KR Household Economic Condition Index (KR-ECI) : ดัชนี KR-ECI เดือนก.ค.ปรับลดลงต่ำกว่าช่วงล็อกดาวน์ปีก่อน (เม.ย.63) ครัวเรือนจำนวนมากกว่าครึ่งได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์โดยมีรายได้จากการจ้างงานลดลง

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเม.ย.จนต่ำกว่าปีก่อนในช่วงเดือนเม.ย. 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ
นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลดลงมาต่อเนื่องจนในเดือนก.ค. 64 อยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าในเดือนเม.ย. 63 (มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ) ที่อยู่ที่ 35.1 ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 36.6 ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่ 38.9 บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของภาวะการจ้างงานและรายได้
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบจากการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยพบว่าครัวเรือนจำนวนมากกว่าครึ่งได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ โดยมีรายได้จากการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ (โครงการคนละครึ่งและโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้) ยังมีครัวเรือนบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ และบางโครงการยังไม่ตอบโจทย์ ปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน (ผลสำรวจจัดทำในช่วงปลายเดือนก.ค.)
• ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง โดยในช่วงเดือนส.ค. มาตรการควบคุมการระบาดเริ่มมีความเข้มงวดและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ดังนั้นมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจที่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบและเข้าถึงได้ง่ายจึงยังมีความจำเป็นต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีมาตรการเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพในพื้นที่ 13 จังหวัดเพิ่มเติมซึ่งน่าจะสามารถช่วยประคับประคองการดำรงชีพได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม การเร่งจัดการสถานการณ์เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลง ทั้งการตรวจเชิงรุก การแจกจ่ายและการจัดหาวัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย


ที่มา: ผลสำรวจภาวะการครองชีพ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

ในเดือนก.ค. 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเผชิญความน่ากังวล โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูงและยังคงทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ล่าสุดการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีการแพร่ระบาดได้ง่ายได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศ ส่งผลให้ความรุนแรงของการระบาดเพิ่มมากขึ้นทำให้เริ่มมีการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ค. 2564โดยเริ่มจากการปิดแคมป์คนงาน การล็อกดาวน์ (ปิดธุรกิจเสี่ยง จำกัดการเดินทางใน 10 จังหวัด เป็นระยะเวลา 14 วัน) จนในช่วงสิ้นเดือน ก.ค.64 ได้มีการขยายมาตรการออกไปครอบคลุมถึง 13 จังหวัด ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลงต่อเนื่องจนอยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าช่วงเดือนเม.ย. 63 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศที่ 35.1 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือน

ข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ 36.6 จาก 38.9 ในเดือนมิ.ย. สะท้อนว่าครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพต่อเนื่อง โดยเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีพบว่าครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับระดับราคาสินค้า โดยในเดือนก.ค.ดัชนีปรับลดลงอยู่ที่ 31.5 จาก 37.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับระดับอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 0.45% ซึ่งหากไม่รวมผลจากมาตรการภาครัฐในเรื่องของการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำค่าไฟระดับอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.8% โดยปัจจัยหนุนเงินเฟ้อนอกจากราคาน้ำมันแล้วส่วนหนึ่งมาจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ขณะที่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังคงถูกกดดันจากความเปราะบางของฐานะการเงินที่สะสมมาจากการแพร่ระบาดในปีก่อนและปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นตัวได้สะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่ 90.5% ของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2564 นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้และจ้างงานเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงพบว่า 64.2 % ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ (64.2%) มีรายได้จากการจ้างงานลดลง ขณะที่บางส่วน (14.3%) ธุรกิจปิดกิจการและถูกเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมตลาดแรงงานที่มีภาวะเปราะบาง ล่าสุดในไตรมาส 2/2564 จำนวนผู้ว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.3 แสน

คน โดยทิศทางการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังมีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคท่องเที่ยวที่แม้ในเดือนก.ค.64จะมีการนำร่องเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ได้ต้องกักตัวตามเงื่อนไข แต่สถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ในเดือน ก.ค.64 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาภูเก็ต 14,055 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันอยู่ที่ 5,400 บาท (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน) ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวยังมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ภาครัฐเคยประเมินไว้ (ไตรมาส 3 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 แสนคน) ซึ่งขณะนี้ในภูเก็ตได้มีมาตรการคุมเข้มการระบาดเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมรวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ไม่สามารถเปิดได้เต็มที่

ท่านได้รับผลกระทบจากการยกระดับคุมเข้มการระบาดของโควิดหรือไม่ และด้านใดบ้าง

ที่มา: ผลสำรวจภาวะการครองชีพ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)


ท่านได้เข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐช่วงครึ่งปีหลังในโครงการใด (สำหรับผู้ไม่มีบัตรสวัสดิการฯ)

ที่มา: ผลสำรวจภาวะการครองชีพ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

 

มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยประคับประคองการดำรงชีพของครัวเรือน ซึ่งช่วงที่สำรวจภาครัฐได้มี 2 โครงการคือ โครงการคนละครึ่งระยะที่สาม และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าร่วมมาตรการพบว่ามีครัวเรือนถึง 30.6% ที่ไม่ได้เข้าร่วมทั้งสองโครงการ เนื่องจากมองว่าขั้นตอนการสมัครมีความยุ่งยาก อีกทั้งโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีเงินออมมีผู้เข้าร่วมเพียง 2.9% ทั้งนี้ โครงการทั้งสองโครงการได้ออกมาในช่วงก่อนที่สถานการณ์การระบาดจะเผชิญความรุนแรงและมีมาตรการคุมเข้มการระบาดอย่างในปัจจุบัน ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดไม่ได้รุนแรงมากอาจทำให้โครงการต่าง ๆ จูงใจประชาชนให้เข้าร่วมได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพใน 13 พื้นที่เสี่ยงที่ถูกล็อกดาวน์ ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บางส่วน

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดแรงงานต่อเนื่องไปจนถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ดังนั้นภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการจัดหา จัดสรร และแจกจ่ายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งควบคุมสถานการณ์ เช่น การตรวจเชิงรุกเพราะทุกเวลาที่ผ่านไปคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ภาคประชาชนและประเทศ

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ก.ค. 64) และ 3 เดือนข้างหน้ายังบ่งชี้ถึงความกังวลของครัวเรือนต่อรายได้และการจ้างงาน ขณะที่ในเดือนส.ค.มีมาตรการล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยิ่งเพิ่มขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายพร้อมกับเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์รวมถึงในเรื่องของวัคซีนเพื่อให้สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลกสิกรไทย -  K Research