ประเทศไทยมีการผลิตพลาสติกจากวัตถุดิบปิโตรเลียม ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งถ้าเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นเอทานอลที่มาจากพืช เช่น อ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบชีวภาพ (Bio-based) ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เพราะกระบวนการปลูกพืชผลิตเอทานอล มี Carbon Footprint ต่ำ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี

สำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ 5 ล้านตัน จะช่วยหนุนความต้องการเอทานอลมากกว่า 10,000 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องจักร อีกทั้งยังหนุนให้เกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอล พร้อมลงทุนพัฒนาคุณภาพให้มีมาตรฐานระดับสากล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม. ได้มีมติรับทราบแนวทางส่งเสริมเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่ นอกจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG รองรับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจะสนับสนุนให้นำเอทานอลไปผลิตพลาสติกชีวภาพได้  โดยกำหนดให้ผู้ใช้เอทานอลจะต้องใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งแนวทางในการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพหลัก ๆ จะเน้นไปที่ การจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลภายในประเทศ โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอล

ขณะที่กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปริมาณการผลิตเอทานอลในประเทศล่วงหน้าในแต่ละปี รวมถึงกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจะพิจารณาดำเนินการออกมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเอทานอลไปใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ และพร้อมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศให้สามารถจำหน่าย เอทานอลในราคาที่สามารถแข่งขันกับเอทานอลนำเข้าได้

อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงแรกจะมีความต้องการใช้เอทานอลประมาณ 450 ล้านลิตรต่อปี เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในการลงทุน