อุปกรณ์งานระบบประกอบอาคารที่ใช้ ควรมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพสูงสุด เหมาะกับการใช้งาน ประหยัด ติดตั้งง่าย และซ่อมแซมบำรุงดูแลรักษาได้ง่าย โดยมีหลักพิจารณา ดังนี้

1. เลือกขนาดและจำนวนการใช้งานของอุปกรณ์ ให้เหมาะสม ตรงกับพฤติกรรมของการใช้งาน เช่น ขนาดของมิเตอร์ ขนาดของเบรกเกอร์ไฟฟ้า ที่เหมาะกับปริมาณกระแสไฟฟ้า ที่จะใช้ให้สอดคล้องกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย และประหยัดพลังงาน โดยปรึกษาวิศวกรไฟฟ้า เพื่อรับคำแนะนำในการใช้งานเบื้องต้น กรณีของงานระบบสุขภิบาล ขนาดและจำนวนของปั๊ม ขึ้นกับจำนวนผู้ใช้ภายในอาคาร หรือ ขนาดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ ขึ้นกับจำนวนผู้ใช้ ขนาดปริมาตรของห้อง และปัจจัยอื่นๆโดยปรึกษาวิสวกรเครื่องกล เพื่อขอคำแนะนำในการเลือกให้เหมาะสม

2. งานระบบทุกชนิดควรมีระบบสำรอง (Stand by) เพื่อใช้ในภาวะทดแทน เช่น ควรมีการเผื่อขนาดประมาณกระแสไฟฟ้า ในระบบให้พอเพียง เช่น มีเบรกเกอร์สำรองปริมาณไฟฟ้าเพื่อใช้ในกรณีและโอกาศต่างๆ ให้พอเพียง ระบบถังสำรองน้ำ หากสามารถทำระบบสำรองน้ำและถังจ่ายน้ำ ให้สามารถสลับการใช้งาน หรือมีปั๊มมากกว่า 1 ตัวเพื่อสลับการทำงาน จะช่วยให้ยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ และลดความเสี่ยงจากความเสียหายของปั๊มหากเกิดการชำรุดตัวใดตัวหนึ่ง เป็นต้น

Picture via www.xn--12cla6etc9a4dzb6cg3fta.com

3. บริเวณติดตั้งงานระบบทุกชนิด ควรมีที่วางมากพอเพื่อเข้าไปซ่อมบำรุงได้ ที่ตั้งระบบแผงวงจรไฟฟ้า ควรเข้าถึงได้ง่าย ไม่มีสิ่งกีดขวาง ในกรณีต้องการซ่อมแซมจะทำได้ง่ายและมีความปลอดภัยสูง ระบบปั๊มควรมีที่ตั้งมากเพียงพอ และมีความสะอาด เพื่อการซ่อมบำรุงได้ง่าย เครื่องปรับอากาศ บริเวณ Condenser ควรมีที่ว่างมากพอให้ระบายความร้อนได้ โดยวางห่างจากผนังมากกว่า 15 เซนติเมตร เพื่อให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ

4. หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เป็นทางเลือกในการประหยัดพลังงาน การเลือกใช้หลอดประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพควรใช้หลอดที่กินพลังงานไฟฟ้าต่ำ (Watts) ต่ำ แต่ให้กำลังการส่องสว่าง (lumen) สูง หรือพิจารณาการใช้แสงสว่างธรรมชาติเข้าร่วมในการใช้งานเพื่อเป็นทางเลือกในการประหยัดพลังงานอีกส่วนหนึ่ง หลอดไส้ เป็นหลอดที่กินพลังงานสูง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ และควรเลือกอุณหภูมิสีของแสงที่เปล่งออกจากหลอดให้ถูกต้องตามการใช้งาน เพื่อการมองเห็นที่มีประสิทธิภาพ

5. ระบบความปลอดภัยในงานระบบไฟฟ้า เป็นสิ่งสำคัญ ควรมีอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ป้องกันไฟฟ้าเกิน และไฟฟ้าตก เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า กรณีที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ Server ควรมีระบบสำรองไฟฟ้า (UPS) เพื่อปกป้องเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความละเอียด และข้อมูลที่กำลังทำงานอยู่ของระบบมิให้สูญหายไป อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป (หรือสูงกว่า 12 เมตร) ควรพิจารณาติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่า เพื่อความปลอดภัยของอาคารควรปรึกษาวิศวกรไฟฟ้า เพื่อรับคำแนะนำการติดตั้งที่ถูกต้อง

6. ระบบปั๊มน้ำ ห้ามต่อตรงกับท่อประปาที่มาจากการประปาฯ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว แรงดันของปั๊ม จะทำให้เกิดแรงดูดในท่อน้ำประปาด้านนอก ดูดเอาน้ำสกปรกที่อยู่หน้าผิวดินติดเข้ามาในระบบ ผ่านรอยต่อของท่อ ทำให้น้ำไม่สะอาด ที่ถูกต้องคือควรให้น้ำจากท่อประปาสาธารณะไหลลงในบ่อสำรองน้ำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะให้ปั๊มสูบไปใช้จ่ายในระบบ

7. น้ำทิ้งจากรางระบายน้ำฝน หรือน้ำที่ระบายจากหลังคา หน้าผิวดินเมื่อฝนตกระบายออกสู่สาธารณะได้ หากมีที่ว่างมากพออาจพิจารณาสร้างบ่อหน่วงน้ำ สำหรับเก็บน้ำฝนเพื่อใช้เป็นน้ำในการรดน้ำต้นไม้ น้ำล้างพื้น ฯลฯ เพื่อการประหยัดน้ำประปา และมีส่วนช่วยในการป้องกันน้ำท่วม และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลนน้ำได้

8. ท่อน้ำทิ้งระบบปรับอากาศ ห้ามต่อเข้ากับระบบน้ำทิ้งของอาคารโดยเด็ดขาดเพราะกลิ่นของท่อน้ำทิ้ง อาจจะย้อนกลับไปที่เครื่องปรับอากาศ ทำให้อากาศมีกลิ่น และมีเชื้อโรคปะปน ควรแยกท่อน้ำทิ้งระบบปรับอากาศออกต่างหาก น้ำที่ทิ้งจากระบบปรับอากาศเป็นน้ำที่มีความใส คุณภาพดี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอย่างอื่นๆ ได้ ส่วนความร้อนจากเครื่องปรับอากาศที่ระบายออกที่ Condenser ปัจจุบันมีอุปกรณ์ดักความร้อนเพื่อนำไปใช้กับระบบความร้อนให้น้ำ ทำให้ประหยัดพลังงานในการทำน้ำร้อนได้ รายละเอียดสามารถปรึกษา วิศวกรเครื่องกล ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำในการติดตั้งและใช้งาน

9. ตำแหน่งปลั๊กและสวิทซ์ไฟฟ้า ควรอยู่ระดับ 1.20 เมตรจากพื้น เพื่อความปลอดภัยจากมือเด็ก และสะดวกต่อการใช้งาน รวมไปถึงความปลอดภัยเมื่อมีน้ำท่วม สำหรับปลั๊กไฟฟ้า ควรมีสวิทซ์ตัดไฟติดตั้ง เพื่อความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง ระบบสายไฟฟ้า จะต้องมีระบบสายดิน เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว หรือลัดวงจร ตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวง

10. มีระบบป้องกันอัคคีภัยเบื้องต้น เช่น ติดตั้งเครื่องตรวจจับควัน หรือตรวจจับความร้อน อย่างน้อยหนึ่งจุดภายในบ้าน มีถังดับเพลิงแบบมือถือติดตั้งในบริเวณที่เห็นง่าย สามารถนำมาใช้ยามฉุกเฉินได้ สำหรับบ้านที่ติดเหล็กดัด ควรพิจารณาตำแหน่งช่องเปิดฉุกเฉิน ให้เหมาะสมต่อการหนีไฟ แต่ในขณะเดียวกัน ควรมีความปลอดภัยจากการโจรกรรมและการบุกรุกเข้ามาในอาคารเช่นกันด้วย

Source: ArchitectExpo Buyers' Guide 2013/2014

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : www.BuilderNews.in.th