โดย ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ นักวิชาการอิสระด้าน Property Technology virulrak@gmail.com
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซ็ท แอคทิเวเตอร์ (Asset Activator)
อุปนายกสมาคม BIM แห่งประเทศไทย
ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Digital Twin Thailand

จากคราวที่แล้วพูดถึงปัญหาที่ทำให้เกิดความ “ล้า” จากการที่ผู้จัดการอาคาร หรือพนักงานที่ขับเคลื่อนโครงการอสังหาเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Real Estate) จะมาบริหารจัดการข้อมูลอาคาร (Asset Information) ในส่วนของ “แบบก่อสร้าง” และ “ข้อมูลประกอบ” (คู่มือ หรือ Spec วัสดุ) ให้มีความถูกต้องตลอดเวลานั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะ
(1) อาคารหรืออสังหานั้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องระหว่างการก่อสร้าง
(2) การสร้างข้อมูล As-Built Document โดยผู้รับเหมาก่อสร้างหรือผู้ควบคุมงานบางรายไม่มีความเป็นมืออาชีพ
(3) ไม่มีคนตรวจรับ
(4) รูปแบบการจัดเก็บแบบอาคารเข้าถึงยาก เข้าใจยาก
(5) แบบมีแต่จะมากองเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ
(6) แบบไม่อยู่ในวิสัยที่จะอัปเดตได้
(7) แบบไม่เชื่อมกับ ERP
จากอุปสรรคทั้งหลาย ทำให้เจ้าของอาคารยอมรับหายนะของการไม่มีแบบอาคารแบบจำยอม

Digital Twin มาตอบโจทย์ Asset Information Management อย่างไร? 
แต่เหตุการณ์ทั้งหมดจะจบไปแบบถาวร ถ้าเลือกใช้ ‘เครื่องมือที่ใช่’ และ ‘เทคโนโลยีที่ใช่’

ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาทั้ง 7 ข้อ ได้แบบสมบูรณ์ แถมอยู่ในราคาที่ไม่สูงอย่างที่คิดและหาซื้อเป็นเจ้าของได้แล้ว

หนึ่งในนั้น คือ Digital Twin เทคโนโลยีสร้างคู่แฝดที่อยู่ในโลกดิจิทัล หรือฐานข้อมูลในโลกดิจิทัลของอาคารหลังหนึ่ง ที่จะสะท้อนถูกต้องตรงกันเหมือนกับอาคารในโลกที่สร้างจริง ผลสะท้อนของ Digital Twin ในเชิงการบริหารจัดการอาคาร (Property Asset Management) สามารถอธิบายให้เห็นภาพแบบง่ายๆ โดยลองดูภาพนี้

นี่คือการ “มอง” ของคนสองกลุ่มที่ทำงานแตกต่างกันมาก

ทางซ้าย คือ ผู้บริหาร คนที่ดูภาพรวมและทิศทางธุรกิจ สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการเห็น คือ โอกาสในการสร้างรายได้และโอกาสในการลดต้นทุน ขณะที่ ทางขวา คือ ช่างอาคาร ต้องการดูข้อมูลเชิงเทคนิค ข้อมูลแบบก่อสร้าง 2D ที่เขามีความคุ้นเคย สิ่งที่ต้องการเห็น คือ แนวทางในการแก้ปัญหาของอาคารในเชิงวิศวกรรม

คนสองกลุ่มมีความต้องการในการเสพข้อมูลที่แตกต่างกัน ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน จึงต้องการจอแสดงผล “คนละจอ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาดูข้อมูลฐานเดียวกันอยู่ เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ชิ้นเดียวกัน เพียงแต่นำเสนอกันคนละลักษณะเท่านั้น

ในการทำงานจริงจะไม่ได้มีเพียงแค่คนสองกลุ่มนี้เท่านั้น ที่ส่องความเคลื่อนไหวของอาคารด้วย “จอ” ของตน ยังมีแผนกอีกทั้ง ฝ่ายขาย ฝ่ายบัญชี ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ฝ่ายความสะอาด ต่างๆ เป็นต้น

สิ่งที่แตกต่างระหว่างโลกยุคเดิมกับโลกยุคใหม่ คือ ไม่เคยมี Digital Twin ตรงกลางมาก่อน

ถ้าหากเอา Digital Twin ตรงกลางออกไป สิ่งที่เห็นคือ จอสองจอที่แยกกัน โดยไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ทำให้ทุกคนใช้ข้อมูลที่มีอยู่แบบต่างคนต่างมี ต่างคนต่างใช้ ต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างอัปเดตกันไปคนละทาง แน่นอนคือข้อมูลจะไม่ตรงกัน ซึ่งจะนำกลับไปสู่ปัญหาเดิม

แต่วันนี้การส่งงานเป็น Digital Twin เกิดขึ้นแล้ว และกำลังเกิดขึ้นเป็นปกติของงานออกแบบและก่อสร้าง
การทำงานแบบ Model (ที่อยู่ตรงกลางภาพ) ทุกคนสามารถร่วมกันทำงานเดียวกัน (Collaboration) เป็นหนึ่งเดียว โดยการเชื่อมโยง 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน ได้แก่ (1) Document (2) Cloud
ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ Microsoft มี Cloud Document ให้เราเข้าไปใช้ หลายๆ คนสามารถเปิดไฟล์เอกสารเดียวกัน และทำงานร่วมกันไปพร้อมกัน หากข้อขัดแย้งกันก็จะสามารถเห็นทันทีแบบ Real Time

แนวคิดของ Digital Twin ก็คือการเปลี่ยนจาก Document มาเป็น Digital Property Model เท่านั้นเอง
แล้วการมี Digital Model มาเป็น “ข้อมูลกลาง” จะช่วยให้ทุกคนเข้ามาเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ขออธิบายแยกประเด็นตามปัญหาทั้ง 7 ประการ ดังนี้

(1) ประเด็นการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องระหว่างการก่อสร้าง : Digital Twin Model เป็นเทคโนโลยีก้าวกระโดดของวงการก่อสร้างที่ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจจะต้องฝึกฝน แต่ปัจจุบันบริษัทก่อสร้างชั้นนำ โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นิยมใช้กันอยู่แล้ว เพื่อช่วยให้การแก้ไขแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำได้รวดเร็วมาก และเป็นแนวทางการลดค่าก่อสร้างได้มหาศาล ดังนั้นหลายๆ บริษัทก่อสร้าง จึงเริ่มมีการทรานส์ฟอร์มมาใช้ Digital Twin Model แล้ว เพราะการมี Digital Twin Model จะทำให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องเป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น ลดเวลาทำงานได้กว่า 40-60% จากการทำงานด้วย AutoCAD แบบเดิม

(2) ประเด็นการสร้างข้อมูล As-Built Document โดยผู้รับเหมาก่อสร้างหรือผู้ควบคุมงานบางรายที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ : เช่นเดียวกับข้อ (1) เมื่อลดภาระการใช้เวลา จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการลดต้นทุน ทำให้หลายบริษัทพร้อมที่จะดำเนินการ เพื่อมาอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการอาคาร และเป็นประโยชน์ในการบริหารต้นทุนก่อสร้างด้วย

(3) ประเด็นไม่มีคนตรวจรับ Digital Twin Model : ปัจจุบันเจ้าของโครงการหัวก้าวหน้าหลายองค์กร ได้เริ่มวางข้อกำหนดในโครงการให้มีการส่งมอบ Digital Twin Model (หรือ As-Built Model โดยใช้ BIM Technology) มาให้กับเจ้าของอาคารด้วย พร้อมกับการส่งมอบอาคารและการตรวจรับเริ่มมีการพัฒนาเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ข้อกำหนดการวาง Digital Twin Model บน Cloud ให้กับองค์กรของเจ้าของ, ข้อกำหนดเรื่องรูปแบบลักษณะของ Database ที่เกี่ยวข้องกับ Model, ข้อกำหนดเรื่องการเชื่อมโยงกับ Enterprise Resource Planning (ERP) ขององค์กร ดังนั้นการเชื่อมต่อกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานปกติไปหลังจากนี้

(4) ประเด็นการจัดเก็บแบบอาคารที่เข้าถึงยาก เข้าใจยาก : ปัจจุบันมีเอาท์ซอร์สที่มีความพร้อมทั้งคนและซอฟต์แวร์ เตรียมซับพอร์ตการดำเนินการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์หรืออาคาร (Asset Information Management) ผ่านทาง Digital Twin โดยที่เจ้าของไม่ต้องฝึกบุคลากร หรือลงทุนใดๆ เป็นลักษณะของ As-a-Serevice

(5) ประเด็นแบบมากองมากขึ้นไปเรื่อยๆ : ถ้าเป็น Digital File แล้ว ทุกอย่างคืออยู่ในคอมพิวเตอร์ หรือ ดีไปกว่านั้นคืออยู่บน Cloud บางคนอาจจะคิดว่า ทุกวันนี้ CAD หรือ PDF ก็อยู่บนคอมพิวเตอร์ แต่ CAD หรือ PDF โดยแท้จริงแล้วมันเป็นเพียงกระดาษที่อยู่บนคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่ใช่ Digital Information ที่นำไปเชื่อมโยงหรือวิเคราะห์ต่อยอดได้เลย แต่ Digital Twin คือ Model เพียงหนึ่งเดียว ที่จะมีการบันทึกการเปลี่ยนแปลง หรือ “log” ไว้ ในทุกขั้นตอน ย้อนไปดูอาคารเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หรือ 3 เดือนที่แล้วได้ว่ามันเคยเป็นอย่างไรมาก่อน

(6) ประเด็นแบบไม่อยู่ในวิสัยที่จะอัปเดตได้ : Digital File เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีความยืดหยุ่น และพร้อมที่จะถูกอัปเดตได้ตามที่ได้กล่าวในข้อ 5 เนื่องจากมีการเก็บ Log และตัว Model เป็นไปในลักษณะของ Editable File ไม่ใช่ Printed File หรือ Exported Format

(7) ประเด็นแบบไม่เชื่อมกับ ERP : Digital Model เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับ ERP โดยสภาพ เพราะมันคือ Database เช่นกัน

นี่คือโลกยุคใหม่ ที่มาถึงแล้ว…ในส่วนของการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร 
นั่นหมายความว่า สำหรับผู้บริหารหรือเจ้าของอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ ถึงเดินทางไปสู่โลกแห่ง Digital Twin ได้แล้ว ณ วันนี้