“แบงก์ชาติ” ออกมาตรการอุ้มลูกหนี้บุคคลเพิ่ม ไฟเขียวนำหนี้สินเชื่อรายย่อย ทั้ง “บัตรเครดิต-พีโลน-เช่าซื้อ” มัดรวมสินเชื่อบ้าน หวังใช้หลักประกันจากบ้านให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากระดับ 16-25% เหลือ ไม่เกิน 5.5-8.8% เปิดลงทะเบียนถึงธ.ค.ปีหน้า

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมด้วยการ “รวมหนี้” (Debt Consolidation) โดยอนุญาตให้สามารถนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้สถาบันการเงินเดียวกัน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเดียวกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกันดังกล่าว 

วิธีการดังกล่าวจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อรายย่อย ซึ่งปกติจะอยู่ในเรทประมาณ 16-25% ให้เหลือในอัตราไม่เกินดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี(Minimum Retail Rate: MRR)  ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5.75-8.8% ขณะเดียวกัน ธปท. ยังอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกหนี้ด้วย

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาคธุรกิจบางส่วนยังไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนทั่วไป ดังนั้น เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติม ธปท. ได้เห็นร่วมกันกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น ข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมมาตรการ ข้อมูลเปรียบเทียบภาระหนี้เดิมกับภาระหนี้ใหม่ และทางเลือกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รูปแบบอื่นที่ลูกหนี้สามารถทำได้

มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระการชำระหนี้โดยที่ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดโดยไม่จำเป็น และยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีลักษณะหมุนเวียนที่ยังเหลือได้ รวมทั้งไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee) 

ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการและแสดงข้อมูลว่าได้รับผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2563 ถึง 31 ธ.ค.2564

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า มาตรการนี้มุ่งหวังลดภาระผู้กู้ ซึ่งเป็นเรื่องดี เพื่อลดการตึงตัวของสภาพคล่องของผู้กู้และของแบงก์ลงได้ ส่วนแบงก์เองที่ผ่านมาได้ดูแลลูกค้าภายใต้หลักการนี้อยู่แล้ว โดยการรวมหนี้ทั้งก้อน และมาดูว่าแบงก์สามารถลดภาระให้ลูกหนี้ได้อย่างไรบ้าง

ส่วนด้านดอกเบี้ยที่ลดลง เชื่อว่าอาจไม่กระทบแบงก์มากเนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินโดยรวมไม่มากนัก อีกทั้งในภาวะนี้เชื่อว่า สิ่งสำคัญมากกว่าดอกเบี้ย คือต้องช่วยลูกหนี้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของผู้กู้ให้ลดลง เพื่อลดผลกระทบแบงก์ในระยะข้างหน้าด้วย

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ถือเป็นมาตรการที่ดีช่วยลูกหนี้ลดภาระดอกเบี้ยลดลง และลดปัญหาการขาดสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 ได้ดังนั้นลูกหนี้จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากอย่างไรก็ตาม ทางเลือกที่แบงก์สามารถทำได้ สำหรับการรวมหนี้ กรณีสินเชื่อบัตรเครดิต สามารถทำได้ทั้งการปิดวงเงินบัตรเครดิตและไม่ปิดบัตร เพื่อลดความเสี่ยงได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งปกติโครงการลักษณะนี้แบงก์มีการทำอยู่แล้ว

นางอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า โครงการลักษณะนี้ คล้ายกับที่แบงก์ทำอยู่แล้ว เช่น บ้านแลกเงิน หรือรีไฟแนนซ์ หนี้เป็นก้อนเดียวกัน เพื่อลดภาระให้ผู้กู้ โดยมาจ่ายหนี้ก้อนเดียวแทน ช่วยลดภาระดอกเบี้ยลูกหนี้จากเดิมที่เคยจ่ายสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิตเฉลี่ยราว 18% มาเหลือเพียง 5-6% ตามดอกเบี้ยบ้าน

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง แบงก์อาจต้องปิดวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคลต่างๆ เพื่อลดโอกาสการก่อหนี้เพิ่ม ไม่ฉะนั้นหากไม่ปิดบัตรดังกล่าว ก็อาจย้อนกลับมาเป็นปัญหาระยะข้างหน้าเช่นเดียวกัน

SOURCE : www.bangkokbiznews.com/news/detail/895495?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=finance