรียบด้านภาษีอากร
■ ภาษี
  • ภาษีบุคคลธรรมดา
  • ใช้อัตราภาษีแบบก้าวหน้า

ตารางอัตราเงินได้บุคคลธรรมแบบใหม่ (มีผลปี 2556 - 2557 ขยายถึง 2558)

ห้างหุ้นส่วนจำกัด จัดเป็น "นิติบุคคล"เพิ่มเติม

คือ องค์กรในการประกอบกิจการค้ารูปแบบหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมกับกิจการค้าขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

■ หุ้นส่วน หรือ ผู้ถือหุ้น มี 2 ประเภท คือ
  1. หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด จะรับผิดชอบเท่าที่จำกัดความรับผิดไว้
  2. หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด จะรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่มีจำกัดจำนวน
■ การจัดตั้ง : จะต้องมีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงเข้าร่วมกันเพื่อทำกิจการร่วมกัน โดยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะได้จากกิจการที่ทำนั้น ■ การลงทุน : เงิน หรือทรัพย์สิน หรือแรงงาน ■ ผู้มีอำนาจจัดการ : หุ้นส่วนผู้จัดการ (เฉพาะหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้) ■ สถานะ : เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ■ ผลตอบแทน : กำไรจากกิจการที่ทำ ได้กำไรเท่าไหร่ก็นำมาแบ่งเท่าๆ กัน หรือตามที่ตกลง ■ หน้าที่
  • ต้องส่งงบการเงิน
  • ต้องยื่นภาษีต่อกรมสรรพากร
■ สิทธิและหน้าที่ของหุ้นส่วน หรือ ผู้ถือหุ้น
  • หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด เท่านั้นที่สามารถจัดการงานของห้างฯ ได้
  • โอนหุ้นต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนคนอื่น
  • จะประกอบกิจการอื่นอันมีลักษณะเป็นคู่แข่งกับห้างฯ ไม่ได้
  • หากตายเป็นเหตุให้ห้างฯ เลิกกัน
  • ใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างได้
  • หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ไม่สามารถจัดการงานของห้างฯ ได้
  • โอนหุ้นไม่ต้องได้รับความยินยอม
  • ประกอบกิจการอื่นอันมีลักษณะเป็นคู่แข่งกับห้างฯ ได้
  • หากตายไม่เป็นเหตุให้ห้างฯ เลิกกัน
  • ใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างไม่ได้
■ ข้อดี
  • ระดมทุนจากแหล่งอื่นได้ง่าย มั่นคงกว่าธุริกจเจ้าของคนเดียว
  • เลิกกิจการได้ง่าย
  • หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ต้องรับผิดชอบงานของห้างอย่างกิจการของตน
■ ข้อเสีย
  • มีข้อจำกัดเรื่องการโอนหุ้น
  • ถอนเงินออกได้ยาก
  • อายุธุรกิจถูกจำกัดด้วยอายุของผู้เป้นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด
  • หุ้นส่วนก่อหนี้ได้ไม่จำกัด
  • ไม่กล้าเสี่ยงในการขยายกิจการ
■ ภาษี
  • ภาษีนิติบุคคล
  • ใช้อัตราภาษีคงที่ 20 % ของกำไรสุทธิ ( กำไรหักด้วยค่าใช้จ่ายจริงที่มีหลักฐาน)

บริษัทจํากัด จัดเป็น "นิติบุคคล"เพิ่มเติม

คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นโดยแบ่งทุนของบริษัทเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน

■ หุ้นส่วน หรือ ผู้ถือหุ้น : หุ้นส่วนของบริษัทอยู่ในรูปแบบผู้ถือหุ้น รับผิดในหนี้สินของบริษัทเท่ากับมูลค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบ ถ้าชำระค่าหุ้นครบแล้ว ความรับผิดไม่มีเป็นส่วนตัว ■ การจัดตั้ง : จะต้องมีบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปเป็นผู้ร่วมก่อการ ■ การลงทุน : เงินเท่านั้น ■ ผู้มีอำนาจจัดการ : กรรมการบริษัท มาจากการแต่งตั้งของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ■ สถานะ : เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ■ ผลตอบแทน : เงินปันผลตามมติที่ประชุมใหญ่ จ่ายจากกำไร ถ้าขาดทุนห้ามจ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุน ■ หน้าที่
  • ต้องส่งงบการเงิน
  • ต้องยื่นภาษีต่อกรมสรรพากร
■ สิทธิและหน้าที่ของหุ้นส่วน หรือ ผู้ถือหุ้น
  • สิทธิที่จะได้รับใบหุ้น
  • สิทธิที่จะโอนหุ้น โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท
  • สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล
  • สิทธิในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัท ในการประชุมทุกครั้งผู้ถือหุ้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องต่างๆ ที่บริษัทขออำนาจจากผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ เช่น การแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการ การกำหนดอำนาจผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท การเพิ่มทุน ลดทุน การจ่ายเงินปันผล การตั้งผู้ชำระบัญชี การจ่ายเงินบำเหน็ดตอบแทนให้กรรมการของบริษัท จนถึงการเลิกกิจการของบริษัท
  • สิทธิที่จะตรวจดูรายงานการประชุมกรรมการและรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น
  • สิทธิในการฟ้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่
  • สิทธิในการฟ้องกรรมการ ปฏิบัติงานของบริษัทให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท แต่บริษัทมิได้ดำเนินการฟ้องกรรมการนั้น
  • สิทธิที่จะจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นหรือใช้เป็นหลักประกันหนี้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทก่อน
  • สิทธิที่จะได้ซื้อหุ้นออกใหม่ของบริษัทตามส่วนของการถือหุ้นเดิม
  • สิทธิที่จะได้รับเงินค่าหุ้นและส่วนแบ่งในทรัพย์สินของบริษัท หลังจากมีการเลิกบริษัทและชำระบัญชีแล้ว หากมีเงินเหลือ
  • สิทธิที่จะเป็นผู้สอบบัญชี/ สิทธิที่จะตรวจทะเบียนผู้ถือหุ้น /สิทธิในการเรียกให้บริษัทส่งสำเนาทะเบียนหุ้น สิทธิในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเอง/ สิทธิมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน /สิทธิในการฟ้องให้เลิกบริษัท และสิทธิในการร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทฟื้นคืนสู่ทะเบียน
■ ข้อดี
  • มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแยกออกต่างหากจากผู้ถือหุ้น
  • หาทุนเพิ่มโดยการขายหุ้น
  • ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบเพียงเท่าค่าหุ้นที่ตนค้างชำระ
  • ผู้ถือหุ้นขายหรือโอนหุ้นของตนให้กับผู้อื่นได้
  • ผู้ถือหุ้นตาย กิจการยังดำเนินการต่อไปได้
  • มีความน่าเชื่อถือมากกว่ากิจการเจ้าของคนเดียว หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด
■ ข้อเสีย
  • ขั้นตอนจัดตั้งยุ่งยาก หน่วยงานของรัฐดูแลเข้มงวด
  • ค่าใช้จ่ายในการบริหารสูง ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี
  • ต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป
  • ความลับเปิดเผยได้ง่าย
■ ภาษี
  • ภาษีนิติบุคคล
  • ใช้อัตราภาษีคงที่ 20 % ของกำไรสุทธิ ( กำไรหักด้วยค่าใช้จ่ายจริงที่มีหลักฐาน)

ดังนั้น สำหรับท่านที่มีการค้ากิจการแล้วมีรายได้สูง เราขอแนะนำว่าให้ท่านไปจดทะเบียนเป็น "นิติบุคคล" ท่านจะได้รับประโยชน์ทางภาษีมากกว่า นั่นเอง - เทอร์ร่า บีเคเค

ตารางแสดง ความแตกต่างระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด - บริษัทจำกัด - บุคคลธรรมดา

กรมสรรพากรขยายเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก 1 ปี คลิก ขอบคุณข้อมูล จาก : กรมสรรพากร บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค