โลกธุรกิจอาจจะไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดทั้ง ขาดทุนจริง เสียเงินจริง เจ๊งจริง บางคนอาจจะวาดฝันว่าธุรกิจนี้จะต้องไปได้สวยแน่นอน สร้างรายได้ สร้างกำไรปีนึงหลายแสน หลายล้านบาท แต่เมื่อทำเข้าจริงๆอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด บางธุรกิจเปิดมาแล้วแทบจะไม่มีลูกค้าเลยก็มี หรือบางธุรกิจมีลูกค้าเยอะ เปิดสาขาหลากหลายสาขาสุดท้ายธุรกิจขาดสภาพคล่องจากอ่านตลาดไม่ขาดพอมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา สุดท้ายกำไรลดลงขาดทุนสะสม แล้วล้มละลายไปในที่สุด บทความนี้ TerraBKK จะชี้สาเหตุให้เห็นว่า ธุรกิจที่ล้มละลายลงไปส่วนใหญ่มาจากสาเหตุอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างกรณีศึกษา บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Enron บริษัทพลังงานระดับโลก โดยธุรกิจเดิมตั้งต้น คือ จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า และได้ขยายสายธุรกิจไปยังค้าปลีกพลังงาน ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าดาบอลในประเทศอินเดีย ลงทุนในธุรกิจน้ำ ธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งธุรกิจที่ขยายไปนั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ และได้ก่อหนี้จำนวนมหาศาลถึง 9 พันล้านดอลลาร์ฯ และมีการจ้างงานกว่า 20,000 อัตรา และเคยติดอันดับที่ 7 ของนิตยสาร Fortune400 อีกด้วย สาเหตุของปัญหาการล้มละลายมาจากกรณีการขยายธุรกิจค้าพลังงานที่มีความเสี่ยงสูง โดยทำการซื้อขายแบบไม่มีทรัพย์สินรองรับ (การค้าแบบ asset-light) และจากการลงทุนดังกล่าวขยายธุรกิจของ Enron นำมาซึ่งภาระหนี้สินจำนวนมากเช่นกัน แต่ตัวเลขหนี้สินกลับไม่ได้แสดงในงบของกิจการแต่ ถูกซุกเอาไปใส่ไว้ในบริษัทที่ถูกจัดตั้งขึ้น คือ Shell company โดยมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Enron เป็นประธานบริษัท จึงทำให้รายได้ของบริษัทสูงกว่าความเป็นจริง จนในที่สุดกิจการถูกฟ้องล้มละลาย

กรณีศึกษาบริษัทกล้องถ่ายรูป Fuji Film และ Kodak ระหว่าง 2 บริษัทนี้ แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานของบริษัทได้แตกต่างกัน โดยทั้ง 2 บริษัทมีจุดเริ่มต้นคล้ายคลึงกันแต่มีจุดจบที่แตกต่างกัน ตั้งแต่มีการเข้ามาของยุคอุตสาหกรรมกล้อง Digital และ Smart Phone ได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคต่ออุตสาหกรรมกล้องฟิล์มไปอย่างสินเชิง จนทำให้ Kodak ถึงขั้นล้มละลายไปในที่สุด แต่! ฟูจิยังสามารถอยู่รอดในตลาดได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น นี่เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร Fuji ที่เป็นปัจจัยผลักให้ธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้ถึงแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากมองว่า “ท้ายที่สุดแล้ว ดิจิตอลต้องเข้ามากลืนกินกล้องฟิล์มอย่างแน่นอนและรวดเร็ว” แต่ Kodak มองว่า อุตสาหกรรมกล้องฟิล์มยังสามารถเก็บเกี่ยวรายได้ ได้อีกนานอยู่พอสมควร แต่ท้ายที่สุดโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลาไม่กี่ปี ทำให้อุตสาหกรรมกล้องฟิล์มถูกกลืนกินไปอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยการล้มละลายของ Kodak ในที่สุด ส่วน Fuji ซึ่งได้คาดการณ์และสามารถไหวตัวได้ทัน ด้วยการเก็บเกี่ยวจากธุรกิจฟิล์มให้เร็วที่สุดและปรับเปลี่ยนสายธุรกิจกระจายไปยังอุตสาหกรรมที่ตนเองมีความรู้อยู่เดิม เช่น นำความรู้เกี่ยวกับสารเคมีที่มีอยู่เดิมนำไปปรับใช้กับธุรกิจเครื่องสำอางค์ และยังขยายไปสู่ธุรกิจฟิล์มที่เคลือบหน้าจอแอลซีดีอีกด้วย และปัจจุบันสามารถปรับตัวเข้าธุรกิจกล้องถ่ายรูปดิจิตอลได้สำเร็จ

สิ่งที่ TerraBKK กำลังจะชี้ให้เห็นก็คือ ปัจจัยที่จะส่งผลให้บริษัทขาดทุนหรือล้มละลาย ในกรณีของ Enron เราจะเห็นว่า Enron ดำเนินในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมและมีลักษณะการลงทุนที่คำนึงถึงความเสี่ยงน้อยเกินไปทำให้เมื่อเกิดความผิดพลาดส่งผลต่อการดำเนินงานในที่สุด ส่วนในกรณีของ Fuji กับ Kodak เกิดจากการวางแผนการลงทุนที่ผิดพลาดของ Kodak ที่คาดการณ์ตลาดผิดไป จนส่งต่อการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้ยากจนทำให้ล้มละลายในที่สุด

เราสามารถสำรวจและคอยติดตามเพื่อเฝ้าระวังธุรกิจของเราไม่ให้ขาดทุนหรือล้มละลายได้ ดังนี้

    1. ลงทุนก่อหนี้เกินตัว เป็นต้นเหตุของการล้มละลาย การก่อหนี้มากเกินจำเป็น จากความคิดที่ว่าจะสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเป็นความคิดที่ประมาทจนเกินไป การก่อหนี้ต้องอยู่ภายใต้สมมุติฐานของความเป็นจริงด้วยไม่ใช่เพ้อฝันว่าเราจะสามารถทำกำไรได้เท่านั้นเท่านี้สุดท้ายทำไม่ได้ทั้งจากการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ทำให้รายได้ลดลง ขาดสภาพคล่อง จะส่งผลกระทบต่อการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต และมีการขาดทุนสะสมตามมา จนหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์จนถูกฟ้องล้มละลายในที่สุด พฤติกรรมการลงทุนประเภทนี้มักเกิดจาก การคาดกาณ์ในแง่ดีมากเกินไป, ลงทุนในธุรกิจที่เราไม่ถนัดหรือทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม เป็นต้น
    2. เศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆของธุรกิจเลยก็ว่าได้เพราะสภาวะเศรษฐกิจจะบ่งบอกถึงกำลังซื้อของคนในประเทศ ซึ่งจะสะท้อนไปยังผลประกอบการหน่วยธุรกิจต่างๆ ซึ่งในหัวข้อนี้ก็สามารถช่วยเราวางแผนธุรกิจในการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เหมาะสม และสามารถกำหนดผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น บางกิจการในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำถึงขั้นล้มลายแล้วต้องปิดกิจการไป เช่น ในช่วงปี 40 วิกฤษติต้มยำกุ้ง, ในช่วง Hamburger Crisis แบงค์ยักษ์ใหญ่ เก่าแก่กว่า 100 ปี อย่าง Laman brother ก็ถึงขั้นล้มละลายมาแล้ว
    3. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางด้าน Technology มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว 1-3 ปี ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว ทำให้ธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการใช้ Technology ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านนี้อยู่ตลาดเวลา เห็นได้ชัดจากกรณีตัวอย่างบริษัท Fuji กับ บริษัท Kodak จาก Technology การถ่ายภาพที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้บริษัทที่คิดว่ามั่นคงได้ในระยะยาวต้องล้มละลายลงไปจากการที่บริษัทไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

    1. นโยบายของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญดับต้นๆเช่นกันที่ธุรกิจจะต้องติดตาม นโยบายด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปก็อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น นโยบายรถคันแรก ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรถเต็มๆกำไรในช่วง 255-2556 ในประเทศไทยทำสิถิติสูงที่สุด แต่หลังจากนั้น กำลังซื้อใน ปี 2557-2558 กำลังซื้อชะลอตัวไปมาก ก็ทำให้บางธุรกิจที่ลูกค้าหดหายไป บางรายถึงขั้นขาดทุนไปก็มีเช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ นโยบายการค้าเสรี เป็นอีกนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศเช่นกัน ถ้าเรามีต้นทุนถูกกว่าเราจะอยู่ได้ แต่ถ้าต้นทุนเราสูงกว่าประเทศอื่นก็จะทำให้สินค้าในประเทศแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ กำไรก็ลดลงตามหรือถึงขั้นปิดตัวลงไปในที่สุด
    2. คู่แข่ง ตลาดที่มีกำไรเกินปกติก็จะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดเป็นธรรมดาจนกว่าตลาดจะอิ่มตัว คู่แข่งจะเข้ามาลดทอนกำไรและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากเราไป ธุรกิจที่ไม่ปรับตัว ไม่เฝ้าระวัง คิดว่าทำแบบเดิมๆก็สามารถอยู่รอดได้ ไม่พัฒนากระบวนการทำงาน กระบวนการผลิต ไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสุดท้ายก็จะสู้คู่แข่งไม่ได้จนต้องปิดตัวลงไปเช่นกัน
    3. ค่านิยมหรือความต้องการ โลกยุคปัจจุบันอาจจะไม่เหมือนอย่างในอดีตที่เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ เนื่องจากประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ทั้งผ่านทาง Website, Social Network ทุกวันนี้ค่านิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว TerraBKK จึงขอเสนอว่าก่อนที่ลงทุนอะไรควรศึกษาพฤติกรรมและเฝ้าติดตามกระแสนิยมเพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้อย่างเต็มที่
    4. การตัดสินใจ การตัดสินใจที่จะลงทุนหรือกำหนดแผนงานถ้ากำหนดแผนถูกคาดการณ์แนวโน้มตลาดได้อย่างถูกต้องก็ถือว่าดีไป แต่ถ้าหากกำหนดแผนผิดพลาดผู้นำขาดวิสัยทัศน์ มองไม่คลอบคลุมในทุกๆปัจจัยก็อาจจะทำให้บริษัทเดินไปในเส้นทางที่ผิดพลาดได้เหมือนอย่างเช่น Kodak จากทีมผู้บริหารที่คิดว่าอุตสาหกรรมฟิล์มจะยังคงอยู่ได้อย่างยาวนานจึงนำไปสู่การกำหนดแผนการลงทุนที่ผิดพลาดแล้วไม่สามารถกู้กลับมาได้นั่นเอง

  1. ทำตามกระแส ทำตามกระแส หมายถึง เห็นเค้าเปิดแล้วได้กำไรเราทำด้วย ยกตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟ ร้านขนม ร้านไอศครีม ทำตามกระแสไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มันแต่ดีเพียงช่วงต้น แต่จะลำบากในช่วงปลายๆ เพราะกว่าจะเป็นกระแสทุกคนก็พยายามจะเข้ามาในตลาดหมดแล้วสุดท้ายก็เหลือกำไรในตลาดเพียงนิดเดียว ส่วนแบ่งในตลาดก็มีเพียงนิดเดียว ทำให้ธุรกิจของใครไม่แข็งแกร่งจริงๆ ไม่แน่จริง ก็จะอยู่ไม่ได้ในอนาคตเช่นกัน
  2. เงินจากธุรกิจไม่ใช่เงินของตนเอง หมายความว่า เงินของธุรกิจกับเงินใช้ส่วนตัวควรแยกออกจากกันบางรายธุรกิจกำไรดี แต่เงินที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจไม่มี เพราะเอาเงินก้อนนั้นมาจับจ่ายในเรื่องส่วนตัวซึ่งไม่เกี่ยวกับธุรกิจเลย ตรงนี้เป็นข้อผิดพลาดหนึ่งที่ควรระวัง
  3. ลงทุนในสิ่งที่ไม่จำเป็น การลงทุนควรจะลงทุนเฉพาะของที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรนำไปลงทุนกับสิ่งของที่ไม่จำเป็นบางคนอยากให้ออกมาดูสวยดูเพอร์เฟ็คที่สุด แต่ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องลงทุนขนาดนั้น เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องการสร้างมันออกมาให้ Perfect มันไม่สามารถสร้างรายได้ให้เราในส่วนนั้นได้เลย ถือเป็นการฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น

ดังนั้น TerraBKK ขอให้คำแนะนำว่าการทีจะติดสินใจลงทุน อะไรซักอย่างหนึ่งอย่าก่อหนี้เกินตัว ควรคิดว่างแผนให้รอบครอบทั้ง Worst Case, Base Case และ Best Case เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดต่อธุรกิจและสามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก