เศรษฐกิจไทยนับตั้งต้นปลายปี 2562 จนถึงถึงไตรมาส 2 ปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจหลักของการสร้างรายได้เข้าประเทศ แม้ว่าสถานการณ์ โควิด 19 ในไทยจะคลี่คลานลงไปมาก แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงสูง

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองเศรษฐกิจฟื้นตัวลักษณะ U-Shaped

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้แตะระดับต่ำสุดเมื่อไตรมาส 2 ของปีนี้จากมิติการหดตัวเมื่อเทียบกับ  ไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากทั้งสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 มาที่ -10% จากเดิมที่ -6%

ทั้งนี้จะเห็น การฟื้นตัวในรูปแบบยูเชฟ (U-Shaped) ซึ่งการจะประคองเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ได้เร็วแค่ไหน  ได้กลายเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมในขนาดที่เพียงพอและทันเหตุการณ์ในสภาวะการณ์ที่ไม่นิ่ง กับต้นทุนจากการออกมาตรการนั้น เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสฯ เมื่อทยอยเปิดประเทศ เป็นต้น

ภาคการเงิน คาดว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2563 จะขยายตัว 6.5-8.0% เทียบกับที่ขยายตัว 2.3% ในปี 2562 ซึ่งการเติบโตสูงกว่าปกติ สะท้อนผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและภาคธุรกิจที่ขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง มากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจแท้จริง

โดยยังต้องติดตามประเด็นคุณภาพหนี้ที่ระดับเอ็นพีแอลคงจะขยับขึ้นเข้าหา 3.5% ณ สิ้นปี 2563 เทียบกับ 3.23% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ขณะที่ แม้ภาครัฐจะต้องระดมทุนอีกจำนวนมากในตลาดการเงิน แต่เชื่อว่าเครื่องมือของ ธปท.ที่มีอยู่จะช่วยบริหารจัดการไม่ให้กระทบอัตราดอกเบี้ยในระบบได้ และปัจจุบัน เงินฝากธนาคารพาณิชย์ก็เติบโตสูงราว 9-10% จากปีก่อน

แม้จะมีบางพื้นที่ที่อาจทยอยปรับตัวดีขึ้นบ้างตามนโยบายทยอยเปิดประเทศและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่ก็ยังไม่เข้าใกล้ภาวะปกติ โดยธุรกิจที่มีสัดส่วนกิจการที่มีความเปราะบาง 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งคงเป็นกลุ่มที่ทางการอาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง

 

ไทยต้องบริหารความเสี่ยงอุปสงค์และอุปทานจากต่างประเทศให้ดีขึ้น

       ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงสูง ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากจากการที่พึ่งพาทั้งอุปสงค์และอุปทานจากต่างประเทศ ดังนั้น ไทยต้องลดความเสี่ยงหรือบริหารความเสี่ยงให้ดีขึ้น อุปทานสินค้าอาจเริ่มกลับมา แต่อุปสงค์ยังไม่เหมือนเดิม การค้าอาจกลับมาดีขึ้น แต่ยังไม่น่าจะเท่าก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด จากปัจจัยทั้งเรื่องการท่องเที่ยวที่อาจใช้เวลาสักพักกว่าจะฟื้นตัว รวมทั้งการค้าสินค้าและบริการอื่นๆ ไทยจึงควรมุ่งเน้นภาคการผลิต (sector) ที่เป็นดาวรุ่ง เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ (creative) ก็จะช่วยให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

มองวิฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เพื่อปรับการใช้ทรัพยากรให้ถูกที่ถูกทาง แนวโน้มการค้าโลกจะมาจากคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แต่ก็ยังต้องการของดีราคาไม่แพง การเป็นสังคมสูงวัยของทั้งไทยและโลกจะปรับเปลี่ยนแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการในตลาด นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม โรคระบาด และเทคโนโลยี จะเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

โดยห่วงโซ่คุณค่า (value chain) โลกจะสั้นลง มีความหลากหลาย และเลือกพื้นที่การผลิตภายในภูมิภาคตนเอง (regionalization) มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของโลก นอกจากนีภาคบริการจะมีบทบาทและเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ภาคธุรกิจต้องนำการบริการเชื่อมต่อกับภาคการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเข้าถึงตลาดในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น สิ่งสำคัญคือจะเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าได้อย่างไร และกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ทั้งไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

 

พัฒนาสินค้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่มทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

       ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า การค้าไทยจะเผชิญกับความไม่แน่นอน เพราะการส่งออกสินค้าและตลาดของไทยไม่หลากหลาย และผู้ผลิตสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกก็กลุ่มเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ

ดังนั้นต้องทำให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น ด้วยสินค้าที่หลากหลายและมีมูลค่าเพิ่มทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งไทยสามารถเชื่อมโยงการค้ากับประเทศในภูมิภาคได้อย่างส่งเสริมกัน ไม่ใช่แข่งขัน แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการค้าโลก เช่น การกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป หันมาสนใจในภูมิภาคตนเองมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือแพลตฟอร์มการค้าในรูปแบบต่าง ๆ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยมีความสามารถในการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า

       และที่สำคัญ คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่ส่งผลต่อการค้าอย่างมาก ไทยควรปรับโครงสร้างการผลิตและการค้าให้กระจายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น พัฒนาทักษะให้แรงงานในภาคบริการที่ไม่สามารถกลับสู่อาชีพเดิมให้มีความสามารถหลากหลายในการหาเลี้ยงชีพ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่ยังต้องการแรงงานภาคบริการที่มีทักษะจากไทย นอกจากนี้ เราต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเราอยู่ในโลกดิจิทัล จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงระบบได้รวดเร็วและทั่วถึง

สำหรับหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจในระดับสูง เป็นอีกปัจจัยที่ดึงไม่ให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เพราะธนาคารพาณิชย์จะไม่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่มีระดับหนี้สูง ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ธุรกิจในทุกระดับสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงอาจมีบางธุรกิจที่อยู่รอดและบางธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนไปเติบโต  ในสาขาใหม่ๆ รวมทั้งการกลับสู่ท้องถิ่นเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตและการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสม

       ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือไทยต้องเลือกว่าจะอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าใดของภูมิภาค จะสนับสนุนส่งเสริมการผลิตการค้ากับประเทศในภูมิภาคอย่างไรให้สอดคล้องกับศักยภาพที่แตกต่างกัน เราจะผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high value added) ได้อย่างไร เราอาจเป็นปลายทางของกระบวนการผลิตของโลก แต่อาจเป็นต้นทางของการผลิตในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการค้าไม่ใช่เป็นเพียงการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ แต่เป็นการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและการค้าของประเทศแบบมีเงื่อนไขที่เกิดประโยชน์แก่คนในชาติด้วย

 

สศค. ชี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2563 แม้ว่าจะยังคงชะลอตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการผ่อนคลายให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 31.4

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากเดือนก่อนหน้า

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่า     การส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 20.8 จากเดือนก่อนหน้า จากกลุ่มสินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง, สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน

 

      เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น  โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 17.8 ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน 9 ประเทศ หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -17.5 -16.0 และ -19.9 ต่อปีตามลำดับ สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากประเทศคู่ค้าได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่    ร้อยละ -1.0 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 45.8 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 274.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ