ผลสำรวจโดย FICO บริษัทซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก ระบุว่า ธนาคารไทย 82% กำลังประสบกับความยากลำบากอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงระบบการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (AML) แบบ Rules-based ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ ธนาคารไทย 91% เชื่อว่า AI จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารหลายแห่งยังคงไม่แน่ใจเกี่ยวกับวิธีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยี Rules-based แบบเก่าที่ใช้กันมานาน ธนาคารไทย 95% ระบุว่ายังคงเชื่อมั่นในความสามารถของระบบ AML เหล่านี้ แม้ธนาคาร 82% ระบุว่าประสบกับความยากลำบากอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าว

"ระบบ Rules-based ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ธนาคารในเอเชียแปซิฟิกใช้เพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมทางการเงิน" ทิโมธี ชุน (Timothy Choon) ผู้อำนวยการฝ่ายอาชญากรรมทางการเงินประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ FICO กล่าว "อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเริ่มมีธนาคารบางแห่งเปิดรับเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI แล้ว และตระหนักได้ว่าระบบแบบ Rules-based ที่ใช้มานานนับทศวรรษนั้น ไม่สามารถตามทันกลโกงรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนได้

"สูตรลับความสำเร็จก็คือการใช้เทคโนโลยี AI โดยให้เทคโนโลยีขั้นสูงนี้ทำงานควบคู่กับระบบแบบ Rules-based แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจ 20% เลือกข้อนี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการบรรเทาความเสี่ยงจากอาชญากรรมทางการเงิน"

ผลสำรวจระดับภูมิภาคแสดงให้เห็นว่า ความท้าทายที่สำคัญสำหรับการใช้โซลูชั่น AML แบบเดิม ได้แก่ ความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงประเภทใหม่ ๆ ในช่องทางและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ, ความสามารถในการจัดหาโซลูชั่นการปฏิบัติตามกฎแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบ และความสะดวกรวดเร็วในเปลี่ยนแปลงตามกฎระเบียบใหม่ ๆ

ผลสำรวจยังเผยด้วยว่า ธนาคารข้ามชาติขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีแนวโน้มมากกว่าที่จะใช้โซลูชั่น AML ของบริษัทชั้นนำของโลกเวนเดอร์ ขณะที่ธนาคารในประเทศเลือกที่จะใช้ระบบภายใน (in-house) กันมากกว่า

  • กลยุทธ์จัดการอาชญากรรมการเงิน

หนึ่งในดัชนีชี้นำที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลยุทธ์การจัดการอาชญากรรมทางการเงิน คือ ประสบการณ์ของลูกค้า ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 ใน 5 จัดอันดับให้เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ โดย 17% ของธนาคารในเอเชียแปซิฟิก ยกให้เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่อยู่เบื้องหลังแนวทางการดำเนินกลยุทธ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

"เรามองเห็นว่า การปฏิบัติตามกฎระเบียบและการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ยังคงเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ต้องทำควบคู่กันไป" ชุน กล่าว "ธนาคารจำเป็นต้องมีข้อมูลมากขึ้นเพื่อจัดการกับการเตือนภัยจำนวนมากที่มาจากระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่รบกวนลูกค้าด้วยการถามคำถามเพื่อสอบทานธุรกิจอย่างไม่หยุดหย่อน"

ปัจจัยพิจารณาเพิ่มเติมที่อยู่ในอันดับ 2 และ 3 จากการจัดอันดับของธนาคาร ได้แก่ ความเสียหายต่อชื่อเสียง และความสูญเสียทางการเงินโดยตรง โดยเมื่อกล่าวถึงความท้าทายด้านอาชญากรรมทางการเงินนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งระบุถึงความรวดเร็วในการจัดการกับภัยคุกคามใหม่ ๆ ขณะที่ 1 ใน 3 เชื่อว่า การตรวจจับภัยคุกคามได้อย่างถูกต้องแม่นยำยังคงเป็นบททดสอบที่สำคัญ

โซลูชั่นการปฏิบัติตามกฎแบบครบวงจรของ FICO (FICO's comprehensive compliance solution) เกิดจากการรวมเทคนิคขั้นสูงด้านการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยการปรับปรุงความแม่นยำในการตรวจสอบให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงที่จดสิทธิบัตรแล้ว อาทิ Soft Clustering Misalignment และ Threat Score ซึ่งช่วยให้สถาบันการเงินต่าง ๆ สามารถใช้ AI ภายในแผนกลยุทธ์การปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีอยู่แล้วได้

  • เดินหน้าลงทุนเทคโนโลยีให้เป็นไปตามกฎหมาย

ธนาคารส่วนใหญ่ (93%) ทั่วเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายงบประมาณด้านเทคโนโลยีไปกับการอัพเกรดหรือไม่ก็ปรับปรุงระบบการปฏิบัติตามกฎที่ใช้อยู่เดิม

อย่างไรก็ดี ในสิงคโปร์ และ ฮ่องกง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาค พบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 2 ใน 3 ที่ระบุว่า ธนาคารของพวกเขาอาจจะเริ่มการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยีการปฏิบัติตามกฎ เมื่อพิจารณาจากการใช้จ่ายในด้านนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สำหรับในประเทศไทย 100% ของธนาคารระบุว่า จะลงทุนในเทคโนโลยีการปฏิบัติตามกฎต่อไปในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า และ 41% มีแผนจะเพิ่มการลงทุนด้านนี้อย่างมีนัยสำคัญในปี 2564

ทั้งนี้ คาดว่าระดับการลงทุนโดยรวมในด้านเทคโนโลยีปฏิบัติตามกฎของธนาคารในเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นในปี 2564 โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 49% ระบุว่าจะเพิ่มงบประมาณ ขณะที่อีก 34% คาดว่าจะเพิ่มงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ

และที่น่าสนใจคือ ธนาคารต่างชาติมีแนวโน้มมากกว่าที่จะเริ่มการลงทุนใหม่ เมื่อเทียบกับธนาคารในประเทศ โดยอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่คาดว่าจะมีการลงทุนมากที่สุดในปี 2564

"ผลสำรวจฉบับนี้ซึ่งจัดทำในเดือน พ.ค. แสดงให้เห็นว่า แม้เศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากโรคระบาด แต่ธนาคารก็ยังคงมีความตั้งใจที่จะลงทุนแบบเล็งเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วย AML" ชุนกล่าว "มีความตั้งใจมากขึ้นที่จะรับรู้ว่า การปฏิบัติตามกฎและการฉ้อโกงเป็นความเสี่ยงด้านอาชญากรรมทางการเงินที่พบได้ทั่วไป เพราะมีแนวโน้มมากขึ้นที่คนโกงจะทำการฟอกเงิน

"การมาบรรจบกันนี้ถือเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะธนาคารในสหรัฐอเมริกาและในสหราชอาณาจักรก็อยู่ระหว่างการผนวกรวมส่วนงานด้านการปฏิบัติตามกฎกับส่วนงานด้านการป้องกันการฉ้อโกงเข้าด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรวมทีมงาน ผู้บริหาร และเทคโนโลยี เราจึงเชื่อว่า ธนาคารในเอเชียแปซิฟิกกำลังจะมองมาที่ตลาดเหล่านี้เพื่อดูว่าความพยายามดังกล่าวจะได้ผลหรือไม่ พร้อมทั้งมีแผนที่จะทำตามอย่างรวดเร็วในอีก 24-36 เดือนข้างหน้า"

Integrated AML Compliance Survey ของ FICO จัดทำขึ้นในเดือน พ.ค. 2563 โดยใช้แบบสอบถามเชิงปริมาณทางออนไลน์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารอาวุโส 256 คนจากธนาคารใน 11 ประเทศ ซึ่งบริษัทวิจัยอิสระแห่งหนึ่งดำเนินการสำรวจในนามของ FICO ครอบคลุมออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม

SOURCE : www.bangkokbiznews.com