ถึงแม้ว่าบ้านสองชั้นจะมีโอกาสรอดจากน้ำท่วม แต่ก็ยังมีบ้านชั้นสองอีกมากที่คนในบ้านต้องอพยพย้ายหนีกันไปทั้งที่ระดับน้ำยังไม่สูงมากนักด้วยเหตุผลเรื่องน้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่างและจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ลองมาดูกันว่าบ้านสองชั้นแบบเดิมๆ ของผู้อยู่อาศัยควรปรับปรุงแก้ไขอะไรเพื่อให้เรายังพอจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านได้อย่างไม่ลำบากในช่วงน้ำท่วมครั้งหน้า และที่สำคัญจะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยไม่ต้องขายบ้านทิ้งและอพยพหนีน้ำกันไปแบบถาวร 1. รูปแบบบ้าน : ที่ผ่านมาถ้าระดับน้ำท่วมสูงเกิน 1.00 เมตรขึ้นไป ผู้อยู่อาศัยอาจต้องคิดเรื่องการ "ยกบ้าน" ให้สูงขึ้นเพื่อความปลอดภัยจากน้ำแบบถาวร และจะต้องปรึกษาวิศวกรที่มีความชำนาญเพื่อขอคำแนะนำก่อนที่จะทำอีกด้วย แต่ถ้าทำไม่ได้ด้วยเหตุผลทางเทคนิคหรืองบประมาณ ก็จะต้องเตรียมพื้นที่สำหรับการยกย้ายสิ่งของในช่วงน้ำท่วม พร้อมๆ กับเตรียมพื้นที่สำรองไว้ทำกับข้าว ตากผ้า รับบริจาคสิ่งของและอื่นๆ ที่ระดับพื้นชั้นสองซึ่งอาจเป็นระเบียงบ้านเดิมๆ หรือทำเป็นลาน/ระเบียงที่ชั้นสองเพิ่มเติมขึ้นใหม่ก็ได้ และอย่าลืมทำที่กันแดดกันฝนให้พื้นที่อพยพนี้ เพื่อที่จะสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังควรพิจารณาใช้ทางลาดเอียง (Ramp) ในจุดที่ต้องการเคลื่อนย้ายของหนัก คนป่วย ผู้อาวุโส และสัตว์เลี้ยงเพื่อความสะดวกในช่วงอพยพย้ายไปสู่ที่ปลอดภัย แนวทางการเลือกใช้งาน: สามารถทำได้ทั้งในบ้านไม้หรือบ้านปูน แต่กรณีบ้านไม้จะทำได้ง่ายกว่าและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า


2. ระบบไฟฟ้า : นอกเหนือจากการแยกวงจรไฟฟ้าชั้นล่างและชั้นบน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นอย่างแรกๆ แล้ว หากระดับน้ำสูงเกิน 2.00 เมตร ก็ควรย้ายตู้หรือแผงควบคุมไฟ (Main Board) ภายในบ้านซึ่งมักติดตั้งไว้ที่ชั้นล่าง ไปไว้ที่ชั้นสองไปพร้อมกันเลย เพื่อให้ปลอดจากย้ำอย่างถาวรไปเลยเช่นกัน สำหรับการแยกวงจรไฟฟ้าถ้าท่านสามารถแยกวงจรให้ละเอียดมากขึ้น จะเป็นเรื่องดีต่อการใช้งานดวงโคมและอุปกรณ์ไฟฟ้าในช่วงน้ำท่วมชั้นล่างได้ดีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ชั้นล่างควรมีวงจรไฟฟ้าแสงสว่างแยกจากอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ และเครื่องปรับอากาศออกจากกัน รวมทั้งควรแยกวงจรส่วนแสงสว่างในบริเวณภายนอกตัวบ้านด้วย ควรติดตั้ง Earth leaked circuit breaker เพิ่มเติมที่แผงควบคุมไฟฟ้าเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้งานเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้การยกย้ายสวิทช์และปลั๊กไฟชั้นล่างหนีน้ำไว้ที่ระดับสูง (ไม่น้อยกว่า 1.00-1.20 เมตร) ก็เป็นเรื่องจำเป็นอีกเช่นกันครับเพื่อลดความเสี่ยงจากไฟรั่วและไฟดูด


3.ระบบประปา : การปรับปรุงหลักที่ควรทำได้แก่ การย้ายถังเก็บน้ำและถังบำบัดน้ำเสียถ้าเดิมติดตั้งแบบฝังดินมาวางบนพื้นแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำประปาปนเปื้อนและทำให้การขับถ่ายภายในบ้านอย่างเป็นปกติ การยกย้ายปั๊มน้ำและอุปกรณ์ท่อๆ ต่างๆ ไปขึ้นที่สูงหรือระเบียงชั้นสอง ก็เป็นเรื่องที่ทำได้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก ส่วนระบบท่อประปาควรยกให้สูงจาก
พื้นเกินระดับน้ำท่วมขังแล้วเปลี่ยนท่อประปาและน้ำโสโครกต่างๆ จากท่อ PVC เป็นท่อ PE จะมีความยืดหยุ่นและลดการแตกหักเสียหายได้ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ในกรณีการขับถ่ายที่เคยมีปัญหาช่วงน้ำท่วม ควรจัดเตรียมพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียสำรองที่ต่อตรงเข้าห้องน้ำชั้นสองและมีวาวล์ ปิด-เปิดเพื่อใช้งานในช่วงน้ำท่วมทดแทนถังบำบัดน้ำเสียหลักที่ฝังดินอยู่และอาจจะใช้งานไม่ได้ 4. ระบบปรับอากาศ: ไม่ควรติดตั้งอุปกรณ์ที่ระดับพื้นดินอีกต่อไป โดยเฉพาะตัวคอนเดนเซอร์ ควรติดตั้งบนโครงเหล็ก หรือระเบียง หรือดาดฟ้าที่สูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตรครับ ส่วนตัวแอร์หรือเครื่องเป่าลมเย็น (Fan coil unit) ภายในบ้านควรเลือกใช้แบบติดตั้งใต้เพดานหรือ Ceiling type ทั้งหมด

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :