อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยถึงความคืบหน้าวัคซีนทั้งไทยและต่างประเทศที่มีความตื่นตัวมากขึ้น มีการฉีดพิ่มขึ้น หรือผลข้างเคียงหลังรับฉีด โดยทางภาครัฐของไทย มีนโยบายหลัก ที่สำคัญ คือ ต้องคำนึงถึงการหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพ และจัดระบบการจัดหาวัคซีนให้ดี 

      นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ล่าสุด มี 1 บริษัท คือ ซิโนแวค ที่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เบื้องต้นอาจได้รับอนุญาตการให้ใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน ภายในสัปดาห์นี้  หากขึ้นทะเบียนสำเร็จ ไทยจะได้รับวัคซีนมาใช้ในประเทศ

และมีอีก 1 บริษัท  คือ บริษัท แอสตร้าเซเนก้า ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา ข้อมูลเอกสาร คุณภาพ ความปลอดภัยต่าง ๆ

      สำหรับประสิทธิภาพวัคซีน  นพ.โอภาส อธิบายว่า  พอเราฉีดวัคซีนเยอะ ก็จะมีระบบติดตามวัคซีน ติดตามอาการของผู้ที่ได้รับวัคซีน 4 สัปดาห์ ซึ่งถ้ามีรายงาน ผู้ป่วย เจ็บป่วย หลังรับวัคซีน หรือ เสียชีวิต จะมีคณะกรรมชุดหนึ่งที่ตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้ป่วย มีการสอบสวนให้ละเอียด  ส่วนบางรายที่เสียชีวิต จะต้องมีการพิสูจน์ - ชันสูตร  ว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่  หรือเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนหรือไม่  แต่ หากไม่เกี่ยวกับวัคซีน ก็จะอาจอนุญาตให้ฉีดวัคซีนต่อไปได้  หรือหากสงสัยไม่แน่ใจ  อาจจะสั่งให้หยุดวัคซีนไปก่อน

ทั้งนี้วัคซีนป้องกันโควิด-19  เป็นวัคซีนใหม่ ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ และจะมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มงวด

โดยวัคซีน ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ไม่ใช่เครื่องมือเดียว ซึ่งเครื่องมือที่ดีที่สุด คือ การ ป้องกันตัวเองตามาตรการสาธารณสุข