เมื่อตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสะดุดเพราะพิษวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้อีกหนึ่งธุรกิจในซัพพลายเชนอย่างบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มด้านการเดินทางและท่องเที่ยว หรือ Online Travel Agents (OTAs)

ผู้เข้ามาดิสรัปอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกในฐานะ “ตัวกลาง” เชื่อมระหว่างนักท่องเที่ยวและเจ้าของสินค้าท่องเที่ยวและบริการพลอยได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ ถูกโควิดดิสรัปไม่ต่างกัน!

จอห์น บราวน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อโกด้า (Agoda) แพลตฟอร์มด้านการเดินทางท่องเที่ยวระดับโลก ให้บริการที่พักกว่า 2.4 ล้านแห่ง ในกว่า 200 ประเทศ กล่าวว่า เมื่อโควิดเข้ามา “เปลี่ยน” แลนด์สเคปท่องเที่ยวโลก ส่งผลให้อโกด้าได้รับบทเรียนครั้งใหญ่ ต้องมุ่ง “ปรับตัว” อย่างรวดเร็วให้เท่าทันทุกสถานการณ์ เพราะบางเหตุการณ์ไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้!

ด้านการบริหารธุรกิจของอโกด้าในช่วงที่โควิดยังคงแพร่ระบาดทั่วโลก แม้สถานการณ์ขณะนี้จะผ่านจุดต่ำสุดเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว แต่อโกด้าจำเป็นต้องปรับแผนเพื่อบริหารกระแสเงินสด (Cashflow) ด้วยการลดต้นทุน อาทิ ลดงบฯการทำตลาด ลดเงินเดือน และลดจำนวนพนักงานไปบางส่วนซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุด ทั้งนี้กระแสเงินสดของอโกด้ายังสามารถอยู่ได้ถึงปีหน้า แม้ว่าการผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 จะยังไม่สำเร็จ

ในเชิงกลยุทธ์การทำตลาด อโกด้าได้ปรับโฟกัสเจาะ “ตลาดในประเทศ” ในระยะสั้นที่ภาคท่องเที่ยวยังต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด ขณะเดียวกันต้องอ่านเกมเตรียมแผนระยะยาวเมื่อวัคซีนโควิด-19 ถูกผลิตและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมั่นใจว่าทันทีที่มีวัคซีน ภาคท่องเที่ยวโลกจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติเหมือนปี 2562

ทั้งนี้ยังมองเห็น “ความแตกต่าง” ของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เทียบระหว่างก่อนและหลังเจอโควิด หลักๆ มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ นักท่องเที่ยวต้องการโรงแรมที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยสูง เสริมความมั่นใจในการเข้าพัก, นักท่องเที่ยวต้องการความยืดหยุ่นสูง สามารถยกเลิกการจองห้องพักได้ เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสถานการณ์โควิดจะเป็นอย่างไรในอนาคต และนักท่องเที่ยวต้องการราคาดี คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปมากยิ่งขึ้น

“อันที่จริงผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องราคาสินค้าและบริการท่องเที่ยวนานแล้ว แต่เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ โควิด-19 กระทบต่อกำลังซื้อ ผู้บริโภคจึงให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากขึ้น ต้องการจ่ายในราคาที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น”

อโกด้าจึงปรับแนวทางให้บริการ ด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่น สามารถเลื่อนวันหรือยกเลิกการจองโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น พร้อมหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยด้านท่องเที่ยว นำเสนอสัญลักษณ์สำหรับโรงแรมที่ได้มาตรฐาน และยังเสนอแพ็คเกจลดราคาสูงสุด 25% เพิ่มเติมจากแพ็คเกจการท่องเที่ยวของรัฐบาล เพื่อให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจซื้อและออกเดินทางได้ง่ายยิ่งขึ้น

จอห์น เล่าเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวไทยส่วนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยที่นิยมเที่ยวต่างประเทศ แต่ยังติดข้อจำกัดด้านการเดินทาง ได้ปรับแผนมาเที่ยวไทยโดยเลือกจ่ายค่าที่พักในราคาสูงขึ้น นอกจากนี้เมืองรอง อาทิ นครศรีธรรมราช นครนายก ขอนแก่น อุดรธานี และจันทบุรี ได้รับความนิยมสูงขึ้น ขณะที่เมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นพัทยา หัวหิน ตามด้วยเขาใหญ่ กาญจนบุรี และระยอง

“ต้องยอมรับว่าแม้ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวดีที่สุด เช่นเดียวกับจีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ นำหน้าหลายๆ ประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์หรืออินเดีย ทำให้ไทยสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไปได้ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี เมื่อเทียบกับรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกซึ่งคิดเป็น 10% ของจีดีพีโลก แม้ไทยจะฟื้นตัวเร็ว แต่ยังต้องใช้ระยะเวลามากกว่าประเทศอื่น กว่าจะกลับมาเป็นปกติ”

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลมีแนวคิดจะขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 ในฐานะที่อโกด้าเป็นหนึ่งในพันธมิตรร่วมขายห้องพักของโครงการฯ มองว่าควรขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์ออกไปมากกว่าสิ้นปีนี้หรือถึงปี 2564 เพื่อกระตุ้นตลาดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ด้าน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ ททท.จะเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563

รวมถึงเสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการใช้สิทธิ์โครงการฯเพิ่มเติม หลังได้หารือกับทาง สศช.และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เพื่อ “ยกเครื่อง” โครงการเราเที่ยวด้วยกัน หนุนเพิ่มการใช้สิทธิ์จองห้องพักผ่านโครงการฯจากเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นสิทธิ์ โดยข้อมูล ณ วานนี้ (5 ต.ค.) มีจำนวนสิทธิ์ห้องพักที่ถูกใช้แล้ว 1.44 ล้านคืน เหลือ 3.56 ล้านคืน จากโควตาทั้งหมด 5 ล้านคืน

“เนื่องจากยังเหลือสิทธิ์จำนวนมาก ส่งผลให้ ททท.ต้องประเมินกำลังซื้อด้านท่องเที่ยวของคนไทย และเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการใช้งาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวคนไทยบางกลุ่มเข้าถึงการใช้สิทธิ์โครงการฯง่ายขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงวัย รวมถึงการปลดล็อกเรื่องภูมิลำเนา ให้คนที่พำนักในภูมิลำเนานั้นๆ สามารถใช้สิทธิ์จองห้องพักในภูมิลำเนาได้ พร้อมปลดล็อกระยะเวลาการจองห้องพักล่วงหน้า จากเดิมต้องจอง 3 วันล่วงหน้า เหลือเป็น 1 วันล่วงหน้า นอกจากนี้จะขอให้พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการใช้สิทธิ์ด้วยอี-วอยเชอร์ (E-voucher) เพื่อเพิ่มความสะดวกด้านการใช้งานมากขึ้นด้วย” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทีเอชเอได้เสนอต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เพิ่มช่องทางการเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันแบบออฟไลน์ (Offline) เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่ชำนาญในการใช้เทคโนโลยี เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ จึงขอนำเสนอแนวทางการเข้าร่วมโครงการแบบออฟไลน์ ให้ธนาคารกรุงไทยออก “บัตรเดบิตเราเที่ยวด้วยกัน” แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถนำเงินสดมาเติมเงินลงในบัตรเดบิตเราเที่ยวด้วยกันได้ผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ แทนการเติมเงินเข้า G-Wallet ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถใช้แทนเงินสดกับโรงแรมและร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการฯ

สำหรับขั้นตอนการสำรองห้องพัก สามารถสำรองกับโรงแรมโดยตรงโดยการแจ้งหมายเลขบัตรเดบิตเราเที่ยวด้วยกันกับทางโรงแรมหรือแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ (OTAs) เพื่อหักเงินออกจากบัตรเดบิตฯ จากนั้นจะได้รับคูปอง (Voucher) ยืนยันผ่านทางแอปพลิเคชันเป๋าตัง และผู้เข้าร่วมโครงการต้องแสดงคิวอาร์โค้ดให้กับโรงแรมในวันเข้าพัก

ส่วนการใช้คูปองอาหารหรือท่องเที่ยว ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถชำระค่าส่วนต่างที่เกินมาผ่านบัตรเดบิตฯ โดยชำระผ่านบัตรโดยตรงหรือบันทึกข้อมูลบัตรลงในแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังก็ได้ ขณะที่การขอรับเงินคืนค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถขอรับเงินค่าบัตรคืนตามขั้นตอนปกติ โดยเงินจะคืนเข้าบัตรเดบิตเราเที่ยวด้วยกัน

SOURCE : www.bangkokbiznews.com