“การขอได้มาซึ่งที่ดินของหญิงไทยที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างชาติโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งการได้มาแต่ละประเภทก็จะมีกฎหมายแต่ละฉบับวางหลักเกณฑ์ไว้ อาทิ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497, พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทราบไว้

1. หลักเกณฑ์การขอได้มาซึ่งที่ดินของคนไทยที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างชาติ

คนไทยที่มีคู่สมรสทั้งที่ชอบและมิชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างชาติ มีสิทธิรับโอนที่ดินในฐานะที่เป็น"สินส่วนตัว" (กรณีมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างชาติ) และในฐานะที่เป็น "ทรัพย์ส่วนตัว" (กรณีมี คู่สมรสที่มิชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างชาติ) ได้โดยไม่จำกัดจำนวนเนื้อที่ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1. กรณีรับให้ที่ดิน เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่า เป็นการรับให้ในฐานะที่เป็น สินส่วนตัวของคนไทย (กรณีมี คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างชาติ) หรือเป็นทรัพย์ส่วนตัวของคนไทย (กรณีมีคู่สมรสที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างชาติ) พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้กับผู้ขอต่อไป

2. กรณีซื้อที่ดิน

  • กรณีคู่สมรสต่างชาติอยู่ในประเทศไทย
  • 1) กรณีคนต่างชาติเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คนไทยและคู่สมรสต่างชาติยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกัน ในหนังสือรับรอง (ตามภาพประกอบ หนังสือรับรอง ตัวอย่างที่ 1) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมว่า เงินทั้งหมดที่นำมาซื้อที่ดินเป็นสินส่วนตัวของคนไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรส

    2) กรณีคนต่างชาติเป็นคู่สมรสที่มิชอบด้วยกฎหมายให้คนไทยและคู่สมรสต่างชาติยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกัน ในหนังสือรับรอง (ตามภาพประกอบ หนังสือรับรอง ตัวอย่างที่ 1) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ว่า เงินทั้งหมดที่นำมาซื้อที่ดินเป็นทรัพย์ส่วนตัวของคนไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน

    หนังสือรับรอง ตัวอย่างที่ 1

    • กรณีคู่สมรสต่างชาติอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่สามารถยืนยันในหนังสือรับรองในวันจดทะเบียนสิทธิ์ กรณีนี้ ให้คนไทยและคู่สมรสต่างชาติ ไปยื่นคำขอบันทึกถ้อยคำในหนังสือรับรอง (ตามภาพประกอบ “ตัวอย่าง ท.ด. ๙”) เพื่อยืนยันว่า เงินทั้งหมดที่คนไทยนำมาซื้อที่ดิน เป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของคนไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรสหรือทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน

    ตัวอย่าง ท.ด. ๙

    • กรณีคู่สมรสต่างชาติอยู่ต่างประเทศ กรณีนี้ ให้คนต่างชาติไปติดต่อเพื่อให้สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล หรือโนตารีพับลิค บันทึกถ้อยคำคู่สมรสต่างชาติไว้ในหนังสือรับรอง (ตามภาพประกอบ หนังสือรับรอง ตัวอย่างที่ 2) ว่า เงินทั้งหมดที่คนไทยนำไปซื้อที่ดินนั้น เป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของคนไทยมิใช่สินสมรส หรือ ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แล้ว รับรองว่าบุคคลที่ทำหนังสือนั้นเป็นคู่สมรสหรืออยู่กินฉันสามีภริยากับคนไทยจริง แล้วให้ผู้จะซื้อที่ดินนำ ต้นฉบับหนังสือรับรองมามอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อไป

    หนังสือรับรอง ตัวอย่างที่ 2

    อนึ่ง ในกรณีที่คนไทยที่มีคู่สมรสทั้งชอบและมิชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างชาติ สามารถแสดงหลักฐานได้ว่า เงินทั้งหมดที่นำมาซื้อที่ดินเป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของตน ก็ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับคนไทยต่อไปได้ โดยไม่ต้องบันทึกถ้อยคำคนไทยและ คู่สมรสต่างชาติ

    หากผู้ซื้อที่ดิน มีความประสงค์จะจดทะเบียนจำนอง ก็สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องให้คู่สมรสต่างชาติมาให้ถ้อยคำยืนยันอีก

    ชาวต่างชาติกับมรดกที่ดิน ชาวต่างชาติหลายคนแต่งงานกับคนไทยและมาตั้งรกรากที่นี่ โดยลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยไว้ร่วมกันสำหรับสร้างครอบครัว ภายใต้ชื่อคู่สมรสชาวไทย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ชาวต่างชาติไม่สามารถครอบครองที่ดินบนผืนแผ่นดินไทยได้ หากคู่สมรสที่มีชื่อเป็นเจ้าบ้านเสียชีวิตไป จะเกิดอะไรขึ้นต่อกับบ้านที่สร้างมาร่วมกัน

    ที่มา เอกสารชุด "การได้มาซึ่งที่ดิน และคำแนะนำการใช้หนังสือเดินทาง ๒ เล่ม" โดย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด www.humanrights.ago.go.th บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก