แนวโน้มการส่งออกที่เติบโตดีขึ้น และมาตรการภาครัฐที่อาจมีเพิ่มเติม จะเป็นแรงหนุนพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยคาดว่าส่งออก จะขยายตัว 9 % แต่ตองจับตาการระบาดระลอก3 ของ โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน และอาจยืดเยื้อรุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ 

 

วิจัยกรุงศรี คาดแนวโน้มการส่งออกที่เติบโตดีและมาตรการภาครัฐที่อาจมีเพิ่มเติม จะเป็นแรงหนุนพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยมูลค่าส่งออก เดือนเมษายน อยู่ที่ 21.43 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 ที่ 13.1% YoY จากเดือนก่อน 8.5% และเมื่อหักทองคำออก มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ +28.9%  เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี  คาดเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มเติบโต 9%

โดยสินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อาทิ

ผลิตภัณฑ์เคมี (+65.7%)

ผลิตภัณฑ์ยาง (+55.5%)

ยานพาหนะและอุปกรณ์ (+52.6%)

เครื่องใช้ไฟฟ้า (+45.2%)

ผลิตภัณฑ์พลาสติก (+33.3%)

หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+21.7%)

แต่การส่งออกสินค้าบางประเภทยังคงหดตัวจากปัจจัยเฉพาะด้าน เช่น ข้าว จากการแข่งขันสูง และน้ำตาลทรายที่เป็นผลมาจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง ด้านตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และ CLMV เติบโตดีขึ้น ส่วนตลาดญี่ปุ่นและจีนขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่อาเซียน-5 ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของตลาดสิงคโปร์และอินโดนีเซีย

 

ทั้งนี้การส่งออกของไทยยังคงมีแรงส่งการเติบโต แม้จะมีช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ โดยวิจัยกรุงศรี คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 2/64 ยังคงเห็นการส่งออกเติบโตเป็นเลขสองหลัก ซึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน กอปรกับได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก

สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 64 คาดว่า หลังจากผลของฐานต่ำหมดลง การส่งออกของไทยจะกลับมาเติบโตในเลขหลักเดียว แต่ยังคงได้แรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตามการเปิดประเทศ และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนซึ่งจะช่วยเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ล่าสุด UNCTAD คาดการค้าโลกในปีนี้จะเติบโตถึง 19% จากปัจจัยบวกดังกล่าว ขณะที่ วิจัยกรุงศรี คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 64 จะขยายตัว 9 % เพิ่มจากเดิมในเดือนเมษายน คาดไว้ที่ 6 % นับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้

 

 

            แม้จะมีปัจจัยเชิงบวกจากมาตรการภาครัฐที่จะมีเพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงการคลังระบุว่าอาจจะกู้เงินจากพ.ร.ก.ฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท ในปีนี้ก่อนประมาณ 1 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับมาตรการเยียวยาที่ภาครัฐจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป วงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ผ่านโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง จึงคาดว่าจะมีเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาทช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังท่ามกลางความเป็นไปได้ของการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกสามของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนและอาจยืดเยื้อรุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้  วิจัยกรุงศรีจึงยังคงประมาณการ GDP ปีนี้ไว้ที่ 2.0% และยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป