TerraBKK Research ได้รวบรวม 7 สุดยอดบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทย ประจำครึ่งปีแรกของปี 2558 เพื่อนำ 7 บริษัทเหล่านี้มาเปรียบเทียบเพื่อค้นหาศักยภาพของกิจการที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดีที่สุด หลังจากที่ทุกบริษัทได้ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ครบทั้งหมดแล้ว โดยทาง TerraBKK Research จะนำเสนอเฉพาะด้านผลประกอบการเท่านั้น

จากข้อมูล TerraBKK Research มีความเห็นว่า บริษัทที่ถือได้ว่าเป็นบริษัทเติบโตในกลุ่มนี้คือ Makro ผลประกอบการที่ผ่านมา Makro ดีมากและมีแนวโน้มว่าจะดีต่อเนื่องอีกด้วย ส่วนบริษัทที่น่าจับตามองสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีในไตรมาสนี้ คือ Saha Pathanapibul เช่นเดียวกับการวิเคราะห์เมื่อไตรมาส1 ปี 2558 มีรายละเอียดดังนี้

รายได้ (Revenue) ของกลุ่มค้าปลีก เมื่อเรามองภาพรวมปีนี้ก็ยังคงเป็นอีกปีหนึ่งที่รายได้ในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยอันดับที่หนึ่งในด้านของรายได้ต้องยกให้ผู้นำด้านการค้าปลีกร้านสะดวกซื้อย่าง CP ALL มีรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกเท่ากับ 199,457 ล้านบาท ซึ่งสิ้นปีน่าจะจบที่ 400,000 ล้านบาทได้ไม่ยากนัก รองลงมาอันดับที่สอง คือ Makro และมีแนวโน้มของรายได้เติบโตต่อเนื่องสม่ำเสอและดูเหมือนไม่มีแนวโน้มของการชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ อันดับที่สาม คือ BigC ถ้าเราดูอัตราการเจริญเติบโตของรายได้จะพบว่า บริษัท Siam Global House มีอัตราการเจริญเติบโตของรายได้เท่ากับ 11.4% รองลงมาคือ Makro เติบโตสูงขึ้น 10.7% และ Home Pro เติบโตสูงขึ้น 10.6% ตามลำดับ

อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) บริษัทที่สามารถสร้างอัตรากำไรขั้นต้นได้สูงที่สุด คือHome Pro สูงถึง 27.65% สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ได้แก่ Makro (+7.7%), Siam Global House (+3.9%), CP ALL (+2.2%) และ BigC (+0.3%) ส่วนบริษัทที่ลดลงมากที่สุด คือ Home Pro และ Robinson ถึงแม้จะลดลงก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ในด้านของกำไรสุทธิ Makro เป็นบริษัทเดียวที่มีแนวโน้มของกำไรสุทธิเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจสวนทางกับยักษ์ใหญ่ค้าหลีกหลายรายที่อัตรากำไรลดลง บริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมีทั้งหมด 5 บริษัทด้วยกัน ได้แก่ Saha Pathanapibul, CP ALL ทั้งสองบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มมากกว่า 20% เป็นการเติบโตที่สนใจ ส่วนบริษัทที่เหลือได้แก่ Siam Global, BigC, Makroโตประมาณ 5-8% ส่วนบริษัทที่อัตรากำไรสุทธิลดลง คือ Home Pro

ในด้านของความสามารถในการทำกำไรและประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรในบริษัท สามารถดูได้จากอัตราส่วนทางการเงิน ROA และ ROE สำหรับอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset : ROA) บริษัทที่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ Makro แต่ครึ่งปีนี้ของ Makro มี ROA ต่ำกว่าปีที่แล้ว -1.4% แต่ก็ยังสูงที่สุดของกลุ่มอยู่ดี รองลงมาคือ Robinson และ Home Pro มีประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างผลกำไรให้บริษัทแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตลอด 3 ปี ส่วนบริษัทที่มีประสิทธิภาพจากการใช้สินทรัพย์สูงขึ้น 3 ปีติดต่อกันคือ BigC ส่วน Saha Pathanapibul ครึ่งปีแรก ROA เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35.1% ในด้านของอัตราผลตอบแทนจากส่วนของทุน (Return on Equity : ROE) จะเห็นว่า CP ALL และ ​Makro มีประสิทธิภาพในการทำกำไรสูงที่สุดของกลุ่มที่ระดับ ROE ที่สูงถึง 42% และ 41% ตามลำดับ แต่เมื่อเราดูแนวโน้มแล้ว Marko มีแนวโน้มของ ROE เติบโตอย่างโดดเด่นมากๆ ส่วนบริษัทที่มีแนวโน้มในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นน้อยลง ได้แก่ Home Pro, Robinson และ Siam Global House

อัตรากำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) บริษัทที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตของอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ยิ่งมากเท่าไรยิ่งดีเพราะแสดงถึง ความสามารถในการสร้างกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นต่อ 1 หน่วยได้อย่างคุ้มค่า บริษัทที่ EPS Growth โดดเด่นเกิน 10% ได้แก่ 1.CP ALL +32.7% กลับมายืนบวกได้แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรก 2.Saha Pathanapibul +24.4% 3.Makro +16.7%

อัตราหนี้สินต่อส่วนของทุน (Debt per Equity Ratio : D/E Ratio) อัตราหนี้สินต่อทุนควรอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่า ถ้าจะให้ดีควรอยู่ในระดับไม่เกิน 1 เท่า สำหรับบริษัทที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า 1 เท่า ได้แก่ Siam Global House (น้อยที่สุด), Saha Pathanapibul (มีแนวโน้มของอัตราหนี้สินต่อทุนลดลงมาโดยตลอด และ Robinson (แนวโน้มเพิ่มขึ้น) จากภาพจะเห็นว่า CP ALL ยังคงมีอัตราหนี้สินต่อทุนที่สูงอยู่แต่ลดลงจากครึ่งปีก่อนหน้าบ้างแล้ว สาเหตุที่ CP ALL มีอัตราหนี้สินต่อทุนสูงเพราะได้กู้เงินจำนวนมากไปซื้อ Siam Makro นั่นเอง

อัตรากำไรสุทธิ จะแสดงถึง ความสามารถในการทำกำไรสุทธิของบริษัท เป็นการวัดความสามารถของบริษัทในการควบคุมรายจ่ายทุกประการทั้งดอกเบี้ยและภาษีเมื่อเทียบกับยอดขาย หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรสุทธิได้มาก

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) แสดงถึง สัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อเงินทุนจากเจ้าของธุรกิจถ้าอัตราส่วนนี้สูงแสดงว่าบริษัทมีการกู้ยืมเงินในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset:ROA) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท เป็นการวัดความสามารถในการนำสินทรัพย์ทั้งหมดของธุรกิจใช่ในการสร้างยอดขายและควบคุมค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมดสุทธิจากภาษีแต่ก่อนต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจากภาษีที่ประหยัดได้) อัตราส่วนที่สูงแสดงว่าบริษัทมีความสามารถสูงในการนำสินทรัพย์ไปสร้างกำไรจากการดำเนินงาน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) แสดงถึง ระดับผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรให้แก่เงินทุนของผู้ถือหุ้น หากค่าที่ได้จากการคำนวณสูงแสดงว่าผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับเงินปันผลและผลตอบแทนที่สูง

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ แหล่งข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก