สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ 32.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นจากแรงซื้อตามปัจจัยทางเทคนิค และการปรับโพสิชันของตลาดในระหว่างที่รอสุนทรพจน์ของประธานเฟดจากที่ประชุมเฟดประจำปีที่แจ๊กสัน โฮล เพื่อประเมินสัญญาณเกี่ยวกับการชะลอมาตรการ QE นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับอานิสงส์บางส่วนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าที่สะท้อนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ท่ามกลางการคาดหวังว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดอาจมีแนวโน้มคลี่คลายลงบ้างเมื่อเทียบกับจุดที่น่ากังวลในช่วงก่อนหน้านี้
  • ในวันศุกร์ (27 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ส.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 ส.ค.-3 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดในประเทศ และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค.ของธปท. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน และยูโรโซน รวมถึงท่าทีของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่อเหตุการณ์ในอัฟกานิสถาน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,600 จุดอีกครั้ง โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,611.20 จุด เพิ่มขึ้น 3.74% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,981.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.40% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.61% มาปิดที่ 521.63 จุด
  • หุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ตามแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ ขานรับความหวังเกี่ยวกับการคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศมีแนวโน้มทรงตัว ทั้งนี้ หุ้นไทยเพิ่มช่วงบวกอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ หลังศบค.ชุดใหญ่มีมติผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน อนึ่ง หุ้นกลุ่มธนาคารและนอนแบงก์ปรับตัวขึ้นมากสุดในสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่ธปท. ขยายมาตรการเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 ส.ค. – 3 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,595 และ 1,585 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,615 และ 1,635 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ การคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงประเด็นการเมืองภายในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนส.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น) และดัชนีราคาผลิตเดือนก.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ของญี่ปุ่น


 

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)