นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ผลการประชุม กกร. คงคาดการณ์ GDP ปี 2566 โตในกรอบ 3-3.5การส่งออกติดลบ 1-0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.7-3.2%โดยประเมินภาพรวมเศรษฐกิจจีนและสหรัฐช่วงไตรมาส 1/2566 ที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะจากภาคบริการ ซึ่งสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตในตลาดหลัก มีผลต่อภาคการส่งออกไทย ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จึงคาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.มิ.ย. 2566) ก่อน จากนั้นจึงจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสแตะระดับ 30 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิม และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ GDP มีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ดีปัจจัยกดดันจากภาวะต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มอาจปรับตัวลดลงช้ากว่าที่คาดไว้ จากราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด

ขณะที่ประเทศไทยผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้ารอบใหม่อีก 5-10% จากภาระต้นทุนค่าไฟที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน

รวมถึงความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีปริมาณลดลงและทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตร ซึ่งจะทำให้ผลผลิตในปีนี้ลดลงและราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จึงได้เตรียมเสนอประเด็นนี้ต่อนายกรัฐมนตรีฯ ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า ขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว เพื่อเร่งวางมาตรการรับมือภัยแล้ง

นอกจากนี้ยังมีการเสนอ 6 ประเด็นสำคัญในภาคธุรกิจเอกชนต่อพรรคการเมือง ซึ่งจะสะท้อนความต้องการและแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจไทยได้ต่อไปในระยะข้างหน้า โดยเน้นให้ความสำคัญ คือ

1. ด้าน Competitiveness ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการเร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง, ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค อาทิ ด้านการบริหารจัดการน้ำ, ด้านการขนส่งสินค้า บริการ และโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

2. Ease of Doing Business ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ พร้อมสนับสนุนการเจรจากับประเทศคู่ค้าให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินและการค้าระหว่างกันในภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการ National Digital Trade Platform (NDTP)

3. Digital Transformation ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมส่งเสริมการก้าวสู่ Cashless society และ Digital economy ที่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินระบบ PromptPay โดยต่อยอดใช้เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เป็น Common Utilityอย่างมีประสิทธิภาพ

4. Human Development ปรับอัตราตอบแทนค่าจ้างหรือค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย-แรงงานต่างด้าวจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานนำเข้าแรงงานต่างด้าวระยะยาว

5. SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน มาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วปรับโครงสร้างหนี้ ที่สอดคล้องกับทิศทางรายได้ของธุรกิจและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและทำให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ บนพื้นฐานของการส่งเสริมการรักษาวินัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

6. Sustainability ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสังคมรีไซเคิลทั้งระบบตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้รับรีไซเคิล และการจัดการองค์รวม มีการส่งเสริมมาตรฐาน Circular Economy ของไทย และต้องเร่งแก้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตให้สมบูรณ์