กว่าปลงใจเลือกจุดหมายกิน ช้อป เที่ยว ได้สักแห่ง หลายคนต้องแอบส่องอินเทอร์เน็ตก่อนว่า บุคคลที่มีอิทธิพลเรื่องเทรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเซเล็บ หรือ Influencer เขาชี้เป้าไปที่ไหนกันบ้าง แถมเจ้าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ก็ช่างคัดสรรเนื้อหามาเสิร์ฟแม่นกว่าหมอดู และรู้ดีเกินตัวเราไปอีก แต่เพื่อไม่ให้ช้ำใจภายหลัง ลองมาเช็กตัวเองก่อนดีไหม ก่อนเทใจเชื่อรีวิวแบบหมดหน้าตัก

1) “มองให้หลาก เลือกให้มาก" แม้ว่าโลกออนไลน์จะสำคัญในฐานะแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่สะดวกต่อการค้นหา เพราะช่วยอัพเดทความเคลื่อนไหวทุกมุมโลกจนไม่รู้สึกถึงความห่างเหินของเวลา แต่เพื่อประโยชน์สูงสุด ควรฟัง อ่าน และคิดตาม จากข้อมูลหลายแห่งประกอบกัน เพื่อมาประมวลผลอีกครั้ง เรียกว่าชั่งน้ำหนักจากผู้นำทางความคิดหลายๆ คน รวมถึงแหล่งข้อมูลอื่นๆ นอกจากคนดังเหล่านั้น ย่อมดีกว่าเชื่อจากแหล่งเดียว

2. “กลั่นกรองข้อเท็จจริง" ความจริงที่ซ่อนอยู่ของผู้มีอิทธิพลทางโลกออนไลน์ คือเป็นช่องทางการตลาดที่เจ้าของสินค้าไปต่างใฝ่หาเพื่อกระตุ้นยอดขายให้สูงปรี๊ด ผู้บริโภคจึงต้องท่องไว้ด้วยว่า เรื่องราวที่ Influencer หรือ Youtuber ย่อมไม่ใช่ข่าวที่ต้องยึดโยงกับข้อเท็จจริงเสมอไป เนื้อหาที่ถ่ายทอดผ่านผู้นำเทรนด์เหล่านั้น โดยมากจึงเป็นเชิงบวกต่อสินค้าสถานที่ หรือสิ่งต่างๆ ที่อยากแนะนำ และเลี่ยงการพูดถึงแง่ลบอื่นๆ ไว้หมด


3. “สงสัยไว้ก่อน เขาใช้จริงหรือเปล่า?” ยิ่งหมวดเครื่องสำอางยิ่งต้องชั่งน้ำหนักดูว่า Influencer หรือ Youtuber เขาใช้ของสิ่งนั้นจริงหรือไม่ เพราะการทำตลาดสมัยนี้มักทุ่มว่าจ้างให้ผู้ที่มียอดติดตามสูงช่วยแชร์ รีวิว หรือไลฟ์สด ในอัตราที่แตกต่างกัน จากหลักหมื่นไปถึงหลักแสน ฉะนั้นก่อนจะคิดเชื่อเขาอย่างหมดใจ ลองเปรียบเทียบบริบทชีวิตจริงของผู้รีวิวก่อนว่า เขาใช้จริงหรือไม่ หรือแค่ช่วยโปรโมทเท่านั้น

4. “เขาก็คนธรรมดาอย่างเรา” Influencer ที่แนะนำมุมมองการใช้ชีวิต หรือที่เรียกว่าไลฟ์โค้ช สมัยนี้ผุดขึ้นเต็มยุทธจักรออนไลน์ หากฟังหรืออ่านในยามที่ต้องการกำลังใจก็พอได้ แต่หากต้องลงลึกเพื่อใช้ตัดสินใจเรื่องสำคัญของชีวิต ขอให้คิดสักนิดก่อนเทใจให้ เพราะเขาเหล่านั้นก็เป็นปุถุชนที่ต้องมีสุข ทุกข์ และปัญหาในบริบทที่ต่างกับเรา และหลายคนก็ไม่ใช่นักจิตวิทยา เพียงแค่นำประสบการณ์หรือสิ่งที่คิดมาบอกกล่าวได้อย่างน่าคล้อยตาม สุดท้ายการใช้โสตประสาทเพื่อเสพข้อมูลอย่างมีสติคือคำตอบที่ดีที่สุด


5. “เราคือผู้สแกนเหตุที่ต้องหาผลมารองรับ” เมื่อข้อมูลไหลบ่าท่วมหน้าจอ การแยกว่าอันไหนจริงหรือลวงยิ่งจำเป็น ดังนั้นการให้น้ำหนักเหตุและผลก็สำคัญ ลองหมั่นตั้งคำถามเพื่อหาเหตุ เช่น เมื่อกำลังเคลิบเคลิ้มกับครีมที่นักแสดงคนนั้นบอกใช้แล้วผิวดีขึ้น ลองค้นหาเหตุและผลโดยเทียบชีวิตจริง เขาผิวพรรณดีเพราะดูแลตัวเองมาตลอด หรือเป็นผลจากการเพิ่งใช้สินค้าตัวนั้นกันแน่

6. “สุดท้ายตัวเราคือคำตอบ” ต้องบอกว่าเราไม่ผิดที่จะเชื่อ Influencer หรือ Youtuber เพราะทุกข้อมูลมีทั้งที่ดีและที่ขาดความน่าเชื่อถือ เพียงแต่ใจเราต้องพร้อมไตร่ตรองดูว่า จะเชื่อตามที่เขาแนะนำหรือไม่ หรือแม้เลือกเชื่อไปแล้ว แต่เจอของจริงไม่ตรงกับปก ก็ไม่จำเป็นต้องโทษใคร แต่ให้ถือเป็นบทเรียนในการเสพข้อมูลครั้งหน้า จะได้ดึงสติคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น


แน่นอนไม่มีใครเป็น “ผู้รู้ทุกเรื่อง” บนโลกนี้ แต่ก่อนจะเชื่อใคร ควรดูสภาพแวดล้อมหรือวิถีการใช้ชีวิตของเขา และการชีวิตของเราประกอบด้วย สุดท้ายตัวเรานี่แหละจะให้คำตอบที่ดีที่สุด

SOURCE :www.scb.co.th