หากพูดถึงเรื่องแฟชั่นและการออกแบบ เมืองที่ขึ้นชื่อด้านนี้ที่สุดเห็นคงจะไม่พ้นมิลาน เจ้าภาพผู้จัดงานออกแบบประจำปีสุดยิ่งใหญ่เบอร์หนึ่งของโลกอย่าง Milan Design Week ที่พร้อมจะมาสะกดทุกสายตาจากทั่วโลก ระดมสมองและอัปเดตเทรนด์ใหม่ ต้อนรับทุกคนด้วยถนนหนทางที่สวยงามและสถาปัตยกรรมที่พิสูจน์ถึงการเป็นเมืองออกแบบได้อย่างสมเกียรติ

สำหรับปีนี้ มีผู้เข้าร่วมงาน Milan Design Week กว่า 400,000 ราย ทำให้เมืองแห่งนี้คึกคักเพิ่มขึ้นมาแบบเท่าตัว ด้วยผู้คนจากทั่วทุกมุมที่มาพบปะพูดคุย สร้างเครือข่าย และชื่นชมชิ้นงานจากแบรนด์ต่าง ๆ ผนวกกับเหล่านักออกแบบและผู้สนใจอีกหลายล้านคนบนช่องทางดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย

Milan Design Week แบ่งออกเป็นสองส่วน หนึ่งคือส่วนของงานจัดแสดงสินค้า หรือ Salone del Mobile สำหรับผู้เข้าร่วมฝั่งธุรกิจโดยเฉพาะ ส่วนที่สองคือ Furiosalone ซึ่งจัดขึ้นรอบเมืองสำหรับผู้เข้าชมทั่วไปเพราะมีทั้งนิทรรศการ งานเสวนา และประสบการณ์ใหม่จากแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี อย่างไรก็ตาม แม้งานทั้งสองจะจัดแยกกัน แต่ก็มีความเชื่อมโยงที่ทำให้ผู้เข้าชมได้เต็มอิ่มอย่างไร้ขอบเขต

Fuorisalone จัดขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1980 และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มลูกค้าองค์กรและแบรนด์ต่าง ๆ ผ่านการเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปาก ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กหรือใหญ่ เพราะงานนี้เปิดให้พวกเขาได้มาร่วมแสดงชิ้นงานสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ชี้ถึงคำมั่นสัญญาของแบรนด์ (Brand Promise) และเส้นทางการออกแบบของตนเอง

เทรนด์การออกแบบ  DESIGN TRENDS

ในปีนี้ งาน Milan Design Week เปิดตัวพร้อมกับธีม Sustainability หรือความยั่งยืนเพื่อสอดรับกับทิศทางของผู้บริโภคที่หันมาเลือกใช้
แบรนด์ที่ถ่ายทอดคอนเซปต์ความยั่งยืนออกมาได้จริง ไม่ใช่เพียงคำโฆษณา

ธีม 'Materia Natura' หรือ 'Matter Nature' ของงานฝั่ง Furiosalone เผยตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจนและลงตัว โดยขีดเส้นใต้ความยั่งยืนเป็นเครื่องชี้นำแนวทางและคุณธรรมพื้นฐานในกระบวนการออกแบบและสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้แบรนด์และองค์กรต่าง ๆ หันมาค้นหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการจัดทำส่วนงานจัดแสดงของตนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ธีมนี้ยังช่วยผลักดันให้เกิดการพูดคุยกันถึงเรื่องการบูรณาการด้านความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีเข้ากับการออกแบบบ้าน สถานที่ทำงาน และการท่องเที่ยว อีกทั้งแบรนด์ต่าง ๆ ยังสามารถทำให้เห็นภาพได้ว่า การออกแบบที่มีความก้าวหน้าเช่นนี้ รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่จะสามารถรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างและยังปล่อยคาร์บอนต่ำได้อย่างไร

นอกจากนี้ยังมีการเนรมิตประสบการณ์แบบพลิกโฉมผ่านการปรับเปลี่ยนให้ตรงใจในแบบของคุณ การใช้วัสดุที่แตกต่าง การกำหนดรูปแบบการใช้งาน สี และพื้นผิวที่ปรับได้ตามใจชอบนั้นช่วยให้ผู้บริโภคสามารถพลิกแพลงผลิตภัณฑ์ได้อย่างไม่จำกัด และสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในร่มหรือกลางแจ้ง

ลิกซิลและโกรเฮ่ สปา (LIXIL AND GROHE SPA)

อันทวน เบแซร์ เดส์ ออรส์ (Antoine Besseyre des Horts) นักออกแบบมือรางวัลและลีดเดอร์ประจำลิกซิล กลอบอล ดีไซน์ ภูมิภาคเอเชีย เล่าให้เราฟังว่า Milan Design Week ถือเป็นเวทีสำคัญระดับโลกที่ยกระดับแบรนด์ด้วยการรวมตัวกันของสถาปนิก นักออกแบบ และกลุ่มคนทั่วไปที่ให้ความสนใจ

งานนี้เรียกได้ว่าเป็นเวทีที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งนำพาผู้คนมาร่วมปฏิสัมพันธ์ผ่านงานออกแบบ ธีม และผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงเป็นสื่อกลาง สำหรับนักออกแบบอย่างอันทวนแล้ว โอกาสที่จะได้มาเล่าถึงที่มาที่ไปของงานออกแบบและแนวคิดเบื้องหลังโกรเฮ่ สปา (GROHE SPA) ซึ่งเป็นแบรนด์ย่อยของโกรเฮ่ (GROHE) และเป็นส่วนหนึ่งของลิกซิล (LIXIL) ไม่ได้มีบ่อยนัก

ทีมงานของ LIXIL ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสวนหน้าบ้านของ Palazzo Reale สมัยก่อน ผนวกกับธีม 'Materia Natura' ของ Fuorisalone จึงเกิดเป็น “Aquatecture” จาก GROHE SPA วิสัยทัศน์ของเราคือยกระดับให้เห็นความโดดเด่นและความสำคัญของน้ำในสถาปัตยกรรม เน้นประโยชน์ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีจากประสบการณ์ของสปา ผลลัพธ์ที่ได้คือชิ้นงานที่พาทุกคนดื่มด่ำและชื่นมื่นไปกับประสบการณ์ที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ในร่มและกลางแจ้งอย่างไร้รอยต่อ นำเสนอความหรูหราที่ผสานด้วยสายน้ำแต่ให้ความเป็นส่วนตัวและความเขียวขจีแบบเปิดโล่ง

อันทวนมองว่าทั้งตัวงานและพื้นที่จัดแสดงในครั้งนี้คือโอกาสที่จะได้ยกระดับหัวข้อการพูดคุยกับสถาปนิก นักออกแบบ และผู้บริโภคที่เห็นความสำคัญของงานออกแบบ เกี่ยวกับไอเดียใหม่และแนวคิดสู่ความหรูหราแบบเฉพาะตัว สำหรับ “Aquatecture” แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วนที่ทำให้ GROHE SPA มีชีวิต โดยรวมตั้งแต่การจัดแสดงฟังก์ชันน้ำตามความต้องการเฉพาะบุคคล (customization) ไปจนถึงการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ 3D printing ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบที่มีความโดดเด่นที่สุด

เขาสังเกตว่า ในเอเชียนั้น น้ำยังมีบทบาทสำคัญในการให้ความสดชื่นและชำระล้างร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ฟังก์ชั่นน้ำที่ปรับเปลี่ยนได้ของคอลเลคชันที่คัดสรรมาอย่างดี นำเสนอการใช้งานเฉพาะบุคคล และหัวฝักบัวหรือหัวฉีดที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับประสบการณ์การอาบน้ำให้ตรงกับความต้องการและความชื่นชอบของแต่ละคน

การได้ร่วมพูดคุยกับนักออกแบบชื่อดังมากมายช่วยตอกย้ำให้เห็นว่า การทำงานร่วมกันและการทดลองสิ่งต่าง ๆ คือหัวใจสำคัญสู่การคิดค้นสถาปัตยกรรมเชิงปฏิรูปฟื้นฟู (Regenerative Architecture) อีกทั้งสิ่งแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นยังสามารถเป็นตัวเร่งให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีได้ ซึ่งความก้าวหน้าในวิทยาการ AI, เครื่องมือต่างๆ ในการออกแบบ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการผลิตวัสดุจะเป็นตัวช่วยให้เกิดวิถีทางใหม่ ๆ ในการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ และส่งมอบสิ่งที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลได้

สุดท้ายนี้ สิ่งที่อันทวนรู้สึกพึงพอใจที่สุดกับงานที่มิลานแห่งนี้ก็คือ การได้เห็นผู้ชมหลายพันคนมีประสบการณ์ร่วมกับผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง พวกเขาสัมผัสสายน้ำและทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งได้ส่งมอบความเพลิดเพลินขณะใช้น้ำ การตอบสนองของผู้ชมตรงนี้นับเป็นแรงบันดาลใจให้กับทั้งตัวเขาเองไปจนถึงทีมงานออกแบบลิกซิลทั่วโลก และยังทำให้เขามั่นใจได้ว่า ผู้ชมเหล่านี้จะกลับมาร่วมงาน Milan Design Week อีกครั้งอย่างแน่นอน