สำหรับ "การเป็นผู้ค้ำประกัน" นั้นคือ การนำตัวเราเองไปค้ำประกันให้กับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือบุคคลรอบข้างก็ตาม หาก "ผู้กู้" มีการชำระหนี้อย่างต่อเนื่องจนปิดวงเงินกู้หรือหนี้สินได้ "ผู้ค้ำประกัน" ก็ไม่มีเรื่องราวหรือผลกระทบอย่างไรในการดำเนินชีวิต แต่ว่า ความจริงมันช่างโหดร้ายทั้งนิสัยใจคอแบบรู้หน้าไม่รู้ใจ หรือบางครั้งก็ประสบภาวะขาดสภาพคล่องไม่มีเงินที่จะชำระหนี้จริงๆก็เป็นได้ ในฐานะ "ผู้ค้ำประกัน" นั้น "ต้องรับผิดชอบ" ตามสัญญากู้นั้น แล้วจะทำอย่างไรกับภาระหนี้ที่ได้ทำการค้ำประกันไว้ หรือทางออกในการแก้ปัญหานี้พอมีช่องทางอย่างไรบ้าง? เทอร์ร่า บีเคเค ขออธิบายหยิบยกอธิบายความตามข้อกฏหมายได้ดังนี้

การรับผิดตามสัญญากู้ อ้างอิง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หลักกฎหมายในเรื่องกู้ยืมเงิน ป.พ.พ.มาตรา 653 วางหลักไว้ว่า“การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” เมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้กู้ยืม ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ให้กู้ในการที่จะรับชำระหนี้ ผู้ให้กู้มีสิทธิฟ้องคดีเรียกให้ผู้กู้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 213

การรับผิดของผู้กู้ต่อสถาบันการเงิน
  • รับผิดต้นเงินตามสัญญากู้
  • ดอกเบี้ยตามกฎหมายร้อยละ 7.5 แต่ถ้าเป็นสถาบันการเงินดอกเบี้ยตามกฎหมายจะสูงกว่าร้อยละ 7.5
  • ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5
  • ค่าจ้างทำงานและค่าทนายความของโจทก์
การรับผิดของผู้ค้ำประกัน
  • ความรับผิดของผู้ค้ำประกันเกิดเมื่อ ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากเจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วันดังกล่าว
  • ผู้ค้ำประกันรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น เพราะกฎหมายกำหนดให้สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง เช่น ในกรณีที่ธนาคารดำเนินการฟ้องคดีล่าช้า 2-3 ปี ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายคืนธนาคารเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า มากเกินกว่าเงินค้ำประกันที่ได้ทำสัญญาไว้กับธนาคาร
  • ถ้ามีข้อตกลงใดกำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
  • ถ้าเงินค้ำประกันหนี้ที่ต้องชำระตามกำหนดเวลาแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิด ยกเว้นว่าผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น
  • ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาจะมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลาข้อตกลงที่ทำก่อนหน้าการผ่อนเวลานั้นจะไม่สามารถบังคับใช้ได้
กระบวนการฟ้องคดีแพ่ง

อ้างอิงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

  1. ยื่นคำฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี เสียค่าขึ้นศาลอัตราร้อยละ 2.50 บาท
  2. ยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หรือภายใน 30 วันนับแต่วันปิดหมาย
  3. ศาลนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาท
  4. สืบพยานโจทก์/จำเลย
  5. บังคับคดี โดยการยึดหรืออายัดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดต่อไป

สุดท้ายนี้ TerraBKK ขอฝากผู้อ่านไว้ว่า ไม่ควรไปค้ำประกันหนี้กับใคร โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อป้องกันภาระหนักอก และสูญเสียเงินในกระเป๋าจากเหตุการณ์ "เบี้ยวหนี้" หรือดีที่สุดหากมีคนมาขอให้เราค้ำประกัน ขอให้แนะนำว่า "อัตตาหิ อัตโน นาโถ (ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนดีกว่า) นะคะ

ถอนการค้ำประกัน การถอนค้ำประกัน กฏหมายไม่ได้ให้สิทธิ์ให้ผู้ค้ำประกันสามารถถอนการค้ำประกันได้ ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าในกรณีขอถอนชื่อ เปลี่ยนหลักทรัพย์นั้นต้องเจรจากับเจ้าหนี้เอง

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก